บทความ
“ล่าแม่มด” วงจรของการบูลลี่ ที่ไม่มีคนชนะ

หลังจาก Melt Mallow メルマロ ปล่อยซิงเกิลใหม่ “Which Witch (แม่มด)” ทาง Youtube เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ที่ร้อยเรียงเนื้อหาและสะท้อนสังคมเกี่ยวกับการ “ล่าแม่มด” ในมุมมองที่หลายคนอาจจะลืมนึกถึงไปจนกลายเป็นผู้ร่วมภารกิจล่าแม่มดไปโดยไม่รู้ตัว
เรื่องโดย : ปณิดดา เกษมจันทโชติ
เท้าความกลับไปถึงที่มาของคำว่า “ล่าแม่มด” เว็บไซต์ JW.ORG ได้อธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า “หลายร้อยปีที่ผ่านมา มียุคหนึ่งที่ชาวยุโรป มีความกลัวเรื่องเวทมนตร์จนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการไล่ล่าและสังหารแม่มดทั่วทั้งยุโรป นับตั้งแต่ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ทางเหนือของอิตาลี ฯลฯ”
โดยเนื้อหาในหนังสือล่าแม่มดในโลกตะวันตก (ภาษาอังกฤษ) เล่มหนึ่ง กล่าวว่า คนนับพันนับหมื่นในยุโรปและอาณานิคมของชาวยุโรปต้องตาย และคนอีกนับล้านๆ อยู่ด้วยความหวาดกลัว ถูกรังเกียจ ถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกจับกุม ถูกสอบสวน หรือถูกทรมาน เพื่อให้รับสารภาพว่าเป็นแม่มด หรือพยายามทำให้สารภาพ เพื่อทำลายคนเหล่านี้ จากความเชื่อที่ว่า “แม่มด” จะทำร้ายพวกเขา
กลายเป็นเหตุการณ์ที่ดูใกล้เคียงกันในสังคมโซเชียลปัจจุบัน จึงถูกนิยามว่า “การล่าแม่มด” ที่รู้จักในปัจจุบัน
แม้การล่าแม่มดจะไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งในไทย แต่พฤติกรรมล่าแม่มดมาลงโทษในโซเชียลมีเดีย กลายเป็นพฤติกรรมที่ขยายวงกว้างออกไปจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ ทุกครั้งที่มี “จำเลยสังคม” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดขึ้น
เนื้อหาของเพลง “Which Witch (แม่มด)” สะท้อนถึงความรู้สึกของคนที่เกี่ยวข้องรอบด้าน เพื่อให้เห็นในมุมมองที่คุณอาจไม่เคยนึกถึง ทั้ง “แม่มด” ผู้ถูกล่า “นักล่าแม่มด” ผู้ต้องการแสดงตัวตนว่าดำรงอยู่บนความถูกต้อง และ “คนนอก ที่มองเข้ามาในเหตุการณ์ล่าแม่มด” ผู้รู้สึกว่า ท้ายที่สุดแล้วคนที่ล่าแม่มด มีพฤติกรรมที่ไม่ได้ต่างไปจากแม่มด(ในกรณีที่ทำความผิดจริง)เลย
เนื้อเพลงท่อนฮุก ตอนหนึ่ง ความว่า
This is how I feel justice (นี่แหละที่ฉันรู้สึกถึงความยุติธรรม)
Hang and burn them to the ground (แขวนคอ และเผาพวกมันให้สิ้นซาก)
try to admit,You deserved it (พยายามยอมรับหน่อยนะ เธอควรจะได้รับมันแล้ว)
ท่อนนี้ สะท้อนถึงความคิดของบรรดานักล่าแม่มดที่มองว่าสาดคำสาบแช่ง ความเกลียดชัง เพื่อให้บุคคลที่พวกเขามองว่าเป็น “แม่มด” เป็นสิ่งที่สมควรทำ เพื่อให้รู้สึกสำนึก ให้รู้สึกเจ็บปวด สาสม
ขณะที่ท่อน
It’s true, I’ve made a mistake (ก็จริงอยู่ที่ทำพลาดไป)
It’s true, I did it wrong way (จริงอยู่ที่ฉันทำมันผิดไป)
But do.. Do I deserve? (แต่ฉันสมควรจะได้รับมันแล้วหรือ)
Who do you think you are? (คุณคิดว่าตัวเองเป็นใคร(ที่มาตัดสินแบบนี้))
สื่อถึงความรู้สึกของผู้ที่ต้องตกเป็น “แม่มด” ที่รู้สึกตัวว่าทำบางสิ่งบางอย่างพลาดไป แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่เข้าใจว่าคนเหล่านี้เป็นใคร และมีสิทธิอะไรที่มาซ้ำเติม ด่าทอ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องนี้เลย
อีกหนึ่งท่อนที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนคือเนื้อเพลงที่ว่า
Is this a madness excuse
for this pure abuse? (นี่คือข้อแก้ตัวที่บ้าคลั่งสำหรับการกลั่นแกล้งที่บริสุทธิ์นี้หรือเปล่า)
may the truth is on our side (ขอให้ความจริงอยู่ข้างเรา)
What makes us different? (อะไรทำให้เราแตกต่างออกไป(จากคนที่ด่าแม่มด)ล่ะ)
Does it make him different? (แล้วมันทำให้เขาแตกต่าง(จากแม่มด)เหรอ)
แสดงถึงมุมมองของคนภายนอก ที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุของการบูลลี่ ที่บางส่วนอาจรู้สึกคล้อยตาม แต่สำหรับบางคนอาจมองเห็นว่า ผู้ที่ออกมารุมสกรัมด้วยตัวอักษรเหล่านี้ ไม่ต่างอะไรจากผู้ที่กระทำความผิด และไม่สุมเชื้อเพลิงในกองไฟ
สิ่งที่เพลงกำลังสื่อสารกับเรา ทำให้เห็นว่า วงจรของการล่าแม่มดที่น่ากลัว คือการล่าไปถึงเพื่อน ครอบครัว คนรัก หน้าที่การงาน หรือเรื่องราวรอบตัวที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
จากการตามหาคนผิดเพื่อลงโทษ กลายเป็นเพียงการ บูลลี่ สนุกปากระบายอารมณ์ของตัวเองโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อใครเลย โดยเฉพาะต่อตัวของผู้ล่าเอง
การล่าแม่มดที่กล่าวถึงไปในข้างต้น ไม่เคยจบอยู่แค่ความรู้สึกสะใจของผู้ที่ออกมาล่าแม่มด แต่มันคือปัญหาระดับสังคม ที่จะวนอยู่ไม่รู้จบ
“การล่าแม่มด” อาจฟังดูไกลตัวเมื่ออยู่ในบทความ แต่เชื่อว่าหลายคนเคยตกอยู่ในสถานการณ์นั้น ไม่ว่าจะในฐานะนักล่าแม่มด แม่มด หรือเป็นบุคคลที่ 3 ผู้ยืนมองการล่าแม่มด
แน่นอนว่าเหตุการณ์เหล่านี้มันจะอยู่กับสังคมไทยต่อไปอีกนานเท่านาน ตราบใดที่คนในสังคมยังมองว่าเรื่องการล่าแม่มดคือเรื่องธรรมดา ยิ่งไปกว่านั้นคือมองว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ
ตราบใดที่เรายังไม่สามารถหยุดใช้คำพูดเข่นฆ่ากัน เพียงเพราะ “เห็นต่าง” “พลาดพลั้ง” หรือแม้แต่คนคนนั้น “กระทำผิด” จริงก็ตาม
เพราะหากมองลงลึกถึงความเป็นจริง เห็นต่าง ไม่ใช่ความผิด พลาดพลั้ง ย่อมเกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน และการกระทำผิดจริง ควรได้รับการลงโทษตามกฎหมาย เพราะท้ายที่สุดแล้วหากมองเบสิกง่ายๆ ‘ใจเขาใจเรา’ วันหนึ่งหากเราต้องเผชิญ กับเสียงด่าทอ สาบแท่ง ตัดสิน จากน้ำมือของคนที่คุณไม่รู้จักมากมาย ที่อาจทำให้ชีวิตคุณพัง จะรู้สึกยังไง โดยเฉพาะ “ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนกระทำผิดจริง”