บทความ
ทำไฟล์ PNG ปลอม ลง google ไปทำไม ?

“PNG ปลอม = ประหาร” มุกที่ถูกแชร์ในโซเชียลมีเดีย จากใจบรรดาคนทำงานดีไซน์ หรือคนทั่วไปที่พยายามค้นหาภาพ PNG (Portable Network Graphics) ภาพที่ไม่มีพื้นหลัง หรือพื้นหลังโปร่งใส เพื่อนำมาใช้งานง่ายๆ แบบไม่ต้องนั่งไดคัทเอง
แต่ทางลัด จากการใช้คำค้น “ภาพ……. PNG” ที่หวังใจว่าจะได้ภาพไร้พื้นหลังมาใช้งานได้แบบทันใจ กลายเป็นชนวนจุดความหัวร้อน เมื่อภาพเหล่านั้นเป็น “PNG ปลอม”! นั่นคือภาพที่มีหน้าตาคล้ายกับภาพ PNG ที่จะมีพื้นหลังเป็นลายตารางหมากรุก แต่เมื่อนำมาใช้ หรือวางลงในโปรแกรมก็พบว่า ภาพนั้นมีพื้นหลังลายตารางหมากรุกจริงๆ ไม่ได้เป็นพื้นหลังใสอย่างที่เห็น
ไหนๆ ก็ได้หัวร้อนเพราะเรื่องนี้แล้ว ลองไปทำความรู้จักภาพไฟล์ “PNG” เพิ่มเติมสักหน่อย
PNG คืออะไร
“PNG” ย่อมาจาก “Portable Network Graphics” เป็นรูปแบบไฟล์ภาพที่ถูกคิดค้นเพื่อมาแทนที่ GIF ที่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์
ในภาพ PNG มีฟังก์ชั่นการจัดเก็บข้อมูลอย่าง วันที่ เวลา สถานที่สร้างภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่ง ผู้ถือลิขสิทธิ์และอื่น ๆ มันจะมีประโยชน์ที่จะจำเมื่อคุณกำลังจะเผยแพร่ภาพที่ยืมมาบนอินเทอร์เน็ต ถึง Google ไม่สามารถระบุข้อมูลซ้ำได้ โดย PNG มีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ
- ภาพที่ต้องการความคมชัดสูง
- รูปแบบล่าสุดในการนำเสนอภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- สามารถแสดงผลได้ในระบบสีเต็มพิกัด (True Color)
- มีขนาดไฟล์เล็ก และควบคุมคุณภาพได้ตามที่ต้องการ
- มีการกำหนดให้พื้นภาพเป็นพื้นโปร่งใสได้ (Transparent)
- แสดงผลแบบหยาบสู่ละเอียด (Interlaced)
- ส่วนขยายของไฟล์รูปแบบนี้คือ .png
แล้วทำไม PNG ถึงต้องมีพื้นหลังเป็นลายตารางหมากรุก?
ภาพที่มีพื้นหลังเป็นตารางหมารุกขาวสลับเทา คือตัวบ่งบอกว่านี่คือไฟล์ที่โปร่งแสง พื้นหลังใส ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของไฟล์สกุล PNG ที่สามารถกำหนดให้พื้นภาพเป็นพื้นโปร่งใสได้ (Transparent) ซึ่งทำให้สามารถนำไปใช้งานต่อง่าย
แต่ปัจจุบันเห็นพื้นหลังแบบนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นอย่างที่คิด เพราะมีคนทำไฟล์ PNG ปลอมๆ ออกมาให้คลิกเข้าไปดาวน์โหลดเต็มไปหมด
เชื่อว่าคนที่เคยสืบค้นด้วยวิธีการเดียวกันก็คงเคยตกอยู่ในสถานการณ์สุดเจ็บใจนี้มาเหมือนกัน จนอดอยากรู้ไม่ได้ว่า คนที่ทำภาพ PNG ปลอม เหล่านี้มาลงในโลกออนไลน์ให้คนอื่นๆ หัวร้อนกันทำไม สนุก? หรือมีผลประโยชน์อะไรติดสอยห้อยตามมาหรือเปล่า?
ข้อสงสัยนี้ไม่ได้มีคำตอบที่แน่ชัด แต่หากมองข้ามความผิดพลาดของการเซฟภาพและอัพโหลดลงในโลกออนไลน์ ก็มีอีก 2 เหตุผลสำคัญคือนึกสนุก กับมีผลประโยชน์เรื่องยอดเข้าชมเว็บไซต์หรือบล็อกเข้ามาเกี่ยวข้องเล็กๆ น้อยๆ
อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเจอภาพแบบไหน การนำภาพในอินเทอร์เน็ตมาใช้งานไม่ว่าจะเป็นส่วนตัวหรือเพื่อการค้า ก็ต้องให้ความสำคัญกับ “ลิขสิทธิ์” ของภาพนั้นๆ ด้วย
ดังนั้นก่อนนำมาใช้อย่าลืมเช็กให้แน่ใจว่า ภาพที่ได้มามีลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีทั้ง เฉพาะเว็บไซต์ที่มีการซื้อขายภาพประเภทต่าง ๆ จากศิลปินทั่วทุกมุมโลกอย่าง Shutterstock Getty Image ที่ต้องจ่ายเงินซื้อภาพที่ถูกใจเพื่อนำมาใช้ตามเงื่อนไขที่กำหนด รวมไปถึงเว็บไซต์ที่แจกภาพให้ใช้ฟรีอย่าง Freepik Pixabay Flaticon (มีทั้งฟรีและไม่ฟรี) ด้วย
ซึ่งการเลือกใช้ผลงานของผู้อื่นอย่างระมัดระวัง และทำอย่างถูกต้องด้านลิขสิทธิ์ นอกจากจะช่วยลดโอกาสการเป็น “ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์” แบบไม่รู้ตัวแล้ว ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนผลงานให้สร้างผลงานที่มีคุณภาพออกมาใช้กันต่อไปเรื่อยๆ แบบได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายอีกด้วย
เรื่องโดย : ปณิดดา เกษมจันทโชติ
อ้างอิง [1] [2]