Podcast
เด็กจบใหม่ ไปสมัครงานต้องทำตัวอย่างไร ? Podcast: ต๋าถามป๋าตอบ EP.02
การจะได้งานทำหรือการทำให้คนสนใจที่จะจ้างเราต้องทำอย่างไร คำตอบง่ายๆ คือ ทำตัวเราให้น่าสนใจที่สุด ดังนั้นด่านแรกของเรื่องนี้ในการทำให้เราเป็นที่สนใจก็คือ ประวัติของเราที่เป็นตัวตนของเรามากที่สุด ด้วยการเขียนประวัติย่อของเราเองหรือที่เราเรียกมันว่า Resume หลายๆ ครั้งที่เคยถามคนที่สมัครงานว่า Resume มันคืออะไร แล้วแปลว่าอะไร มีไม่น้อยที่ตอบไม่ได้เพราะเรียกตามๆ กันมา ทำให้เป็นข้อสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า ในหลายๆ อย่างของสิ่งที่นิยมทำตามๆ กันมาของบ้านเรามักจะไม่สนใจที่ไปที่มาของมันเพราะว่าคนส่วนใหญ่เขาทำกัน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่มีข้อสงสัย นั่นแสดงว่า เราไม่พยายามรู้หรือเข้าใจในสิ่งที่เราทำ หากมองในแง่นี้แล้วก็ทำให้น่าคิดว่า ควรจะรับคนๆ นั้นเข้าทำงานดีไหม
ว่ากันว่า Resume นี้ คนที่เขียนคนแรกของโลกก็คือ ศิลปินผู้โด่งดังของโลก ลีโอนาโด ดา วินชี เขาเขียนประวัติส่วนตัวของตัวเองส่งไปให้ ลุโดวิโค สฟอร์ซา เพื่อเสนอตัวเองทำงานให้หรือสมัครงานนั่นเอง สมัยนั้นศิลปินต่างๆ จะต้องมีคนอุปถัมป์เพื่อสร้างผลงาน เศรษฐีหรือผู้ครองเมืองต่างๆ จะต้องมีศิลปินอยู่ในความดูแลและสร้างผลงานให้กับผู้ว่าจ้างเพื่อไว้แข่งกันมีศิลปะไว้ในครอบครอง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Resume จึงกลายเป็นที่นิยมในการสมัครงาน ถ้านับความยาวนานก็ได้ประมาณ 500 กว่าปีแล้ว เนื่องจาก Resume ได้รับความนิยมจึงถูกปรับปรุงรูปแบบมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน Resume มีการเขียนอยู่ 3 แบบ คือ
แบบที่ 1 แบบเน้นประสบการณ์การทำงาน เหมาะสำหรับคนที่มีประสบการณ์การทำงานมามาก และจะเรียงลำดับการทำงานอย่างชัดเจน สิ่งที่นิยมคือ การเขียนจากปัจจุบันไปหาอดีต มักจะดีสำหรับคนที่จะขยับตำแหน่งงานใหม่ที่สูงกว่า
แบบที่ 2 แบบเน้นทักษะและความสามารถ เหมาะสำหรับคนที่มีความสามารถสูงหรือเฉพาะด้านเพราะจะบรรยายเรื่องความสามารถเป็นหลัก และให้ประวัติการทำงานเป็นเรื่องรอง มักจะดีสำหรับคนที่ทำงานเฉพาะด้านและไม่เน้นประสบการณ์
แบบที่ 3 แบบลูกผสม เหมาะสำหรับคนที่ต้องการให้เห็นถึงความเพียบพร้อมทั้งประสบการณ์และความสามารถ
สำหรับบ้านเราแล้ว Resume เพิ่งกลายมาเป็นที่นิยมในการสมัครงานได้ไม่ถึง 30 ปีจากการที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเราประกอบกับเรามีนักเรียนนอกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
จะเห็นได้ว่ารูปแบบของการเขียน Resume ไม่เหมาะกับนักศึกษาจบงานใหม่เลยเพราะไม่มีทั้งประสบการณ์และความสามารถ ดังนั้นถ้าจะเขียน Resume มาตรฐานคงจะยากที่จะเป็นที่สนใจของบริษัทต่างๆ แต่ไม่ต้องถอดใจเพราะหากเรามองว่า มันคือการเล่าประวัติของนักศึกษาคนหนึ่งซึ่งมีความตั้งใจและความสามารถที่จะทำงาน ฝ่ายบุคคลก็ให้ความสนใจได้
ก่อนเขียน Resume ให้เราทำความเข้าใจกับตัวตนของเราให้ชัดเจนเสียก่อนเพราะไม่มีใครรู้จักรเราดีเท่าตัวเราเอง ลองเรียงลำดับชีวิตของเราดูตั้งแต่ประถม มัธยม และอุดมศึกษาดู ว่าเราเรียนที่ไหน ได้คะแนนเท่าไร ตอนเราเรียนเคยมีกิจกรรมอะไรที่เชิดหน้าชูตาเราบ้าง ความสามารถในด้านต่างๆ ที่เรามี รวมไปถึงประสบการณ์การทำงานหรือการฝึกงานของเรา เขียนออกมาให้หมด ไม่ว่าจะเขียนเป็นข้อๆ หรือเขียนเรียงความก็ตาม เพื่อทบทวนตัวเองและทำความเข้าใจตัวเอง
จากนั้นเราก็ค่อยๆ กรองด้วยตัวเราเองก่อน ให้นึกไว้ว่า เราอยากจะเล่าส่วนที่ดีและน่าสนใจที่สุดของเราให้คนอื่นอ่าน จากนั้นค่อยๆ เรียบเรียงลำดับสิ่งที่จะเล่า
- เราเป็นใคร ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานที่ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์
- ประวัติการศึกษา
- ประวัติการทำงานหรือฝึกงาน
- ความสามารถหรือความสนใจที่เรามี
- บางสาขางานจะต้องแนบผลงานที่เคยทำ เช่น งานออกแบบต่างๆ
เราเป็นเด็กจบใหม่สิ่งที่เราเล่ามักจะเอาทุกสิ่งอย่างที่เราคิดว่าดีไปนำเสนอ แต่หลายครั้งกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจเลยสำหรับผู้คัดเลือก ดังนั้นเราควรจะเอาสิ่งที่เราจะนำเสนอไปให้อาจารย์บ้าง คนที่เรารู้จักที่ทำงานแล้วบ้าง หรือหากมีคนที่ทำงานด้านบุคคลด้วยจะยิ่งดี จากนั้นก็เอามาปรับเปลี่ยนดู
การนำเสนอควรจะเรียงลำดับอย่างดีไม่ว่าจะเป็นอดีตมาหาปัจจุบันหรือปัจจุบันย้อนไปอดีตก็ตาม อย่ากระโดดไปกระโดดมา ประวัติการศึกษาเขาจะไม่ค่อยเน้นระดับประถมและมัธยมเท่าไร แต่ส่วนใหญ่เขาเน้นที่ระดับอุดมศึกษาเพราะเป็นอะไรที่ใกล้ปัจจุบันที่สุด
รูปแบบควรจะเรียบง่าย เป็นระเบียบ เป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจน ไม่ต้องใส่ลูกเล่นลงไปเพราะจะทำให้ดูเป็นเด็กเกินไป เช่น Emojo กราฟพลังความเก่งหรือการตูนน่ารักๆ
รูปถ่ายประกอบ ขอให้เป็นทางการไม่ใช่รูปถ่ายเล่นหรือรูปเซลฟี่ที่แสดงอริยาบทที่คิดว่าตัวเองสวยหรือหล่อที่สุด เพราะจะทำให้ผู้คัดเลือกพร้อมที่จะคัดออก
สำหรับในบางบริษัท หากเรามีโซเชียลที่ความคิดทางการเมืองรุนแรงหรือเลือกข้างอย่างชัดเจน หรือชอบระบายอารมณ์ทางโซเชียลซึ่งถึงแม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวก็ตามก็อาจถูกเอามาร่วมในการพิจารณา อันนี้ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจ
จากที่เคยเล่าไปแล้วว่า เราควรจะรู้จักตำแหน่งที่เราจะสมัครและบริษัทที่เราจะไปสมัคร ดังนั้น Resume ของเราควรจะตรงประเดนกับตำแหน่งงานนั้นด้วย เพราะเราไม่ได้สมัครงานคนเดียว
ถ้า Resume ของเราผ่านเป็นที่น่าสนใจของบริษัท เขาก็จะนัดเราเข้าไปสอบสัมภาษณ์ นี่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเราเองก็จะต้องเตรียมตัวให้ดีก่อนที่จะไปให้เขาสัมภาษณ์
การเตรียมตัวเพื่อไปสอบสัมภาษณ์
การแต่งตัว เราควรจะแต่งตัวให้สุภาพเข้าไว้เพราะ เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นทางการเอามากๆ ให้นึกไว้เสมอว่า เราต้องให้เกียรติตัวเอง ให้เกียรติสถานที่และให้เกียรติผู้สัมภาษณ์ สิ่งแรกที่เราจะทำได้ก็คือการแต่งตัวนี่แหละ หากเป็นผู้หญิงก็ควรใส่เครื่องประดับแต่พองามไม่ต้องใส่ไปเยอะเพราะเราไม่ได้ไปประกวดประชันกับใคร
เอกสารสมัครงาน คือ Resume รูปถ่าย สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน (เผื่อเอาไว้) เอกสารการศึกษา ทั้งหมดนี้เซ็นรับรองสำเนาให้เรียบร้อยเพราะเราจะต้องทิ้งเอาไว้ และบางสาขาวิชาก็ต้องมีผลงานหรือตัวอย่างผลงานไปประกอบด้วย อันนี้เราเอากลับได้ และหากเรามีประกวดได้รางวัลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสายงานอาชีพเราก็ทำสำเนาไปให้เขาดูด้วย หากเราสามารถรวบรวมเอกสารเป็นแฟ้มได้ก็จะดูดีมาก แต่ควรจะจัดเก็บให้เป็นระเบียบเป็นหมวดหมู่ ไม่ใช่พอไปถึงก็หาอะไรไม่เจอสักอย่างหรือกว่าจหาได้ก็เป็นนานสองนาน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เห็นว่าเราเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีและมีความกระตือรือล้นที่จะทำงาน อีกสิ่งที่จะต้องเตรียมไว้ก็คืออุปกรณ์เครื่องเขียน จำพวกปากกา ดินสอ เตรียมให้พร้อม เพราะอย่างไรก็ตามพอเราไปถึงบริษัทเราก็ต้องเขียนใบสมัครของแต่ละบริษัท ซึ่งถ้าเราได้เป็นพนักงาน ใบสมัครนี้จะกลายไปเป็นเอกสารประกอบประวัติการทำงานของเราที่เขาจะเก็บเอาไว้
บางบริษัทก็จะมีการสัมภาษณ์งานหลายครั้ง เช่น การสัมภาษณ์ครั้งแรกก็เพื่อจะให้ฝ่ายบุคคลเป็นคนกรองเบื้องต้นจากจำนวนผู้สมัครมากมาย พอเป็นที่สนใจเขาก็จะนัดเราให้กลับมาสัมภาษณ์อีกครั้ง คราวนี้จะเป็นผู้รับผิดชอบกับเราโดยตรง ซึ่งก็จะสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเพิ่มขึ้นเพราะเขาต้องการคัดเลือกคนที่จะมาทำงานกับเขาโดยตรง
ข้อมูลของบริษัท เราควรจะทำการบ้านโดยหาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัทที่จะไปสมัครงานให้มากที่สุด สิ่งที่ควรจะทำก็คือ บริษัททำอะไร อุตสาหกรรมที่บริษัทนี้ทำเป็นยังไง พยายามเข้าใจว่าตำแหน่งที่เราจะไปสมัครเขาทำอะไร เช่น เราจะไปสมัครตำแหน่งพนักงานจัดซื้อที่ห้างสรรพชื่อดังแห่งหนึ่ง ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจว่าตำแหน่งที่จะไปทำก็คือ ตำแหน่งที่เขาจ้างเราไปใช้เงินของเขา ดังนั้นเราก็ต้องใช้เงินเขาให้ดีที่สุด ถ้ายังนึกไม่ออกก็ให้นึกว่า เวลาเราซื้อของเรายังเปรียบเทียบราคาจากร้านโน้นร้านนี้เพื่อหาร้านที่ราคาและเงื่อนไขดีที่สุด แล้วเราจะหาราคาเปรียบเทียบได้จากไหนบ้าง เป็นต้น การที่เราไม่ทำการบ้านเลยก็ได้เหมือนกันแต่พอไปสัมภาษณ์เราก็จะสมองกลวงๆ นึกอะไรไม่ออก ตอบคำถามก็ได้แค่เท่าที่เรารู้ จะถามกลับก็ไม่รู้จะถามอะไร ถ้าเขาเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ทำการบ้านมามากกว่าเรา มันก็ทำให้ง่ายที่เขาจะตัดสินใจ
ข้อมูลการเดินทาง จะได้รู้ว่าเราจะเดินทางอย่างไร ใช้เวลาเท่าไร จะได้ไปถึงตามเวลาที่นัดหมาย อย่างไรก็ตามเราควรไปให้ถึงก่อนเวลานัดหมายสักเล็กน้อยจะดูดีกว่า ในขณะเดียวกันเราก็จะได้รู้ด้วยว่า ถ้าเราได้งานที่นี่เราจะต้องเดินทางอย่างไรและใช้เวลาเท่าไร ลำบากมากไหม เพราะมันจะเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันของเราด้วย หลายๆ ครั้งที่ได้งานแล้วมักจะลาออกเพราะเดินทางไม่ไหว เหนื่อยเกินไห หรือค่าใช้จ่ายสูงเกินไป
เตรียมข้อมูลในการสัมภาษณ์ โดยปรกติแล้วการสัมภาษณ์คนจบการศึกษาใหม่ จะถามคำถามที่เกี่ยวกับตัวเราและสิ่งที่นำเสนอใน Resume ที่เราทำนั่นแหละ ซึ่งเราจะตอบได้อยู่แล้วถ้าเราเขียนมันเองและไม่เขียนเกินจริงเกี่ยวกับตัวเรา เช่น ผลงานที่เรานำเสนอบางครั้งเราทำงานเป็นกลุ่ม เราแค่เป็นส่วนร่วมไม่ได้ทำอย่างจริงจังสักเท่าไรทำให้เราไม่รู้รายละเอียดของงานนั้น ให้รีบศึกษาและทบทวน ทำความเข้าใจอย่างรีบด่วน หรือข้อมูลเราคัดลอกจากอินเตอร์เน็ตแล้วเราไม่ได้เข้าใจมันจริงๆ บางครั้งแทบไม่ได้อ่านมันเลย รีบทำความเข้าใจกับมันได้เลย เรื่องที่มักจะตอบกันแบบติดๆ ขัดๆ ก็คือเรื่องที่เราเรียนมานั่นแหละโดยเฉพาะสาขาหลักที่เราจบมาและประสบการณ์การฝึกงานของเราว่าเราทำอะไรมาบ้าง บางบริษัทก็จะมีการทดสอบความสามารถเบื้องต้นด้วย เช่น ถ้าทำงานเกี่ยวกับเอกสารก็จะให้ทดสอบการพิมพ์เอกสารว่ามีความเร็วเท่าไร ความถูกต้องในการพิมพ์งาน การใช้ Excel เพื่อดูว่าเรามีความคล่องตัวขนาดไหน หรือถ้าทำงานด้านออกแบบก็อาจจะได้ทดลองออกแบบเพื่อดูว่าเราสามารถทำได้แค่ไหน ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้คล่องไหม สิ่งเหล่านี้ถ้าเรายังไม่ค่อยคล่องเท่าไรก็ฝึกฝนเตรียมตัวไว้สักหน่อยก็จะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย
เมื่อได้มีโอกาสไปสอบสัมภาษณ์ เรามักจะตื่นเต้น ประหม่า และทำตัวไม่ถูก ให้หายใจลึกๆ ตั้งสติให้ดี สิ่งที่เราจะต้องทำคือ
วางตัวให้ดี นั่งหลังตรง ใบหน้ายิ้ม ถ้าไม่รู้ว่าจะเอามือไปวางตรงไหนก็ให้วางไว้ที่ตัก เวลาพูดก็อย่าออกไม้ออกมือเหมือนนั่งคุยกับเพื่อน
การตอบคำถาม ให้ฟังคำถามให้เข้าใจแล้วค่อยตอบไปตามความเป็นจริงและมั่นใจเกี่ยวกับ ข้อมูลของตัวเรา ห้ามโกหก ห้ามพูดเกินจริง ถ้าไม่เข้าใจในคำถามให้ซักถามจนเข้าใจแล้วค่อยตอบ เพราะมันจะบอกว่าเราเป็นคนที่พยายามทำความเข้าใจก่อนที่จะทำงาน หากเราตอบไปแบบไม่เข้าใจอาจจะทำให้ความหมายผิดไปเลยก็ได้ หากเป็น คำถามที่เกี่ยวกับความรู้ที่เราเรียน มา นึกให้ดีก่อนที่จะตอบ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตอบคำถามในทันทีที่ถามเสร็จ เรามีเวลาที่จะทำความเข้าใจกับคำถามก่อนแต่ก็ไม่ควรจะใช้เวลานานเกินไปเป็นนาทีเพราะจะเหมือนกับเราคิดช้า หากถามเกี่ยวกับ ประสบการณ์ของเรา เช่น การฝึกงาน การทำ Project หรือเรื่องอื่นๆ ที่เราเขียนถึงผลงานของเรา ให้คิดถึงว่ามีรายละเอียดอะไรบ้างที่เราทำตอนนั้นแล้วค่อยตอบไป เมื่อมีคำถามที่ ทดสอบความคิดหรือทัศนคติของเรา จะต้องชั่งงน้ำหนักให้ดี คิดก่อนที่จะตอบ เช่น ความรู้รอบตัว ความเห็นเกี่ยวกับอาชีพ เป็นต้น คำถามที่มักจะเจอเสมอคือ ทำไมถึงอยากทำงานกับเรา? ให้นึกให้ดีๆ อย่าอวยบริษัทจนเกินไป นึกถึงว่าเราจะได้ใช้ความรู้ที่เราเรียนมากับงานได้อย่างไร
สิ่งที่ห้ามทำ ก็คือ การพูดเกินจริง การอวดฉลาด ตอบคำถามที่ไม่เข้าใจ และห้ามคิดไปเองแล้วตอบ
สิ่งที่เราสามารถทำได้ ถามเกี่ยวกับเนื้องานที่เราจะต้องทำ ถามเกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ แต่จะต้องตั้งคำถามแบบขอความรู้ ถามเพื่อให้เข้าใจในคำถามที่เราต้องตอบ ถามเพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่เราต้องทดสอบ
การทดสอบเบื้องต้น จะค่อนข้างกดดันเพราะเขาจะจำกัดเวลามาให้เรา เช่น ให้ลองพิมพ์เอกสารหนึ่งหน้ากระดาษในเวลา 5 นาทีหรืออาจจะไม่จำกัดเวลาแต่จะจับเวลาแทน แล้วเขาก็จะคำนวนเวลาบวกกับความถูกต้องของเอกสารและให้คะแนน นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดเวลาหรือจับเวลาก็ตาม เราจะต้องเผื่อเวลาเอาไว้สำหรับตรวจทานความถูกต้องของเราด้วย โดยทั่วไปแล้วเร็วแต่ผิดไม่มีความหมายอะไรเพราะจะต้องกลับมาแก้ความถูกต้องซึ่งก็คือการใช้เวลาเพิ่มขึ้นอยู่ดี การช้าเกินไปก็ไม่ดีเพราะกว่าจะได้ผลงานแต่ละชิ้นออกมาทำให้ไม่ทันคนอื่นเขา ถ้าช้าแล้วยังผิดอีกด้วยก็เก็บของกลับบ้านแล้วไปฝึกใหม่จะดีกว่า
ความสำคัญของการทดสอบงานเขาจะดูที่ ทักษะ ความรู้และความชำนานที่เรามี ดังนั้นมันจึงมีความสำคัญที่ระดับหนึ่งทีเดียว เราควรจะหมั่นฝึกซ้อมเอาไว้มากๆ เพราะตอนที่เรายังไม่มีงานทำเวลาเรามีเหลือเฟืออย่าเอาเวลาไปทำเรื่องที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์นัก
เมื่อเรามั่นใจว่าเราทำดีที่สุดแล้วก็รอฟังผล ถ้าได้งานทำเขาก็จะนัดเวลาให้เรามาเริ่มงาน ดังนั้นเราจะต้องนึกให้ดีก่อนที่จะรับปากเขา ให้นึกว่า เรามีธุระ หรือเรื่องที่จะต้องไปสะสางให้เสร็จก่อนที่จะเริ่มงานให้ขอเจรจาต่อรองกับเขาไป แล้วทำให้ได้ตามนั้น
ทำไมถึงต้องสะสางธุระของเราให้เสร็จ?
ก็เพราะเมื่อเราเริ่มทำงานแต่ละบริษัทก็จะมีกฎเกณฑ์ของตัวเอง เช่น ในขณะฝึกงานจะต้องไม่มาสาย ไม่ลากิจมากเกินไป ไม่ขาดงานหรือไม่ป่วยเกินไป ในระยะเริ่มแรกนั้นการดูสถิติของเวลาในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญมากและจะเป็นน้ำหนักที่จะพิจารณาว่าจะบรรจุเราเข้าเป็ฯพนักงานประจำหรือไม่