Connect with us

บทความ

หนัง “Base on the true story” เรื่องจริง หรือนิยาย?

Published

on

คอหนังหลายคนอาจชื่นชอบและหลงใหลกับหนังหรือภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง เพราะให้ความรู้สึกที่ลุ่มลึก รู้สึกอินไปกับเรื่องราวที่คิดว่าเคยเกิดขึ้นจริง และจินตนาการถึงบุคคลที่อ้างถึงได้

แต่เมื่อมีภาพยนตร์แบบนี้เกิดขึ้นก็มักมีประเด็นถกเถียงอื่นๆ ตามมา หลังจากที่หนังฉายออกไป โดยประเด็นที่มักหยิบมาเป็นต้นเรื่องคือ เนื้อหาในเรื่องไม่ตรงกับเรื่องจริงหรือชีวิตจริงของคนต้นเรื่อง หรือมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ได้รับผลกระทบจากการนำเรื่องราวไปตีแผ่ในภาพยนตร์ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของดราม่า และมีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับหนังซ้อนหนังอีกที  

หนังที่อ้างว่าอิงจากเรื่องจริง แต่มักจะจบลงด้วยการบอกว่าเป็นแค่นิยาย

หนังหรือเรื่องต่างๆ ที่ใช้พื้นฐานของเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเหตุการณ์จริง ชีวประวัติของใครสักคน เมื่อนำมาถูกสร้างเป็นหนังมักจะมีเรื่องของการร้อยเรียงเรื่อง ที่ทำให้อาจมีการแต่งเดิม หรือบิดเรื่องบางอย่างเพื่ออรรถรส หรือเพื่อจุดมุ่งหวังบางอย่างเสมอๆ 

ในต่างประเทศมีการถกเถียงกันระหว่าง FACT กับ FICTION ที่มีความคาบเกี่ยวกับอยู่เมื่อมาอยู่บนจอ แทบจะทุกครั้งที่ขึ้นข้อความ “Base on the true story” มักจะมีดอกจันตามมาเพื่อย้ำว่า เป็นเรื่องจริงแต่ไม่ทั้งหมด 

Advertisement

หรือในกรณีที่ตัวละครหรือเอกลักษณ์อื่นๆ ที่ปรากฏในหนังอาจมีความคล้ายคลึงกับบุคคลจริงที่ตายไปแล้วหรือบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือหน่วยงานในชีวิตจริง ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันก็ถือเป็นเรื่องบังเอิญล้วนๆ เพราะเรื่องจริงที่ว่าเป็นเรื่องแต่ง

การให้ข้อมูลว่าหนังนี้สร้างมาจากเรื่องจริงมีอยู่ที่ 2 ด้านที่น่าสนใจ 

ด้านแรก คือเมื่อโปรโมทว่าเป็นหนังที่ ‘Based on the True Story’ อาจมีความจำเป็นในเรื่องของลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ อีกด้านหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้คือ เป็นการตลาดที่จะเรียกร้องความสนใจของผู้ชมได้ดี

แต่ในอีกมุมหนึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อใดก็ตามที่มีผู้ได้รับผลกระทบบางอย่างจากเรื่องที่นำเสนอแบบผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ก็มักจะหยิบเหตุผลที่ว่า  “เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้น แต่อิงเรื่องจริงบางส่วน” ถูกกำหนดขึ้นมาเป็นข้อจำกัดในการรับผิดชอบหรือไม่?

เช่น เรื่องของ ‘กรีกอรี รัสปูติน’ (Grigory Rasputin) ชายผู้ที่ถูกเชื่อว่าเป็นผู้มีพลังพิเศษ รักษาโรคชะงักงัน ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับราชวงศ์โรมานอฟ ของรัฐเสีย และเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ราชวงศ์ล่มสลายหลังเขาถูกสังหารโดยเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซูปอฟ และคนในราชวงศ์ร่วมมือกัน

Advertisement

เรื่องนี้ถูกตีแผ่ออกมาหลายรูปแบบและยาวเหยียดเกินจะเล่าเรื่องย่อด้วยซ้ำ หนึ่งในนั้นคือ หนัง Rusputin and the Empress ที่เล่าเรื่องของ รัสปูติน และการลอบสังหารเอาไว้อย่างออกรสออกชาติ 

ทว่าต่อมาราวปี 1933 เจ้าชายเฟลิกซ์ หนึ่งในคนที่ถูกกล่าาวถึงในเรื่อง ยื่นฟ้องบริษัททำหนังที่สร้างภาพยนตร์แห่งหนึ่งในสหรัฐ ที่สร้างหนังเรื่อง Rusputin and the Empress ในข้อหาละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยบางข้อมูลบอกว่าสาเหตุคือเนื้อหาเข้าฉากว่าพระภรรยาของเจ้าชายเป็นหนึ่งในผู้ได้ทดลองจักรกลสวาทรัสปูตินจนเคลิบเคลิ้ม จนเลือกที่จะฟ้องร้อง ซึ่งสุดท้ายบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยราว 127,XXX ดอลลาร์ 

หลังจากเหตุการณ์นี้โรงภาพยนตร์เริ่มเตือนเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้ว่า “เรื่องบังเอิญทั้งหมดเป็นเรื่องบังเอิญ” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่มาของการจำกัดกรอบความรับผิดชอบของภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่ตามมา ในกรณีที่อาจจะใกล้เคียงกัน 

Advertisement

ท้ายที่สุดแล้ว “Base on the true story” ในบริบทนี้คงเป็นได้ทั้ง FACT และ FICTION ได้ในเวลาเดียวกัน ทว่าไม่ว่าจะโน้มไปฝั่งไหนมากกว่า ถ้าเจ้าของเรื่องตัวจริงหรือคนที่เกี่ยวข้องไม่ถูกละเมิด หรือได้รับผลเชิงลบคงจะดีไม่น้อย 

เรื่องโดย : ปณิดดา เกษมจันทโชติ
อ้างอิง : [1] [2] [3] [4] [5]