Connect with us

Podcast

สังคมการทำงาน-ชีวิตที่เปลี่ยนไป หลังจบการศึกษา | Brickinfo Podcast: ต๋าถามป๋าตอบ EP.03

Published

on

สังคมทำงาน

ตอนที่เราจบการศึกษามักจะมีการฉลองในความสำเร็จของชีวิต เราชอบทำเหมือนนิยายที่จบอย่างมีความสุข หรือ Happy Ending แต่ในโลกของความจริงแล้วมันเป็นการเปลี่ยนผ่านจากจุดหนึ่งและเริ่มต้นใหม่อีกจุดหนึ่ง ซึ่งมันจะเริ่มยากขึ้นในทุกจุดที่เริ่มใหม่ เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อนจะต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่สักระยะถึงจะคุ้นเคยกับมันและดำเนินต่อไปได้

รับชมบนยูทูบ กดที่นี่

ชีวิตการทำงานก็เหมือนกัน พอเราได้งานทำสังคมเราก็เริ่มเปลี่ยน หลายๆ คนปรับตัวไม่ได้และทุกข์ทรมานกับมันแล้วก็ร้องโหยหาชีวิตแบบเดิมที่เคยเป็นตอนที่เรียน มักจะมีคนบอกเสมอว่า ชีวิตที่ดีที่สุดก็คือ ตอนที่เราเป็นนักเรียน นักศึกษานี่แหละ เพราะมีอิสระ ไม่ต้องรับผิดชอบมากมาย

ตอนนี้เราจะมาเล่าถึงชีวิตและสังคมการทำงานว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง

โดยปรกติของคนจบใหม่ก็จะได้ตำแหน่งเล็กๆ ก่อน พอพรรษาแก่กล้าก็จะได้เลื่อนขั้นขึ้นไปเรื่อยๆ ตามแต่ความสามารถของเรา สิ่งที่จะเปลี่ยนไปก็คือ

Advertisement

เวลาในแต่ละวัน ในตอนที่เราเรียนเราจะมีตารางเรียนซึ่งต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง เรามีอิสระที่จะไปไหนมาไหนตอนที่เราว่าง หรืออาจโดดเรียนก็ได้ถ้าขี้เกียจ ความตรงต่อเวลาของเรามักจะยืดหยุ่นจนหย่อนยาน ทำให้เราไม่ค่อยเห็นความสำคัญของเวลาสักเท่าไร เมื่อเรามาทำงานหากเรายังเอานิสัยไม่ค่อยรักษาเวลาของเรามาใช้อยู่ นั่นหมายถึงชีวิตการงานเราก็จะหย่อนยานและไม่เจริญก้าวหน้า

การรักษาเวลา เราจะต้องรักษาเวลาของเราเป็นอย่างดี เวลาที่เราต้องรักษามีอยู่ 2 อย่าง

  1. วลาของชั่วโมงการทำงาน เวลาของการทำงานปรกติก็คือ 8 ชั่วโมง ซึ่งบางที่ทำงาน 8.00-17.00 หรือ 9.00-18.00 บ้างต่างกันไป นั่นหมายถึงถ้าคุณอยู่ที่ทำงานแล้วคุณจะไปไหนไม่ได้ใน 8 ชั่วโมงนี้ เบื่อก็ต้องทำงาน เซ็งก็ต้องทำงาน ไม่สามารถไปดูหนัง ไปเดินเล่นเหมือนที่เคยทำได้ เพราะบริษัทเขาจ้างคุณเป็นชั่วโมงหรือถ้าจะคำณวนให้ละเอียดก็เป็นนาที และเวลาเข้างานหรือเลิกงานก็แน่นอน อิสระในเรื่องเวลาของคุณจะน้อยลงไปอย่างมากเพราะกรอบเวลาเป็นตัวกำหนด ดังนั้นเวลาที่คุณทำธุระต่างๆ ของคุณก็จะต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าของคุณ มันบอกว่าเวลาส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นของเราแล้ว
  2. เวลาเป้าหมาย หมายถึงเมื่อเราได้รับมอบหมายให้ทำงานสักอย่างมักจะถูกกำหนดด้วยว่าจะต้องเสร็จเมื่อไร ดังนั้นเราควรจะทำให้ได้ตามเวลาที่ถูกกำหนดเอาไว้ด้วย หากเราผัดผ่อนไปเรื่อยๆ แต่คนอื่นสามารถทำได้ นั่นก็จะบ่งบอกว่าเราไม่สามารถทำงานได้เท่าคนอื่น เราควรหัดที่จะทำงานตามข้อแม้ที่มีไม่ใช่กำหนดข้อแม้ที่จะทำงาน ตัวอย่างก็คือ เราได้รับมอบหมายให้ทำงานชิ้นหนึ่งในวีนพรุ่งนี้และจะต้องเสร็จภายใน 2 วัน ส่วนใหญ่ที่มักพบอยู่เสมอก็คือ เราจะต่อรองว่าขอไปเริ่มทำอาทิตย์หน้าและขอเวลา 5 วันจะได้ไหมเพราะยังติดโน้นติดนี่อยู่ อาจจะทำได้ในบางครั้งถ้ามีเหตุผลเพียงพอแต่จะไม่ได้ทุกครั้งอย่างแน่นอน และหากเราต่อรองทุกครั้งที่ได้รับมอบหมายต่อไปเราก็จะไม่ได้รับมอบหมายอีก นั่นก็หมายถึงเราตัดอนาคตเราให้สั้นลงไปด้วย

ความรับผิดชอบ ในทุกตำแหน่งงานมีความรับผิดชอบในตัวของมันเอง มากบ้าง น้อยบ้างตามความสำคัญของตำแหน่ง จากเดิมที่เราเคยรับผิดชอบแบบครึ่งๆ กลางๆ เมื่อสมัยเรียนก็กลายเป็นว่า เราได้รับมอบหมายอะไรเราก็ต้องทำตามนั้น ถ้าตำแหน่งเล็กๆ ก็พอจะยืดหยุ่นได้บ้างแต่หากเราละเลยจนเกินไปมันก็จะกลายไปเป็นประวัติที่ไม่ค่อยจะดีนัก แล้วก็จะไปส่งผลกับเงินเดือนและอนาคตของเรา การที่เราแสดงให้เห็นว่าเรามีความรับผิดชอบดีก็จะส่งผลให้เกิดความไว้วางใจและได้เพิ่มความรับผิดชอบ ซึ่งนั่นก็หมายถึงหน้าที่การงานของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วยแต่เราจะต้องอดทนเพราะไม่ได้มีแค่เราคนเดียวในบริษัท ส่วนใหญ่ที่เจอมาคือ กลัวที่จะต้องรับผิดชอบและคิดว่า ยิ่งรับผิดชอบมากยิ่งผิดมากและมีงานมากตามไปด้วย และมักจะนำไปเปรียบเทียบกับคนรอบข้างแล้วก็มาสรุปว่า ทำงานหนักแต่ได้เงินเดือนน้อย สู้ทำเท่าคนอื่นดีกว่าสบายกว่า ก็ไม่ผิดอะไรที่จะคิดแบบนั้นแต่ก็ต้องยอมรับในผลที่จะเกิดตามมาด้วย

ความอดทน ตอนที่เราเรียนอยู่เราไม่ค่อยได้อดทนกับอะไรมากนัก มันต่างกับตอนทำงานมาก เราจะต้องอดทนกับงานยากๆ อดทนกับหัวหน้า อดทนกับเพื่อนร่วมงาน อดทนจากคนต่างหน่วยงาน อดทนกับผู้เกี่ยวข้องนอกบริษัท เช่น ลูกค้าหรือ Supplier ซึ่งมีร้อยพ่อพันแม่ ต่างนิสัย ต่างวิธี เยอะแยะไปหมด หากเรามีภูมิต้านทานต่ำหรือความอดทนน้อยเราก็จะทุกข์ทรมานกับเรื่องพวกนี้ในทุกๆ วัน ดังนั้นเราควรค่อยๆ ฝึกไป หนีไม่พ้นยังไงเราก็ต้องเจอแน่นอน

อารมณ์และความรู้สึก เนื่องจากเราเป็นเด็กใหม่จึงค่อนข้างมีเปรียบตรงที่ส่วนใหญ่ผู้ร่วมงานจะเอ็นดูเราวึ่งก็มักจะให้ความรู้สึกที่ดีกับเราแต่พอผ่านไปได้สักเดือนสองเดือนความเป็นเด็กใหม่เริ่มจะหายไป ที่นี้ทุกคนก็จะทำตามสิ่งที่มันต้องเป็นแล้ว ก็จะเริ่มมีการใส่อารมณ์กับเรา ร้ายบ้าง ดีบ้าง ที่ดีเราก็คงไม่เท่าไรแต่ที่ร้ายนี่สิ จะทำให้เรารู้สึกแย่หรือบางที่ไปเจอผู้ร่วมงานร้ายๆ นิสัยแย่ๆ ก็อาจจะทำให้เราหมดความอดทนแล้วระเบิดออกไปก็ได้ หรือบางคนก็จะทนอดเอาไว้จนเก็บกดและไปหาทางระบายแบบผิดๆ มันจะไม่เหมือนกับตอนที่เราเรียนเพราะดีกรีความร้อนแรงมันไม่มากเท่าตอนทำงานและบางครั้งก็หลบเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นขอให้ค่อยๆ ทำความเข้าใจกับมันและหัดเรียนรู้ที่จะรับมือกับมัน การลาออกไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ใช้ได้ทุกครั้งเพราะในบางคั้งก็แค่เปลี่ยนที่ๆ จะเกิดเรื่องเท่านั้น

Advertisement

ความขยัน ตอนเรียนเราสามารถที่จะขยันบ้าง ขี้เกียจบ้าง ได้ตามใจชอบแต่ตอนทำงานแล้วมันต่างออกไปมาก ถามว่า ทำแบบเดิมได้ไหม ก็ขอบอกว่าได้แต่ชีวิตก็จะเจริญช้าเพราะปุ๋ยไม่ดี ความขยันมีข้อดีคือ มันทำให้เราไม่หยุดอยู่กับที่ เคลื่นที่ไปข้างหน้าเรื่อยๆ ช้าบ้าง เร็วบ้างตามแรงขยัน แต่ข้อเสียของมันคือ เหนื่อยกว่าคนอื่นถ้าเราเอามาเปรียบเทียบโดยไม่จำเป็น เราควรขยันในการทำงาน ขยันในการเพิ่มพูนความรู้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะติดตัวเราไปตลอดชีวิตโดยไม่มีใครมาแย่งเอาไปจากเราได้และมันก็จะส่งผลดีกับเราไปตลอด

ความไฝ่รู้ เมื่อสมัยที่เราเรียนครูบาอาจารย์จะนำความรู้มาใส่ให้เรา และให้การบ้านเราเพื่อฝึกทักษะและให้หาความรู้เพิ่ม เช่น เรียนเลขมาว่า หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง เขาจะทำให้เราเข้าใจวิธีในการบวกเลขว่าทำอย่างไร และให้การบ้านเราอีก 10 ข้อ เพื่อให้ไปหัดบวกเลขให้ชำนาญเวลาเจอโจทย์อื่นจะได้ทำได้ หรือให้การบ้านเป็นโครงงานให้เราไปทำเพื่อที่จะให้เราไปค้นคว้ามาเพิ่มแล้วก็ให้คะแนนตามสิ่งที่เราไปค้นคว้ามา ตอนทำงานก็มีอะไรแบบนั้นเหมือนกันเราเรียกมันว่า การฝึกอบรม นั่นคือการส่งเราให้ไปเรียนรู้เพิ่มเติม แต่ส่วนใหญ่ที่เจอมาคือ มองว่ามันเป็นภาระเพราะคิดว่าเมื่อไปอบรมมาก็จะมีงานเพิ่ม ภาระเพิ่ม สู้ไม่รู้จะดีกว่า มันก็จริงที่เขาส่งเราไปอบรมก็เพื่อจะให้งานเราเพิ่มแต่อย่างที่เคยเล่าเอาไว้ว่า ถ้าเรามีวิธีคิดและทัศนคติที่ดีเราก็จะคิกไปอีกแบบหนึ่ง เราจะมองว่าเขาเริ่มเสนอโอกาสให้เราเก่งขึ้นเพื่อเตรียมเอาไว้พิจารณาเวลาที่เขาจะมีการปรับเปลี่ยน เราควรคิดว่า ทำไม่เราถึงได้โอกาสในการไปอบรมนี้แทนที่จะเป็นเพื่อนเราก็เพราะเขาเห็นว่าเรามีคุณสมบัติบางอย่างที่คนอื่นไม่มีมากกว่าที่จะคิดว่า เขาจะใช้เราหนักกว่าคนอื่น

อีกเรื่องที่เห็นเป็นประจำก็คือ เรามักจะมีนิสัยเรียนไปเพื่อสอบ เวลาที่เราส่งไปอบรมบางคนก็ตั้งใจเอามากๆ แล้วก็รู้ทุกอย่างที่อบรมมา ทำคะแนนการทดสอบได้ดีเยี่ยม แต่พอให้มาลองเอาที่ไปอบรมมาปรับเข้ากับการทำงานก็ไม่สามารถทำได้เพราะโจทย์ไม่เหมือนกับที่อบรมมา เช่น ตอนอบรมเขาก็จะยกตัวอย่างที่เหมาะสมเพื่อจะให้ผู้อบรมเข้าใจตรงกับเนื้อหาที่อบรม แต่ไม่เหมือนกับที่บริษัทของเรา พอเอาเข้าจริงเราก็ไม่สามารถประยุกต์มาใช้งานได้ เพราะเราติดนิสัยการท่องเพื่อจะให้สอบได้มาจากสถานศึกษา ซึ่งของนี้คือ ข้อด้อยของระบบการศึกษาของเราที่พบบ่อยมาก เราไม่สามารถประยุกต์สิ่งที่เรียนมาใช้ได้เลย เพราะเราพยายามที่จะตอบให้ตรงกับข้อสอบที่อาจารย์บอกไว้แล้วได้คะแนนสูง ใครจำได้มากกว่าก็ได้คะแนนมากกว่า แต่ในชีวิตจริงแล้วเรื่องๆ หนึ่งอาจไม่ได้มีคำตอบเพียงคำตอบเดียว หรือมีวิธีการเพียงแค่วิธีเดียว จะต้องอาศัยการพลิกแพลงจากองค์ประกอบต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เสียงบประมาณไปมากมายกับการอบรมแต่ไม่เกิดผลมากนัก

งานในปัจจุบันมีความน่ากลัวตรงที่หลายๆ งานนั้นเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงมันอย่างรวดเร็วหรือจะเรียกว่า Disruption มันทำให้งานๆ นั้นหายไปจากมือมนุษย์ได้ในทันที นั่นก็แปลว่า หน้าที่การงานที่เราทำอยู่อาจจะหายไปในวันนี้พรุ่งนี้ก็ได้ หากเราตามไม่ทันหรือไม่มีความรู้ใหม่ๆ มีทฤษฎีหนึ่งบอกเอาไว้ว่า หากเรายังทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่ภายในเวลา 5 ปีความรู้เราจะหายไปครึ่งหนึ่งเสมอ เช่น จากเดิมที่เราเคยทำได้ 10 อย่างพอเราทำงานซ้ำๆ เดิมแค่ 5 อย่างอีก 5 อย่างไม่ค่อยได้ทำ มันจะค่อยเลือนหายไปจากความทรงจำของเราและในที่สุดเราก็จะไม่สามารถทำมันได้

Advertisement

ความละเอียดรอบคอบ จากเดิมที่เราไม่ค่อยใส่ใจกับความละเอียดรอบคอบมากนักเพราะตอนที่เราเรียนเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรใส่ใจ และไม่มีผลด้านการเงิน เช่น การคีย์ตัวเลข 0 เกินไปหนึ่งตัว มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประจำจากตัวเลขนี้จากฝ่ายขายหรือฝ่ายจัดซื้อทำให้บริษัทเสียหายเป็นอย่างมาก เราไม่ใส่ใจที่จะตรวจทานเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ อาจทำให้บริษัทซื้อของเกินจากหมื่นชิ้นเป็นแสนชิ้น หรือผลิตของเกินจากแสนชิ้นเป็นล้านชิ้น เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในหลายๆ บริษัท ซึ่งเวลาที่มาเล่ากันก็มักจะบอกว่าเป็นเรื่อง ปัญญาอ่นที่จะเกิดขึ้นได้ยังไง แต่ความจริงมันเกิดขึ้นแล้วและประจำด้วย บางบริษัทก็ไล่ออกเลย บางบริษัทก็ให้เราต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายนั้นตามสัดส่วนที่เขาคำณวนออกมา เท่ากับว่าเราทำงานก็จะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้วยังจะต้องมามีหนี้เพิ่มอีกก้อนโดยไม่ได้อะไรคืนมาเลย เรื่องมันก็เกิดขึ้นง่ายๆ จากเรื่องปัญญาอ่นที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้นี่แหละ

ดังนั้นเราควรหมั่นตรวจทานงานที่เราทำด้วยความรอบคอบอยู่เสมอเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องที่เราไม่ควรต้องมารับผิดชอบโดยใช่เหตุ

ที่เล่ามาให้ฟังทั้งหมดไม่ได้จะลดทอนกำลังใจของคนจบใหม่แต่อย่างใด เพียงหวังจะเล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงของการเปลี่ยนผ่านจากนักศึกษามาเป็นคนทำงานว่า จะเป็นอย่างไรบ้างในชีวิตจริงเพราะอย่างไรก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพบเจอกับเรื่องเหล่านี้อย่างแน่นอน อยากจะบอกว่า

“ในโลกของความเป็นจริงโลกมันเป็นแบบที่มันเป็นอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็นหรือคิดว่ามันเป็น”
ดังนั้น
“จงเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันและอยู่กับมันให้ได้ จะได้ไม่ทุกข์กับมันจนเกินเหตุ”

Advertisement

สำหรับตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่า จะอยู่อย่างไรกับเพื่อนร่วมงาน