Podcast
เด็กจบใหม่ เริ่มต้นชีวิตการทำงาน อย่างไร ? | Brickinfo Podcast: ต๋าถามป๋าตอบ EP.01
เมื่อพูดถึงวันแรกหลังจบการศึกษาแล้วต้องก้าวสู่การทำงาน แน่นอนว่าหลายคนต้องสงสัยว่า เราควรจะเริ่มต้นชีวิตการทำงาน อย่างไร ? ติดตามได้ใน “ต๋าถามป๋าตอบ” ตอบข้อสงสับสไตล์ พ่อ-ลูกคุยกัน
ถ้าเราสังเกตให้ดี ชีวิตของคนเราจะมีการเปลี่ยนผ่านอย่างสม่ำเสมอประมาณทุกๆ 10-12 ปี เป็นแบบนี้
ช่วงที่ 1 คือ อายุตั้งแต่ 7-12 ปี (10-12ปีแรก) เป็นช่วงเด็กน้อยกำลังเรียนรู้กฏระเบียบ กติกาต่างๆ ที่ผู้ใหญ่กำหนด เช่น การเข้าเรียนตามเกณฑ์ การปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบที่พ่อแม่ผู้ปกครองกำหนดบ้าง โรงเรียนกำหนดบ้าง เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาของเด็กน้อยน่ารักของใครๆ
ช่วงที่ 2 คือ อายุประมาณ 10-22 ปี เป็นช่วงที่เราเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปเป็นวัยรุ่น ตอนนั้นเราจะเริ่มพุ่งพล่านมากเพราะ ฮอร์โมนกำลังมีการเปลี่ยนแปลง ในวัยนี้ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่กับวัยรุ่นจะไม่ค่อยเข้าใจกันเพราะวิธีคิดและการกระทำของวัยรุ่นจะผิดแปลกไปจากเด็กน้อยน่ารัก นิสัยดีกลายไปเป็นวัยรุ่นก้าวร้าวบ้าง คิดแผลงๆ บ้าง ทำอะไรนอกลู่นอกรอย เป็นที่ขัดใจของผู้ใหญ่อย่างยิ่ง แต่สำหรับวัยรุ่นเองเป็นช่วงที่แสวงหาตัวตนและความเป็นตัวของตัวเอง ช่วงนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยลงรอยกับผู้ใหญ่ที่บ้านเท่าไร
ช่วงที่ 3 คือ อายุ 20-32 ปี เป็นช่วงที่เราจะเริ่มคิดว่า เราเปลี่ยนจากวัยรุ่นไปเป็นผู้ใหญ่ ฮอร์โมนทำงานน้อยลง เริ่มมีความนิ่งขึ้นกว่าตอนเป็นวัยรุ่น มีความรับผิดชอบกับชีวิตตัวเองมากขึ้นเพราะ ส่วนใหญ่ต้องเริ่มออกมาทำงาน รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ของชีวิตตัวเอง บางคนอาจจะต้องเริ่มเข้าไปช่วยค่าใช้จ่ายของครอบครัว เริ่มต้องวางรากฐานของชีวิต เริ่มมองหาการสร้างครอบครัว ไม่ว่าจะแต่งงานหรืออยู่เป็นโสดก็ตาม ถ้าคนสมัยนี้ก็เริ่มมองหาที่อยู่เป็นของตัวเอง เป็นวัยที่เริ่มสร้างภาระให้ตัวเอง ความเครียดเริ่มเปลี่ยนจากการคิดถึงตัวตนของตัวเองไปเป็นการอยู่รอดและสร้างความมั่นคง
ช่วงที่ 4 คือ อายุ 30-42 ปี เป็นช่วงที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่จริงๆ เพราะสะสมทั้งประสบการณ์ด้านต่างๆ ทั้งความสุข ความทุกข์ ความรัก การเงิน และอีกสารพัดเรื่อง เป็นช่วงที่เราพยายามที่จะสะสมเพื่อความมั่นคงของชีวิตอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน การลงทุน ชีวิตครอบครัว และเป็นวัยที่เริ่มได้รับผลของการกระทำจากช่วงที่ 3 เช่น ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การสะสมทรัพย์สินเพื่อความมั่นคงต่างๆ บางคนก็อยู่ที่เดิม บางคนก็ก้าวหน้า
ช่วงที่ 5 คือ อายุ 40-52 ปี เป็นช่วงตัดสินของชีวิตว่าจะไปต่อได้ดี ไปต่อแบบเรื่อยๆ หรือเริ่มร่วงโรย ช่วงนี้เป็นช่วงที่รับผลสะท้อนอย่างชัดเจนมากจากการทำตัวเองของช่วงที่ 3-4 ถ้าช่วงที่ 3-4 เราทำได้ดีพอช่วงที่ 5 เราก็จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วทั้งมั่นคงและมั่งคั่ง แต่ถ้าเราทำไม่ดีเอาไว้ในช่วงที่ 3 และช่วงที่ 4 ก็ไม่ปรับปรุงตัว ช่วงที่ 5 นี่แหละจะเป็นช่วงที่เราต้องใช้กรรมที่เราทำไว้อย่างแท้จริง
ช่วงที่ 6 คือ อายุ 50-62 ปี เป็นช่วงปลายชีวิตการทำงานของคนส่วนใหญ่เพราะเข้าสู่วัยของการเกษียณอย่างเป็นทางการ วัยนี้เป็นวัยที่เราจะเก็บเกี่ยวผลที่เราสร้างเอาไว้จากช่วงต้นของชีวิต บางคนสร้างเอาไว้ดีก็มีผลให้เก็บเกี่ยวเยอะ บางคนสร้างไว้ปานกลางก็พอมีพอกิน บางคนสร้างเอาไว้ไม่ดีก็ไม่ค่อยมีจะกินจนถึงไม่มีกินเลยก็ว่าได้
ช่วงที่ 7 คือ อายุ 60 ปีขึ้นไปจนตาย ช่วงนี้คือ ช่วงที่ชดใช้กรรมอย่างแท้จริง ใครทำอไรไว้ก็จะได้แบบนั้น ทั้งที่ดีและไม่ดี มาถึงช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มมองหาจุดยึดเกาะเพื่อให้บั่นปลายชีวิตของตัวเองมีความสุขที่สุด
ทีนี้เรามาเข้าเรื่องว่า ชีวิตการทำงานเริ่มตรงไหนดี
“เราควรเริ่มต้นที่วิธีคิดและทัศนคติที่เป็นบวก”
คือ ถ้าเรามีแนวคิดที่ดีและทัศนคติที่ดีเราก็จะไปได้ดี
ถ้าเอาจริงๆ แล้วเราควรจะเริ่มจากตอนเรียนที่ผู้ใหญ่มักจะบอกให้ “ตั้งใจเรียน” คำนี้เราควรตีความว่า “เรียนรู้” ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบได้เพราะการสอบได้ไม่ค่อยจะได้ผลที่ดีเท่าไรในชีวิตจริง แต่จากที่เล่ามาในช่วงชีวิตที่ 2 คือ การเป็นวัยรุ่นจะมีสักกี่คนกันที่จะมองเรื่องนี้ออกจึงขอข้ามขั้นนี้ไปเลย
เรามาเริ่มกันที่ว่า บางคนเรียนจบมาในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ไม่มีความรู้ในสิ่งที่เรียนมา และได้งานที่ไม่ตรงกับที่เรียนมา
เราควรเริ่มถามตัวเองว่า
ใช่งานที่เราอยากทำรึเปล่า
ถ้าทำงานนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะเป็นอะไร
ถ้าไม่ได้คำตอบ เราควรมองหางานใหม่ แต่ควรถามตัวเองให้ชัดๆ ว่า
เราอยากทำอะไร
สิ่งที่เราอยากทำ เรามีความรู้พอที่จะทำมันไหม
ถ้าตอบ 2 คำถามนี้ไม่ได้ ก็พยายามทำงานที่มีอยู่ให้ดีที่สุดแล้วหาคำตอบให้ได้ แล้วค่อยหางานใหม่ แต่ถ้ายังหาไม่เจอก็ให้มองว่า งานที่เราทำอยู่จะทำให้เราก้าวหน้าได้อย่างไรแล้วทำมันซะ
เวลาที่เราทำงานส่วนใหญ่ที่เคยเจอจะเป็นการทำไปวันๆ เพื่อให้มันผ่านไปเสมอ ขอเรียกมันว่า “การทำงานเพื่อรอพระอาทิตย์ตก” ที่เรียกอย่างนี้เพราะมี 2 ความหมาย
ความหมายแรก คือ ทำงานเพื่อให้ถึงเวลาพระอาทิตย์ตกจะได้กลับบ้าน ส่วนใหญ่จะหาความเจริญไม่ได้ เพราะความรู้ในงานของตัวเองก็ไม่ดี ทักษะในการทำงานก็ไม่พัฒนา
ความหมายที่ 2 คือ ทำงานไปเรื่อยๆ เพื่อบั้นนปลายของชีวิตจะได้ลำบากและอับแสงเหมือนตอนพระอาทิตย์ตกดิน
การทำงานไปวันๆ จะทำให้เกิด 2 แนวทาง คือ
แบบแรก แนวคิดและทัศนคติของเราคับแคบลงและมองโลกในแง่ลบ เพราะเมื่อไรที่มีคนแซงหน้าเราขึ้นไปเราจะเกิดความรู้สึกไม่พอใจและเริ่มอิจฉา เราจะเริ่มมองโลกในแง่ลบ และทวงถามหาความยุติธรรมในแบบของเรา
แบบที่ 2 แนวคิดที่เฉื่อยชา คือ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสิ่งรอบตัว ใครจะดีก็ดีไป ใครจะร้ายก็ร้ายไปไม่เกี่ยวกับฉัน ในที่สุดเราก็จะสร้าง Comfort Zone ที่จะหลบภัย ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ไม่อยากรับผิดชอบซึ่งจะส่งผลให้เราไม่ก้าวหน้าในการทำงาน
การที่เป็นทั้งสองแบบนี้มักจะเกิดขึ้นเสมอในการทำงานและมีคนจำนวนไม่น้อยที่พาตัวเองเข้าสู่วังวนนี้ มันเกิดจากแนวคิดและทัศนคติที่ไม่ถูกฝึกในทางบวก
มีคำถามง่ายๆ ว่า “หากเราเป็นเจ้าของกิจการเราจะจ้างคนแบบเราไหม?”
เรามาเริ่มจากที่เราจบใหม่แล้วหางานทำ จะทำอย่างไรกันดี
เขียน Resume โดยมองตัวเองว่า มีความรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่เรียนมา เราจะมาถือกันว่าสิ่งที่เราเรียนมาคือ สิ่งที่เราจะใช้ประกอบอาชีพของเรา เราเรียนอะไรมา ความรู้ที่เราเรียนมาทำอะไรได้บ้างและเราควรสมัครงานอะไร แล้วเริ่มเขียน Resume หรือประวัติย่อๆ ของเราที่ระบุตัวตนและการศึกษารวมถึงความสามารถในด้านต่างๆ ของเราที่คิดว่า คนอ่านจะสนใจเราที่สุด ซึ่งจะไปเล่าให้ฟังในตอนต่อๆ ไปว่าจะต้องเขียนอย่างไร
เลือกตำแหน่งงานที่จะทำ โดยเอาความรู้ที่เราเรียนมาแล้วหาความรู้ว่า เราควรทำงานตำแหน่งอะไร ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามกับคนที่ทำงานแล้วหลายๆ คนหรือจะหาอ่านจากที่ต่างๆ ว่าตำแหน่งต่างๆ ที่มีอยู่เขาทำอะไรกันบ้าง รับผิดชอบอะไร มีเนื้องานเป็นอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ของผู้จบการศึกษาใหม่จะไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าเขาทำงานกันอย่างไร ไม่เข้าใจกลไกของการทำงานว่ามีองค์ประกอบอะไร ซึ่งบางสถาบันมีรุ่นพี่ที่ไม่เคยทำงานมาคอยมโนให้ฟังว่า เราต้องทำงานอะไร ได้เงินเดือนเท่าไร ถ้าไม่ได้ราคานี้ไม่ต้องทำ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ค่อยถูกต้องเสียเป็นส่วนใหญ่ อยากจะบอกว่า รุ่นพี่ปวช. ปวส. จนถึงปริญาตรีที่ยังไม่ได้ทำงานหรือเพิ่งจบใหม่ๆ หลายๆ คนไม่มีความรู้ในอาชีพที่ตัวเองทำเลย แต่เอามโนคติมาปลูกฝังลูกน้องในทางผิดๆ สังเกตได้จาก พวกที่มักเล่าถึงงานสบายๆ รายได้เยอะ ขอบอกว่าไม่มีอยู่จริง กับอีกพวกที่มักจะเล่าแต่เรื่องร้ายๆ ในการทำงาน พวกนี้ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในโลกของความเป็นจริงไม่ได้
ขอเสริมนอกเรื่องสักนิด คือ ตอนที่เราเรียนในปีท้ายๆ จะมีการฝึกงานกับบริษัทต่างๆ ตามระเบียบของการศึกษา ให้ถามอาจารย์ที่เป็นคนดูแลเราว่า เราไปฝึกงานอะไรและจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้ความรู้ตามหลักสูตรที่เราเรียน และเมื่อไปถึงบริษัทให้คุยกับฝ่ายบุคคลและหัวหน้างานที่ดูแลเราว่า เราจะได้ทำอะไรบ้างและขอให้ตั้งใจใช้ความรู้ที่เราเรียนมากับการฝึกงานนั้น พร้อมทั้งดูว่าชีวิตการทำงานจริงๆ ในบริษัทเป็นอย่างไร ก็จะทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตเราในอนาคต
มองหาบริษัทที่อยากไปทำงาน เมื่อเรารู้ว่าเราจะสมัครงานในตำแหน่งอะไรแล้ว เราก็เริ่มมองหาบริษัทที่เราคิดว่าจะได้ใช้ความสามารถของเราในการทำงาน สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ เรามักจะมองหาบริษัทใหญ่ๆ ดังๆ ในความคิดของเราซึ่งเรามองว่ามันจะมั่นคง เช่น บริษัทโทรคมนาคมที่มีชื่อเสียง ธนาคารใหญ่หรือบริษัทใหญ่ๆ ระดับประเทศ ขอบอกว่า บริษัทเหล่านั้นมั่นคงแน่แต่เราสิจะมั่นคงหรือเปล่าไม่มั่นใจ เพราะบริษัทยิ่งใหญ่เหล่านั้นก็ต้องการคนที่มีความสามารถมากๆ ให้ถามตัวเองว่า เรามีรึเปล่า ถ้ามีและมั่นใจก็ลองดูได้ สรุปว่า ให้ทำความรู้จักกับบริษัทที่เราจะไปสมัครงานด้วยว่า เขาทำกิจการอะไร และเราจะเข้าไปทำอะไรได้บ้าง
ไปสมัครงาน เมื่อเราเลือกได้แล้วว่า เราอยากทำงานที่ไหน เลือกหลายๆ ที่ก็ได้แล้วก็ส่งเอกสารสมัครงานจามที่บริษัทเขากำหนดโดยส่ง Resume ที่เราเขียนไปแล้วรอเขาเรียกไปสอบสัมภาษณ์ ถ้าเราเขียนได้ดีพอก็จะเป็นที่น่าสนใจและจะถูกเรียกตัว แต่หากผ่านไปหลายเดือนแล้วยังไม่มีคนเรียกเราไป ก็แปลว่า สิ่งที่เราเขียนยังไม่น่าสนใจพอ ให้ลองเขียนใหม่
ไปสัมภาษณ์ เมื่อถูกเรียกตัวเพื่อไปสอบสัมภาษณ์ เราจะเตรียมตัวอย่างไรดี รายละเอียดในการสัมภาษณ์เราค่อยมาว่ากันในตอนต่อๆ ไป แต่ตอนนี้คร่าวๆ ก็คือ เราเป็นใคร มาจากไหน เรียนอะไรมา มีความรู้ความสามารถอะไรบ้าง สำหรับพวกที่คะแนนตอนเรียนไม่ค่อยดีก็จะเหนื่อยในการตอบคำถามสักหน่อยซึ่งอันนี้ก็เป็นผลกรรมที่เราทำไว้นั่นแหละ แต่ถ้าเราฉลาดที่จะตอบก็จะรอดตัวไปได้ ให้จำไว้เสมอว่า “อย่าตอบคำถามที่เราไม่เข้าใจ!” เพราะมักจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี อย่าคิดว่าตัวเองจะโง่เลยพยายามตอบโง่ๆ ออกไป ความจริงแล้วเราแค่ไม่รู้หรือแค่ไม่เข้าใจเท่านั้นเอง อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำคือ “อวดฉลาด” ให้รู้ไว้ว่าเราเพิ่งจบใหม่ ไม่ได้รู้ทุกสิ่งบนโลกนี้ เรารู้เฉพาะสิ่งที่เราเรียนมา คนสัมภาษณ์จะเข้าใจ ดังนั้นถ้าไม่รู้ก็ให้ตอบว่า “ไม่รู้”
เมื่อได้งานทำ ให้ตั้งใจทำงานเพราะโดยส่วนใหญ่ที่เจอคือ “ตอนที่สมัครงานเราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เขารับเราเข้าทำงาน แต่เมื่อได้งานทำแล้วเราก็พยายามทำทุกอย่างที่เขาจะไล่เราออกจากงานเสมอ” ให้เข้าใจตรงกันว่า ประเทศไทยมีเวลาทดลองงาน 4 เดือนเพื่อที่เขาจะเลือกว่าจะบรรจุเราเข้าเป็นพนักงานประจำ และในทางกลับกันเราเองก็มีเวลา 4 เดือนเหมือนกันที่จะเลือกว่าเราชอบที่จะทำงานที่นี่ไหม จงใช้เวลา 4 เดือนนี้ให้ดีที่สุดที่จะเป็นผู้เลือกไม่ใช่ผู้ถูกเลือก เพราะมันจะเป็นก้าวแรกที่เราจะกำหนดชีวิตของเราเอง
ตั้งเป้าหมายของการทำงาน หากเราย้อนกับไปตอนต้นที่เล่ามาให้เรากำหนดย้อนกลับจากช่วงชีวิตที่ 7 ไปหาช่วงที่ 3 แล้วตั้งเป้าว่า บั่นปลายของชีวิตเราจะเป็นอะไร ส่วนใหญ่พอเล่าถึงตอนนี้คนที่เพิ่งจบใหม่มักจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แค่จะเอาชีวิตตอนนี้ให้รอดยังเป็นเรื่องยากจะให้ไปคิดอะไรถึงตอนแก่ ถึงจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกแต่ก็ไม่ผิด เรามาเจอกันตรงกลางก็ได้ งั้นให้นึกว่าอีก 5 ปีเราจะเป็นอย่างไรให้ตั้งเป้าระยะสั้นไว้ทุกๆ 5 ปีก็แล้วกัน สิ่งที่ควรจะคิดถึงก็คือ ตำแหน่งความก้าวหน้าในการทำงาน ความรู้ความสามารถที่จะต้องมีโดยหากจะเอาเงินเดือนหรือรายรับมาเป็นตัวกำหนดก็ให้หาให้เจอว่า คนเงินเดือนห้าหมื่น เงินเดือนเป็นแสนเขาทำอะไรและรับผิดชอบอะไร แล้วเราทำได้ไหม เวลามีปัญหาเกิดขึ้นให้ศึกษาวิธีที่เขาคิดแล้วลองคิดตามว่า ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น
คร่าวๆ ของการเริ่มต้นชีวิตการทำงานก็เอาไว้เท่านี้ก่อน ในตอนต่อๆ ไปจะค่อยๆ เล่าถึงชีวิตการทำงานว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง