ข่าว
ทิสโก้เชียร์ วางแผนภาษีให้คุ้มด้วย ‘ประกันบำนาญ’ ชี้ช่วยปิดความเสี่ยงอายุยืนไร้เงินใช้
ธนาคารทิสโก้แนะลูกค้าวางแผนภาษีโค้งสุดท้ายปี 2567 ด้วยประกันบำนาญ ชี้เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยปิดความเสี่ยง ‘อายุยืนแต่ไร้เงินใช้’ พร้อมเปิด 5 ทริกเลือกประกันบำนาญให้มีความคุ้มครองที่คุ้มค่า
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เทรนด์สังคมผู้สูงอายุของไทย ที่ไม่เพียงแต่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แต่ผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มที่มีอายุขัยยืนยาวมากขึ้นโดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ* พบว่า ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ปี และจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 4.4 เดือน ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้คาดการณ์ว่าคนไทยที่เกิดตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะมีอายุยืนถึง 100 ปี ดังนั้น การวางแผนการเงินเพื่อใช้หลังเกษียณจึงมีความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Longevity Risk” หรือ ความเสี่ยงจากการที่คนมีอายุยืนยาวขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
จากความเสี่ยงดังกล่าวธนาคารทิสโก้แนะนำให้ลูกค้าและคนไทยใช้ ‘ประกันบำนาญ’ เพื่อปิดความเสี่ยงอายุยืนแต่ไร้เงินใช้ เพราะเป็นอีกเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่ผู้วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณสามารถสร้างกระแสเงินสดผ่านเงินบำนาญให้ผู้เอาประกันในขณะมีชีวิตอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุ 60 – 99 ปี ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับก็จะไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจเหมือนการลงทุนประเภทอื่น จึงช่วยให้ผู้ซื้อประกันมีหลักประกันชีวิต นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดีเป็นผลประโยชน์ขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) อีกทั้งยังสามารถนำค่าเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงอีกด้วย
“ประกันบำนาญเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ และควรเริ่มซื้อตั้งแต่อายุน้อยเพราะช่วยให้ค่าเบี้ยประกันที่จ่ายต่อปีก็จะน้อยกว่าเมื่อซื้อช่วงที่อายุมากแล้ว นอกจากนี้ ประกันบำนาญยังเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยบริหารจัดการภาษีช่วงปลายปี นอกจากการลงทุนลดหย่อนภาษีในรูปแบบ RMF, SSF และ THAIESGโดยผู้ซื้อประกันบำนาญสามารถนำค่าเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี หรืออาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาทต่อปี กรณีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด” นายณัฐกฤติกล่าว
สำหรับเทคนิคการเลือกประกันบำนาญให้มีความคุ้มครองที่คุ้มค่า มีดังนี้
- ควรเลือกประกันบำนาญที่จ่ายเงินบำนาญที่ยาวนาน เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลประโยชน์ที่คุ้มค่า โดยอาจเลือกประกันบำนาญที่จ่ายเงินบำนาญนานไปจนถึงอายุ 99 ปี เพื่อตอบโจทย์ที่คนไทยมีโอกาสอายุยืนยาวมากกว่าในอดีต
- ควรเลือกกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาการจ่ายเบี้ยประกันสั้น เพราะให้ความคุ้มค่ามากกว่ากรมธรรม์ที่จ่ายเบี้ยระยะยาว เช่น ประกันบำนาญที่ชำระค่าเบี้ยประกันแบบ 5 ปี จะมีค่าเบี้ยประกันรวมต่ำกว่าประกันบำนาญที่ชำระค่าเบี้ยประกันแบบ 10 ปี เมื่อเทียบความคุ้มครองและการรับเงินบำนาญเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน
- ควรเลือกกรมธรรม์ที่จ่ายเงินบำนาญแต่ละปีให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต โดยปัจจุบันการรับเงินบำนาญแต่ละปีมีให้เลือกหลากหลาย เช่น แบบเงินรับบำนาญทุกปี ปีละ 15% 20% 36% ของจำนวนเงินเอาประกัน สำหรับวิธีคำนวณหาจำนวนเงินเอาประกันภัย (ทุนประกัน) ที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตหลังเกษียณอายุให้คล้ายกับตอนทำงาน เบื้องต้นแนะนำให้ท่านประเมินหาค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือน โดยอัตราที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ณ วันก่อนเกษียณ โดยที่ประมาณ 75% นั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ เป็นต้น ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายตาม Lifestyle เช่น การท่องเที่ยว การบริจาคทำบุญ และการลงทุนต่างๆ
- เลือกแบบประกันบำนาญที่จ่ายเงินให้สูงกว่าในกรณีเสียชีวิตก่อนรับบำนาญ เนื่องจากเงินที่ได้รับในกรณีเสียชีวิตก่อนรับบำนาญของแต่ละแบบประกันอาจไม่เท่ากัน เช่น หากเสียชีวิตก่อนรับเงินบำนาญ จะได้รับเงินทั้งหมด 105% หรือ 110% ของเบี้ยประกันภัยที่ชำระมาแล้วทั้งหมด เป็นต้น
- ควรเลือกบริษัทผู้รับประกันที่มีความมั่นคง โดยพิจารณาจากบริษัทมีเงินสำรองประกันภัยและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเป็นประกันบำนาญเป็นประกันที่มีระยะยาว
——
*ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564