ข่าว
ดีเอชแอล ประกาศ “กลยุทธ์ 2030” หนุนเศรษฐกิจไทยผ่านการขนส่ง-โลจิสติกส์-ศูนย์กลางของภูมิภาค

สำนักข่าวบริคอินโฟ – ดีเอชแอล (DHL) ได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยบริษัทฯ มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
DHL ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ พร้อมสนับสนุนศักยภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย “กลยุทธ์ 2030” ผ่านความร่วมมือของ 4 หน่วยธุรกิจที่ดำเนินงานในประเทศไทย ประกอบด้วย ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ (DHL eCommerce), ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส (DHL Express), ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง (DHL Global Forwarding) และดีเอชแอล ซัพพลายเชน (DHL Supply Chain) ประกาศความพร้อมสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยผ่าน “กลยุทธ์ 2030” ยกระดับการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรและยั่งยืนแก่องค์กรธุรกิจทุกขนาด
ทั้งนี้ ดีเอชแอล (DHL) มีความพร้อมในการสนับสนุนการเติบโตของประเทศไทยด้วยการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีหน่วยธุรกิจที่ให้บริการโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง DHL eCommerce, DHL Express, DHL Global Forwarding และ DHL Supply Chain เพื่อสนับสนุนธุรกิจไทยให้เข้าถึงเครือข่ายและโซลูชันระดับโลก
เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทยและหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน ระบุว่า ธุรกิจของ DHL จากจุดเริ่มต้นจาก ไปรษณีย์เยอรมัน (Deutsche Post) และก้าวขึ้นสู่ผู้ให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ในฐานะ DHL ดังนั้นวันนี้ DHL จึงประกาศแผนการดำเนินธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเป้าหมายสูงสุด คือ เป็นผู้ให้บริการที่เป็นตัวเลือกให้ผู้ใช้ , เป็นนายจ้างที่เป็นตัวเลือกให้ผู้ถูกจ้างทำงานอย่างมีความสุข , การเป็นธุรกิจที่เป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน และ เป็นตัวเลือกสำหรับการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคตที่ทุกคนเลือกใช้ เช่น การพัฒนาน้ำมันเครื่องบินสีเขียว (SAF) ที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า สูตรน้ำมันปกติ

DHL Express เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ด่วนระหว่างประเทศรายแรกในประเทศไทยที่นำจักรยานยนต์ไฟฟ้าและ EV มาใช้ โดยปัจจุบันมี EV มากกว่า 50 คัน หรือคิดเป็น 21% ของยานพาหนะทั้งหมด นอกจากนี้ DHL Express ยังสนับสนุนให้ลูกค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF)
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและ DHL เข้าไปมีส่วนทำให้เติบโตคือ แบรนด์ไทย Gentle Women ที่พบว่าผู้ซื้อส่วนหนึ่งเป็นต่างชาติ ดังนั้นการส่งสินค้าแฟชั่นจากไทยไปยังลูกค้าในประเทศต่าง ๆ ด้วยมาตรฐานที่ดีและขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เช่น การส่งรถเข้าไปรับพัสดุจากโกดังตามคำสั่งของลูดค้าได้อย่างแม่นยำ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง DHL ประเทศไทยก็พร้อมที่จะสนับสนุนในส่วนนี้” เฮอร์เบิต กล่าว
DHL Express ประกอบด้วยศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค (regional hub) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ศูนย์บริการ 15 แห่ง และจุดให้บริการทั้งที่เป็นเจ้าของเองและผ่านพันธมิตร 131 แห่ง ทั้งหมดนี้รองรับการจัดส่งด่วนระหว่างประเทศแบบถึงมือผู้รับ มีเครื่องบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้บริการ 85 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยศูนย์บริการทั้งหมด 100% ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานหมุนเวียน
เทรนด์โลกหลังจากนี้ พบว่ามีปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของแรงงานที่ต้องพัฒนามากขึ้น , การเข้ามาของโลกดิจิทัลในชีวิตประจำวัน , สภาพภูมิอากาศ-ภาวะโลกร้อน , การเข้ามาของอี-คอมเมิร์ซ และการติดต่อค้าขายในระดับโลก ซึ่งเทรนด์เหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายที่ธุรกิจต่างๆโดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ อย่าง DHL ต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือ
ขณะเดียวกันเมื่อพูดถึง AI เฮอร์เบิต ระบุว่า AI มีการพูดถึง-ศึกษาและนำมาปรับใช้กว่า 40 ปีแล้ว แต่มันเพิ่งมาได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่ LLM (อย่าง ChatGPT) เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา DHL ก็มีการปรับใช้ AI ในการบริการมากขึ้น เช่น การรับฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้าในเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำแล้วใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลแล้วนำมาปรับแก้ เป็นต้น
ขณะที่สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดการณ์ได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องกำแพงภาษีของแต่ละประเทศ สำหรับ DHL นับว่าไม่น่าเป็นห่วงเพราะเรื่องภาษีเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกและนำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบ และ DHL เป็นผู้ทำหน้าที่เก็บภาษีตามมาตรการภาษีของแต่ละประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์จึงไม่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของ DHL ซึ่งที่ผ่านมาภาษีนำเข้าสิ่งค้าใหม่ของไทย บริษัทก็มีการปรับรับอย่างรวดเร็วได้ ดังนั้นไม่ว่าแต่ละประเทศจะปรับมาตรการอย่างไร เราก็พร้อมให้บริการ

วินเซนท์ ยัง กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง ประเทศไทย ระบุว่า DHL Global Forwarding เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ใช้บริการพื้นที่ขนส่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของบริษัท เช่น พื้นที่ใต้เครื่องบินพาณิชย์และเรือ เพื่อขนส่งพัสดุไปยังทั่วโลก ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์และการขนส่งให้สอดคล้องเป้าหมายของบริษัทได้ เช่น การเลือกใช้เที่ยวบินที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการเลือกใช้ EV โดยคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 85,000 กิโลกรัมต่อปี
นอกจากการให้บริการขนส่งแล้ว DHL Global Forwarding ยังช่วยผู้ใช้ในการเข้าใจกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการนำเข้าและจัดเตรียมพัสดุที่ต้องการได้
ปัจจุบัน DHL Global Forwarding มีสำนักงาน 7 แห่ง และคลังสินค้า 3 แห่ง รวมพื้นที่ 8,480 ตารางเมตรทั่วประเทศไทย ให้บริการลูกค้ากว่า 2,000 ราย ศูนย์ DHL International Multimodal Hub แห่งใหม่เป็นการลงทุนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค
ศูนย์นี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการขนส่ง โดยช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบการขนส่งต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น และลดความซับซ้อนของพิธีการศุลกากรในจุดเดียว นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์เชื่อมต่อที่สำคัญให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เช่น สปป.ลาว
“ที่ผ่านมาเราเห็นการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และยานยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งการที่ประเทศไทยประกาศแผนนโยบายต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคนี้ นับว่าต้องใช้การขนส่ง-โลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากพอด้วย DHL ตั้งเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ได้ 30% ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573”
“ในอนาคตถ้าผมซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ผมก็อยากเห็นว่ามัน Made in Thailand” วินเซนท์ ยัง กล่าว
สตีฟ วอล์กเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอชแอล ซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบัน DHL Supply Chain เป็นบริการบริหารจัดการพื้นที่คลังสินค้า ที่ปัจจุบันบริหารพื้นที่กว่า 678,000 ตารางเมตร ครอบคลุมมากกว่า 70 แห่ง รวมถึงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยเครือข่ายการขนส่งที่ครอบคลุมทำให้บริษัทสามารถจัดการการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยรถขนส่งกว่า 4,800 คัน ปัจจุบันบริษัทกำลังลงทุนพัฒนาคลังสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีแผนขยายการใช้รถขนส่งไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้น 300% ในอีกสามปีข้างหน้า
DHL Supply Chain นำรถ EV กว่า 30 คัน มาใช้ในการขนส่งสินค้า โดยร่วมมือกับลูกค้าในภาคธุรกิจค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค และยานยนต์ นอกจากนี้ ยังฝึกอบรมพนักงานให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน GoGreen และวางแผนที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในคลังสินค้าแห่งแรกในปี พ.ศ. 2568
“เรามองเห็นว่าประเทศไทยกำลังเติบโต โดยเฉพาะในโลกของอุตสาหกรรม EV และในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ดังนั้นเราอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการเติบโตนี้ให้เกิดขึ้นจริงและอยู่เคียงคู่คนไทย”
เกียรติชัย พิตรปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า DHL eCommerce เป็นภาคธุรกิจที่ให้บริการขนส่งพัสดุขนาดเล็ก ไม่เกิน 50 กิโลกรัม โดยให้บริการทั้ง B2B , B2C รวมถึงการส่งพัสดุจากคลังสินค้าไปยังสาขาต่าง ๆ ปัจจุบันมียานยนต์ส่งพัสดุราว 2,000 คัน ทำให้ครอบคลุมการจัดส่งวันต่อวันถึง 97% ของประเทศประไทย และการส่งตรงเวลา-ตีกลับอยู่ที่ 2% เท่านั้น
ภาคอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 ล้านพัสดุต่อปี โดยสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-commerce Association) คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตจาก 26,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เป็น 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 ซึ่งสะท้อนอัตราการเติบโตที่ประมาณ 21% ในช่วงสองปี เทียบเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ประมาณ 10%
ปัจจุบัน DHL eCommerce ได้นำ EV มาใช้ในการขนส่งในกรุงเทพฯ และมีแผนที่จะใช้รถบรรทุกไฟฟ้าสำหรับการขนส่งระยะสั้นในไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2568 นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนยานพาหนะขนส่งปลายทางในกรุงเทพฯ ให้เป็น EV จำนวน 50% ภายในระยะเวลาสองปี