Connect with us

การศึกษา

มจธ. ผสาน AI และเกม พัฒนาหุ่นยนต์กายภาพบำบัดขา หนุนฟื้นฟูผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง

Published

on

มจธ. คิดค้นหุ่นยนต์กายภาพบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผสานปัญญาประดิษฐ์และเกม ช่วยให้การฟื้นฟูแม่นยำ สนุก มีประสิทธิภาพ รองรับสังคมผู้สูงอายุ

สำนักข่าวบริคอินโฟ – ทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้พัฒนา หุ่นยนต์ต้นแบบช่วยกายภาพบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขา โดยนำเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเกมเข้ามาบูรณาการ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ ความสนุก และประสิทธิภาพในการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วย

เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (ALS – Amyotrophic Lateral Sclerosis) และ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไมแอสทีเนียเกรวิส (MG – Myasthenia Gravis) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การกายภาพบำบัดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านร่างกาย จิตใจ และความเบื่อหน่าย อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้อย่างต่อเนื่อง

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดร.ปฏิยุทธ พรามแก้ว หัวหน้าโครงการ จาก โครงการร่วมบริหารหลักสูตรฯ (มีเดีย) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิตาภรณ์ กนกรัตน คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มหศักดิ์ เกตุฉ่ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ชูเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และ ดร.วรวุทธิ์ ยิ้มแย้ม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จึงได้ร่วมกันพัฒนา “หุ่นยนต์ต้นแบบช่วยกายภาพบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และเกม” โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์และบุคลากรจาก โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ในการให้ข้อมูลเชิงลึก

ดร.ปฏิยุทธ กล่าวถึงหลักการทำงานของหุ่นยนต์ต้นแบบว่า ประกอบด้วยสองส่วนหลักคือ “อุปกรณ์กายภาพบำบัดที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ สามารถปรับน้ำหนัก แรงต้าน และตำแหน่งให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย และระบบเกมแบบจำลองสถานการณ์ (Simulation Game) ที่ใช้การขยับกล้ามเนื้อขาเพื่อควบคุมการดำเนินภารกิจในเกม ซึ่งได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ ผสานกับการใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการติดตาม วิเคราะห์ และปรับระดับความยากง่ายของกิจกรรมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้ป่วยแต่ละคน”

Advertisement

ผศ.ดร. ฐิตาภรณ์ เสริมว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบนี้ “ไม่เพียงสร้างผลลัพธ์ทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเชิงสังคมและอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ความสามารถในการต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ การนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟู ชุมชนผู้สูงอายุ รวมถึงการใช้งานภายในครัวเรือน”

ผลงานวิจัยนี้ได้รับ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2568

ในอนาคต ทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาอุปกรณ์และระบบเกมให้สามารถใช้งานกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ที่มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ต้องการฟื้นฟูการเคลื่อนไหว โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงในวงกว้าง

ดร.ปฏิยุทธ กล่าวทิ้งท้ายว่า “หัวใจสำคัญของงานวิจัยตัวนี้คือ การทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาดูแลชีวิตของตัวเองได้ เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเสริมทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งด้วยความต้องการของตัวเอง”

Advertisement