บทความ
รู้รอบแต่ไม่ลึก VS รู้ลึกแต่ไม่รอบ : เก่งแบบเป็ดก็ไม่ได้แย่ แต่ต้องอยู่ให้เป็น
“เป็ด” คำที่หลายคนคุ้นเคยกับการนิยมยามใครก็ตามที่ “ทำอะไรได้หลายอย่าง” แต่ “ไม่เก่ง” สักอย่าง เปรียบเสมือนเป็ด ที่เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้ บินได้ เดินได้ แต่ไม่ได้เจ๋ง เมื่อเทียบกับสัตว์ส่วนใหญ่ที่มักมีทักษะเฉพาะที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียวแต่เป็นเลิศ
โดย : ปณิดดา เกษมจันทโชติ
บริบทของคำว่าเป็ด ณ ทีนี้ในทางจิตวิทยาเรียกว่า “Multipotentialite” หมายถึงคนที่สนใจ หรือทำได้หลายอย่าง แต่ไม่ได้ถึงขั้นเชี่ยวชาญ
ทว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เป็นเป็ด เป็น Multipotentialite หรือเปล่า แต่ปัญหาอยู่ที่กรอบทางความคิดของสังคมยุคหนึ่งที่ตราหน้าความสนใจแบบเป็ดๆ ว่าไม่ดีเท่ากับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การเปรียบเทียบลักษณะนี้ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึง และแทรกซึมในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่ตกลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้ ว่า…ท้ายที่สุดแล้วการทำได้หลายอย่างแต่ไม่ใช่ที่สุด กับเชี่ยวชาญอย่างใดอย่างหนึ่งสุดๆ เพียงอย่างเดียว แบบไหนดีกว่ากัน?
สิ่งที่น่ากังวลกว่าการหาคำตอบ คือผลกระทบด้านความรู้สึกของกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็น “เป็ด” จนนำไปสู่ความกดดัน ความเครียด จนปฏิเสธไม่ได้ว่ามันกลายเป็นหนึ่งสาเหตุของการภาวะซึมเศร้าได้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เนื้อหาส่วนหนึ่งของเพลง “Duck’s Dream (เป็ด)” จาก Melt Mallow กล่าวถึงเรื่องราวของคนกลุ่มคนที่เป็นเป็ดที่มักจะถูกสังคมตัดสินไปแล้วว่าเป็ด ไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ รู้สึกน้อยใจ กดดัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้า
สะท้อนจากเนื้อหาที่ว่า “เขาเตือนมา Don’t be เป็ด ถ้าอยากประสบความสำเร็จ ต่อให้ทำได้หลายอย่าง แต่ไม่สุดสักท้าย…ก็ไม่มีใครเค้าต้องการหรอกนะ”
ขณะที่ช่วงท้ายเพลงพยายามจะสื่อสารในเชิงให้กำลังใจว่าการเป็น “เป็ด” ไม่ได้แย่เสมอไป อย่างเนื้อหาช่วงท้ายที่ว่า “เจ้าเป็ดน้อย อย่าน้อยใจตัวเองได้ไหม บินสูงตามที่ต้องการ ว่ายน้ำได้ตามหัวใจ ไม่เป็นไร นั่นแหละดี” และ “เจ้าเป็ดน้อย จงชื่นชมตัวเองได้ไหม เมื่อปลายังบินไม่ได้ ลงน้ำนกก็ไม่ไป จะเทียบกับใครเขาทำไม”
หากหันกลับมามองในบริบทของโลกการทำงานในความเป็นจริง กรอบความเชื่อแบ่งขั้วระหว่างการทำงานแบบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือความพยายามเรียนรู้หลาย ๆ ด้านแบบเป็ด ต่างมีข้อดีและข้อด้อยด้วยกันทั้งนั้น
ข้อดีของการทำงานแบบเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รู้ลึก รู้จริงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรหรือตัวเองได้อย่างตรงจุด มีเป้าหมายที่ชัดเจนมากๆ ซึ่งอาจเป็นที่ต้องการขององค์กรที่ต้องการทักษะทางวิชาชีพ (Hard Skill) หรือต้องการทักษะเฉพาะทางมากเป็นพิเศษ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ค้นหาตัวเองเจอแล้ว
ขณะเดียวกัน สำหรับบางคนที่ยังไม่เจอทางที่ใช่ ยังอยู่ระหว่างการค้นหาตัวเอง หรือแม้แต่คนที่ชอบศึกษา อะไรแปลกใหม่ตลอดเวลาแบบเป็ด ก็มีข้อดีที่ต่างออกไป คือสามารถต่อยอดไปสู่ทักษะหลากหลายด้าน (Multi Skill) ซึ่งคุณสมบัตินี้อาจเป็นที่ต้องการสำหรับการทำงานในยุคใหม่
สะท้อนจากการสัมภาษณ์ เวโรจน์ ลิ้มจรูญ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำงานในยุคดิจิทัลไว้ว่า “ท้ายที่สุดโลกของธุรกิจต้องการคนที่มี Multi Skill ความถนัดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางรอดของคนทำงานในยุคนี้อีกต่อไป”
พร้อมอธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้างาน หรือเด็กจบใหม่ก็ต้องพัฒนาตัวเองไปสู่ทักษะที่หลากหลายหรือ Multi Skill กันทั้งนั้น เพราะโลกดิสรัปชันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ทุกชั่ววินาที และคาดเดาได้ยาก ทักษะการทำงานที่รอบด้านและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมจึงจำเป็นสำหรับการทำงานยุคใหม่
“น้อง ๆ รุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญกับการบริหารเวลาในการพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น บริษัทต้องการมัลติสกิลแม้ไม่ใช่สกิลที่ยิ่งใหญ่ แต่สามารถปรับตัวได้ เติบโตได้ และทำงานอย่างมีความสุข การทำงานยุคใหม่จะต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ปราดเปรียว เตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์” เวโรจน์ กล่าว
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะบิน วิ่ง ว่ายน้ำ แบบ “เป็ด” หรือ บินโฉบเก่งแบบ “เหยี่ยว” ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและคนอื่นได้ด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และตัวตนของแต่ละคน
คำตอบของคำถามที่ว่า แบบไหนดีกว่ากัน จึงยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ เพราะท้ายที่สุดแล้ว “คุณ” คือคนเพียงคนเดียวที่ตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่คุณอยากทำ เพื่อไปถึงเป้าหมายที่คุณอยากเป็น
ฉะนั้น การค่อยๆ หาตัวตนของเองให้เจอ แล้วเรียนรู้และพัฒนาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตอย่างมีจุดหมาย น่าจะเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะในโลกการทำงานที่เต็มไปด้วยดิจิทัล ดิสรัปชัน ไม่ได้สนใจแค่ “คุณทำอะไรได้บ้าง” แต่สนใจว่า “คุณจะปรับตัวและพัฒนาต่อไปอย่างไรได้บ้าง”