ข่าว
บ้านปู ผลประกอบการ 67 แม้ขาดทุน แต่ “สินนท์” มั่นใจยังมีโอกาสโต

บ้านปูฯ เน้น 4 กลยุทธ์ “Energy Symphonics” ปี 68 ท่ามกลางผลขาดทุนสุทธิ 23.67 ล้านเหรียญสหรัฐ มุ่งเพิ่มเงินสด บริหารพอร์ต รักษาวินัยการเงิน
สำนักข่าวบริคอินโฟ – บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ประกาศแผนขับเคลื่อนกลยุทธ์ “Energy Symphonics” ในปี 2568 โดยมุ่งเน้น 4 แนวทางหลัก ได้แก่ การเพิ่มกระแสเงินสด การบริหารโครงสร้างเงินทุน การบริหารพอร์ตโฟลิโอ และการรักษาวินัยทางการเงิน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมพลังงานโลก ท่ามกลางรายงานผลประกอบการปี 2567 ที่บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 23.67 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 682.42 ล้านบาท)
- อ่าน : เมื่อโลกเกิดภัยพิบัติ เจาะลึกบทบาทผู้ผลิตไฟฟ้า กับการส่งมอบพลังงานที่มั่นคงและต่อเนื่อง
- อ่าน : บ้านปู ปั้นทีม Digital and Innovation ทรานส์ฟอร์ม “บุคลากร-องค์กร” รับโลกธุรกิจยุคดิจิทัล
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราประเมินกระแสการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อทิศทางด้านพลังงานของโลกอย่างรอบด้าน รวมถึงนโยบายและแผนพลังงานในประเทศยุทธศาสตร์ ในปีนี้เรามุ่งเน้นการจัดสรรเงินทุนไปยังสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงและการปรับโครงสร้างอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอย่างสมดุลที่สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน เราเชื่อมั่นว่ากลยุทธ์ Energy Symphonics จะทำให้บ้านปูเป็นบริษัทพลังงานที่แตกต่างที่เป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างยั่งยืน”
จากการคาดการณ์และวิเคราะห์เทรนต่างๆบนโลกปัจจุบัน พบว่าสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ของประธานาธิบดีสหรัฐใน โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงาน ขณะเดียวกันการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์และศูนย์ข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความต้องการการใช้งานเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องของการรักโลกและพลังงานสีเขียวก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนโยบาย American First ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธารธิบดีสหรัฐ นายสินนท์ มองว่า เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายรัฐบาลต่างประเทศ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาและเตรียมตังรับมือ แต่ส่วนตัวมองว่าบ้านปูกระจายความเสี่ยงไว้ได้ดีพอสมควร ซึ่งสำหรับสหรัฐก็ยังคงเป็นตลาดที่มีปัจจัยบวกมากอยู่
บริษัทฯ วางแผนที่จะเพิ่มกระแสเงินสดผ่านการดำเนินงานและการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้ในการลดต้นทุนในธุรกิจเหมือง รวมถึงการบริหารโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของธุรกิจ การบริหารพอร์ตโฟลิโอจะมุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนระยะยาว เช่น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ และการบริหารจัดสรรเงินทุนอย่างมีวินัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้น
ในปี 2568 ธุรกิจก๊าซธรรมชาติจะเน้นการเติบโตเชิงกลยุทธ์ทั้งธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำ โดยจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ราคาก๊าซ ธุรกิจเหมืองจะมุ่งนำ AI และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดคาร์บอนผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียนและระบบการจัดการอัจฉริยะ ในขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า ตั้งเป้าลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมอีก 1,500 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะในประเทศยุทธศาสตร์ และธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน เน้นลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่จะเสริมการทำงานระหว่างระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) และซอฟต์แวร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อสนับสนุนให้พลังงานหมุนเวียนมีความต่อเนื่องยิ่งขึ้น
สรุปผลประกอบการปี 2567 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
- รายได้จากการขายรวม 5,148 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 181,549 ล้านบาท)
- กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 1,330 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 46,970 ล้านบาท) ลดลงจากปี 2566 ที่ 1,487 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลมาจากราคาต้นทุนในการผลิตพลังงานลดลง
- กำไรจากการดำเนินงาน 83.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,964 ล้านบาท)
- ผลขาดทุนสุทธิ 23.67 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 682.42 ล้านบาท) ซึ่งเป็นผลกระทบจากการด้อยค่าเงินลงทุนจากการขายสัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้านาโกโซ ในประเทศญี่ปุ่น และการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินบาท ในวันปิดปีงบประมาณ


โดย บ้านปู มีความคืบหน้าที่สำคัญในปีที่ผ่านมา ได้แก่
- การเสนอขายหุ้น IPO ของ BKV Corporation (BKV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปูในสหรัฐฯ ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE)
- การขายสัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้านาโกโซ ในประเทศญี่ปุ่น
- การได้รับเงินสนับสนุน (Subsidy) จากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ในการพัฒนาโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มแห่งใหม่ 2 โครงการ ในญี่ปุ่น ได้แก่ โครงการ Aizu (ไอสี) และโครงการ Tsuno (ซีโนะ) กำลังการผลิตรวม 208 เมกะวัตต์ชั่วโมง ที่คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2/2571
- การพัฒนาโครงการ CCUS ของ BKV ที่ชื่อว่าโครงการ Eagle Ford (อีเกิ้ลฟอร์ด) ซึ่งคาดว่าจะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 90,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างสมบูรณ์ในไตรมาส 1/2569