ข่าว
เที่ยวตรัง ต้องแวะ! ชุมชน “บ้านน้ำราบ” กินปูได้ทั้งปี พร้อมได้ดูทะเลแหวก-เกาะรูปหัวใจ

ผู้สื่อข่าว : สุนิภา หนองตรุด ผู้สื่อข่าวตรัง
ตรัง สุดว้าว บ้านน้ำราบกินปูได้ทั้งปีที่นี่เดียว เพราะชุมชนต่อยอดด้วยการทำธนาคารปูม้าและไข่หมึก ดึงดูดนักท่องเที่ยวจูงมือครอบครัวนั่งเรือ และล่องแพปล่อยหมึกและปล่อยปูลงกลับคืนสู่ทะเล และล่องเรือไปปลูกป่าโกงกางเกาะรูปหัวใจด้วยการนำฝักโกงกางปักลงบนพื้นป่าชายเลน แล้วก็ยังพบเห็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กตัวน้อยเจ้าปูเสฉวนอวดเดินเล่นใต้น้ำจำนวนมาก จากนั้นล่องเรือไปชมทะเลแหวกรูปร่างคล้ายสันหลังมังกรเผือกและในช่วงน้ำตายจะมองเห็นทะเลแหวกเป็นรูปหัวใจ เสมือนหัวใจมังกรอยู่กลางทะเล หาดทรายขาวเหมือนแป้งฝุ่น น้ำใสเหมือนกระจก และพักเที่ยงด้วยการรับประทานอาหารทะเลสดจากฝีมือชาวบ้าน ที่มีทั้งแกงส้มปลากะพง เนื้อปูม้าสด กุ้ง หอย ปู ปลา น้ำจิ้มซีฟู้ด ต่อมาเมื่ออิ่มแล้ว ก็ล่องเรือไปชมเขาจมป่า และถ่ายรูปกับอุโมงค์ป่าโกงกาง สูดอากาศบริสุทธ์ แวะชมถ้ำเขาตีนแรดที่พบว่าภายในถ้ำมีหินคล้ายรูปลูกช้าง โดยใช้ระยะเวลา 3-4 ชม. “ เที่ยวแล้วประทับใจได้ความสุขและอิ่มบุญ ” ด้านผอ.ททท.สำนักงานตรัง เผยนักท่องเที่ยวชื่นชอบการเที่ยวแนววิถีชุมชนและกิจกรรมCSR ด้านการท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แม้กำลังจ่ายยังลดลง เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มฟื้นตัว
“บ้านน้ำราบ” เป็นชุมชนริมชายฝั่งตั้งอยู่ที่ ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง เดิมชุมชนแห่งนี้ชื่อ “บ้านน้ำรอบ” เพราะมีสายน้ำล้อมรอบอยู่ทุกทิศทาง ก่อนที่ต่อมาจะเรียกเพี้ยนเปลี่ยนเป็น “บ้านน้ำราบ” มาจนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก โดยที่แห่งนี้กลายเป็นวิสาหกิจการท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำราบ เมื่อปี 2557
จนทำในปัจจุบันบ้านน้ำราบมีความขึ้นชื่อในเรื่องด้านการท่องเที่ยวล่องแพ กินปู ดูเขา ที่ยังคงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนกันมาเที่ยวอย่างไม่ขาดสายและยังได้มีการต่อยอดด้วยการทำธนาคารปูม้า และธนาคารไข่หมึก ซึ่งเกิดโดยการรวมตัวกันของชุมชนประมงพื้นบ้านปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 200 คน นำโดยนายกมล บุญนวน ประธานวิสาหกิจชุมชนล่องแพบ้านน้ำราบ เพื่อต้องการให้ที่แห่งนี้ กลายเป็นแหล่งกินปู ได้ทั้งปีที่นี่ที่เดียว และเมื่อมาเที่ยวแล้วนอกจากความประทับใจในรสชาติของอาหารทะเลสดๆ และสูดธรรมชาติที่บริสุทธิ์แล้วนั้น ยังได้ร่วมทำกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปูม้า และปล่อยหมึก ได้เที่ยว ได้ความสุข และยังได้บุญอีกด้วย
เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงบ้านน้ำราบแห่งนี้ จะต้องเข้าเยี่ยมชมธนาคารปูและธนาคารหมึกก่อน จากนั้นได้มีการปล่อยหมึกและปล่อยปูลงกลับคืนสู่ทะเล และล่องเรือไปปลูกป่าโกงกางเกาะรูปหัวใจด้วยการนำฝักโกงกางปักลงบนพื้นป่าชายเลน แล้วก็ยังพบเห็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กตัวน้อยเจ้าปูเสฉวนอวดเดินเล่นใต้น้ำจำนวนมาก จากนั้นล่องเรือไปชมทะเลแหวก ที่มีหาดทรายสีขาวเหมือนแป้งฝุ่น น้ำใสเหมือนกระจก และพักเที่ยงด้วยการรับประทานอาหารทะเลสดจากฝีมือชาวบ้าน ที่มีทั้งแกงส้มปลากะพง เนื้อปูม้าสด กุ้ง หอย ปู ปลา น้ำจิ้มซีฟู้ด ต่อมาเมื่ออิ่มแล้ว ก็ล่องเรือไปชมเขาจมป่า และถ่ายรูปกับอุโมงค์ป่าโกงกาง สูดอากาศบริสุทธ์ แวะชมถ้ำเขาตีนแรดที่พบว่าภายในถ้ำมีหินคล้ายรูปลูกช้าง และล่องเรือกลับมา เป็นอันจบทริปในการท่องเที่ยว โดยใช้ระยะเวลา 3-4 ชม.
ด้านนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวล่องแพบ้านน้ำราบ บอกว่า ตนเองมาจากกรุงเทพฯเพิ่งมาที่นี่ครั้งแรกรู้สึกประทับใจมาก และยังได้มาร่วมปล่อยพันธุ์ปูม้า ไม่เคยทำมาก่อนรู้สึกตื่นเต้น ธรรมชาติสวยงามบริสุทธิ์ มาเที่ยวแล้วได้บุญ อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก ถ้ามีจัดก็จะมาเที่ยวอีกนายกมลหรืออู๊ด บุญนวน ประธานวิสาหกิจชุมชนล่องแพบ้านน้ำราบ บอกว่า ในปัจจุบันนี้ทางชุมชนจะเพาะพันธุ์แม่ปูม้าไข่นอกกระดอง ไข่หมึกหอม ไข่หมึกกระดอง เป็นหลัก และต้นโกงกาง ซึ่งเป็นความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชน ที่เกิดจากความสำนึกในอาชีพของตนเอง เพราะหากไม่มีการฟื้นฟู อาชีพของเราก็จะไม่ยั่งยืน ไม่เพียงแต่นำเอากลับมาอย่างเดียวเราได้ฟื้นฟูกลับสู่ทะเลด้วย
ที่เราเพาะพันธุ์ปูม้าจะมีประมาณ 2-3 ล้านตัว และหมึกอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นตัว พื้นที่ที่จะปล่อยได้นั้นเราจะต้องดูว่ามันมีโอกาสรอดที่สุดด้วยสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในช่วงนี้หากเทียบกับในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ค่อยมีกำลังจ่ายเหมือนเมื่อก่อน ลูกค้ายังคงเหมือนเดิมแต่การใช้จ่ายลดน้อยลง ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวมาจากทั่วประเทศ
ในการล่องแพบ้านน้ำราบจะใช้เวลาในการเดินทางล่องแพระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร หากล่องเรือหางยาวใช้เวลาประมาณ 3 ชม. โดยจุดหลักๆก็คือ เขาจมป่า สูดอากาศบริสุทธิ์ที่อุโมงค์โกงกาง ทะเลแหวก ปลูกป่าโกงกางที่เกาะหัวใจ ส่วนแพจะใช้เวลาประมาณ 4 ชม.ไปได้ 2 จุดคือ เขาจมป่า ทะเลแหวก และแล่นผ่านเกาะหัวใจ
ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่อวันได้ 150 คน ในส่วนของราคา 20 คนขึ้นไป จะคิดหัวละ 600 บาทต่อคนรวมอาหารแล้ว จะเน้นอาหารชุมชนเป็นหลัก จะมีปลากะพง แกงส้ม ยำสามรส กุ้งหมึกหอยลวกจิ้มทะเล
หากนักท่องเที่ยวสนใจเรามีเรือบริการเพราะอาหารและแพบริการพร้อมอาหาร ติดต่อได้ทางเพจ Facebook การท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำราบ หรือโทรจองล่วงหน้า 0872778017 และสามารถมาสั่งซื้ออาหารทะเลสดได้เช่นกัน ที่นี่เรามีบริการให้ด้วย
ด้านนางสาวลดาวัลย์ ช่วยชาติ ผอ.ททท.สำนักงานตรัง บอกว่า สำหรับกิจกรรมในวันนี้เราอยากที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ตอกย้ำภาพลักษณ์จังหวัดตรังยุทธจักรแห่งความอร่อย เสน่ห์อันดามันสวรรค์นักกิน เราขายเรื่องของ soft Power เราขายเรื่องของวิถีชีวิต ซึ่งในวันนี้อาหารที่เรานำมาเสิร์ฟบนโต๊ะเป็นอาหาร ที่มาจากการอนุรักษ์ป่าชายเลน สร้างความสมดุลเรื่องสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุลในเรื่องของปู ที่นี่ชุมชนบ้านน้ำราบมีปูม้า ให้กินได้ทั้งปี หนึ่งเดียวในประเทศไทย และการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนที่นี่ ป่าโกงกางจะต้องอุดมสมบูรณ์ ปูม้าหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่มีกินทั้งปีก็ต้องยังคงอนุรักษ์ เพราะฉะนั้นกุ้ง หอย ปู ปลาเมนูซีฟู้ด ที่เห็นอยู่บนโต๊ะเป็นวิถีชุมชน รสชาติแบบชุมชนและปรุงด้วยชุมชน ซึ่งมาจากการอนุรักษ์ป่าชายเลน อนุรักษ์แม่ปู สำหรับปูไข่นอกกระดอง 1 ตัว ไซส์เล็กสุดจะมีไข่อยู่หน้าท้องประมาณ 350,000 ฟอง หากตัวใหญ่จะมีไข่อยู่หน้าท้องประมาณ 1 ล้านฟองเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะมาท่องเที่ยวที่นี่ เราจะต้องมีการทำกิจกรรม CSR เพื่อสร้างความสมดุล มั่นคงทางอาหาร โดยการปล่อยปูไข่นอกกระดองคืนสู่ทะเล ซึ่งป่าชายเลนเป็นบ้านและเป็นโรงเรียนอนุบาลอย่างดี
นางสาวลดาวัลย์ ยังกล่าวอีกว่า ที่นี่น่าจะเป็นชุมชนแรกเลยทีเดียว ที่ชาวประมงริเริ่มโดยการ นำไข่ของหมึก มาทำเป็นธนาคารหมึก จากนั้นมีการฟูมฟักอนุบาลและปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อขยายพันธุ์เช่นกัน จึงมองได้ว่าพัฒนาการของชุมชนที่นี่นอกเหนือจากการปลูกป่าโกงกางแล้วนั้น เมื่อเราไปเที่ยวแล้วเจอฝักโกงกาง เราก็สามารถที่จะนำมาปลูกป่าโกงกางเพิ่ม ในพื้นที่เกาะรูปหัวใจ เกาะสีเขียวซึ่งเป็นหัวใจสีเขียว ของคนที่นี่ของคนทั้งจังหวัดตรังว่า จะต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ท้องทะเลก็เหมือนตู้เย็นในบ้านเรือน มีกุ้ง หอย ปูปลาให้ได้กิน หิวเมื่อไหร่ก็จะลงไปทะเล หากุ้ง หอยปู ปลามาให้เราทาน เปรียบเสมือนห้องครัวจากธรรมชาติ ชีวภาพ และยังพบว่าในช่วงมรสุม มีหญ้าทะเลลอยขึ้นมา ทางชุมชนก็ยังมีการกู้ชีพหญ้าทะเลให้ฟื้นฟูอีกด้วย เพื่อให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทุกชนิด สำหรับท้องทะเลแห่งนี้ถือเป็นบ้านของมาเรียมพี่น้องของมาเรียม พะยูนน้อยของเรา และมีฝูงพะยูนมากที่สุดในประเทศ และยังเป็นพื้นที่ที่ปลูกหญ้าทะเลมากที่สุดในจังหวัดตรังอีกด้วย เมื่อมาเยือนและมาท่องเที่ยวที่นี่ เราสามารถที่จะล่องแพกินปูบ้านน้ำราบ ขึ้นเขาจมป่า ชมทะเลแหวก รูปร่างคล้ายสันหลังมังกรเผือกและในช่วงน้ำตายจะมองเห็นทะเลแหวกเป็นรูปหัวใจ เสมือนหัวใจมังกรอยู่กลางทะเล หาดทรายขาวเหมือนแป้งฝุ่น น้ำใสเหมือนกระจก ฟอกปอดอาบป่าต้องมาที่นี่ ชมวิว 360 องศา และยังล่องเรือชมอุโมงค์ป่าโกงกาง
จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมธรรมชาติ มาฟอกปอดอยู่ในอ้อมกอดธรรมชาติแล้วร่างกายจะรีเฟรช เราเที่ยวแบบวิถี เรากินแบบชุมชน ซึ่งชุมชนเปรียบเสมือนกูรูอาจารย์ที่คอยให้ความรู้ ในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เรื่องของสินค้า Soft Power ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต้องขับเคลื่อนวัฒนธรรม วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม ที่นี่ที่เดียวเที่ยวได้ทั้งปี กินปูม้าได้ทั้งปี บ้านของทุกคนที่มาเที่ยวแล้วจะมีความสุขกลับไปแน่นอน
สำหรับการท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำราบ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเราตั้งเป้าหมายว่า เราต้องการให้ตัวเลขนักท่องเที่ยว รายได้จากการท่องเที่ยวกลับมา เมื่อปี 2562 เป็นปีก่อนที่เราจะกระทบกับสถานการณ์โควิด 19 เพราะฉะนั้นในจังหวัดตรังเองทุกพื้นที่โดยภาพรวม ตัวเลขนักท่องเที่ยวและตัวรายได้จากการท่องเที่ยว กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ขนาดกำลังซื้อยังเท่าเดิม
โดยชุมชนที่นี่มีแพทั้งหมดประมาณ 7 ลำ มีเรือหางยาวประมาณ 15 ลำ ทุกวันหยุดก็จะออกให้บริการกันทุกลำ เพียงแต่ว่ารายได้และกำลังซื้อ อาจจะยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
ในเรื่องของCSR จากการทำธนาคารปูไข่นอกกระดองก็ได้มีการขยายต่อยอดทำธนาคารหมึก ซึ่งเกิดจากไข่หมึกที่ติดมากับอุปกรณ์ของชาวประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านได้มีการนำมาอนุบาล ให้เป็นตัวหมึกขนาดเล็ก จากนั้นนำไปปล่อยสู่ทะเลในพื้นที่ที่ให้มีการอยู่รอดสูง และยังมีการปลูกป่าโกงกางตลอดเวลาที่รับนักท่องเที่ยวอีกด้วย