Connect with us

บทความ

ต้อกระจก ไม่ใช่แค่โรคคนแก่! รู้ทันปัจจัยเสี่ยง ป้องกันก่อนสายตาพร่ามัว

Published

on

โรคต้อกระจก ไม่ได้พบแค่ในผู้สูงอายุ! รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา พร้อมคำแนะนำจากจักษุแพทย์ โรงพยาบาลวิมุต ป้องกันก่อนสูญเสียการมองเห็น

สำนักข่าวบริคอินโฟ – ต้อกระจก (Cataracts) โรคตาที่เกิดจากเลนส์ตาขุ่นมัว ไม่ได้พบแค่ในผู้สูงอายุ แต่คนอายุน้อยก็เสี่ยงเป็นได้จากหลายปัจจัย ทั้งรังสี UV การสูบบุหรี่ และการใช้ยาบางชนิด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลวิมุต (Vimut Hospital) เตือนภัย หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น พร้อมแนะแนวทางป้องกัน

พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ จักษุแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลวิมุต อธิบายว่า ต้อกระจก เกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตา ทำให้แสงผ่านเข้าสู่ประสาทตาได้น้อยลง ส่งผลต่อการมองเห็น โดยทั่วไปมักพบในผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่คนอายุน้อยก็มีโอกาสเป็นได้ หากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่จัด เคยผ่าตัดตา ใช้ยาสเตียรอยด์ มีโรคประจำตัว หรือประสบอุบัติเหตุทางตา “อีกหนึ่งความเสี่ยงที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้คือการอยู่กลางแดดบ่อย ๆ เพราะรังสี UV โดยเฉพาะรังสี UVA กระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ทำให้โปรตีนในเลนส์ตาเสื่อมสภาพและจับตัวเป็นก้อน”

อาการของโรคต้อกระจก ได้แก่ ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด ค่าสายตาเปลี่ยนแปลง โดยอาการจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ “คนที่มีความขุ่นของตาเยอะประมาณหนึ่ง ถ้านำไฟฉายส่องจะพบเงาของม่านตาตกลงบนเลนส์แก้วตาที่อยู่กึ่งกลางตาดำ ส่วนคนที่มีสุขภาพเลนส์ตาปกติ แสงจะผ่านได้ดีและไม่ปรากฏเงา” พญ.จิรนันท์ กล่าว

สำหรับการรักษา ในระยะเริ่มต้นที่อาการยังไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ติดตามอาการ แต่หากเริ่มมีผลกระทบต่อการมองเห็น อาจพิจารณาใช้ยาหยอดตา หรือการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งปัจจุบันมีเลนส์เทียมที่มีคุณภาพสูง ช่วยให้มองเห็นได้หลายระยะ และลดแสงรบกวน รวมถึงเทคโนโลยีเลเซอร์ที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคต้อกระจก ทำได้โดยการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ สวมแว่นกันแดดป้องกันรังสี UV หลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์ และสังเกตอาการผิดปกติ หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ “โรคต้อกระจกเกิดได้กับทุกวัย ดังนั้นต้องเริ่มดูแลสุขภาพตาตั้งแต่วันนี้” พญ.จิรนันท์ กล่าวทิ้งท้าย