ข่าว
ประชาชนอำเภอจะนะ ร่วมแสดงพลังและการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
ผู้สื่อข่าว : ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ ผู้สื่อข่าวสงขลา
เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ Brickinfo
วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2562) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมด้วยหัวหน้าส่วนราชจังหวัดสงขลา หน่วยเฉพาะกิจสงขลา ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้การต้อนรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มแกนนำสตรี เยาวชน ปราชญ์ชาวบ้าน และประชาชนกว่า 700 คน ในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจะนะ ประกอบด้วย ตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชันและตำบลสะกอม ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาตามแนวทางโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาในฐานะ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมาที่รัฐบาลต้องการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีข้อเสนอว่าหากไม่มีกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจตัวใหม่ (Growth Engine) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและจะเกิดผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาตามลำดับต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโอกาสการพัฒนาสูงมากทั้งการมีทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ความเป็นพหุสังคมที่สามารถเชื่อมทางวัฒนธรรมเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย
การประชุมในวันนี้ ผู้แทนภาคประชาชนหลายฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและต้องการแสดงการมีส่วนร่วมและจุดยืนการพัฒนาที่ชัดเจน โดยขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งกลไกการพัฒนาในระดับตำบลส่วนคณะทำงานแต่ละหมู่บ้านนั้นทางคณะกรรมการระดับตำบล จะเป็นผู้ดำเนินการในการพัฒนาด้วยตัวเองตามหลักการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับหลายภาคส่วนได้กำหนดแนวทางเอาไว้ โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยตัวเองเพื่อตนเองและการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
นอกจากนี้ ยังรับฟังข้อห่วงใย ปัญหาและอุปสรรคในระดับพื้นที่ที่ต้องการเสนอให้หน่วยงานเข้าไปเร่งรัดแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อาทิ การแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจอาชีพของประชาชนแก้ไขปัญหาการเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินให้กับประชาชน การทำท่าเรือชุมชน การแก้ไขปัญหายาเสพติดปัญหาเยาวชนว่างงาน ตลอดจน ปัญหาทางสังคมอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ชี้แจงและให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหน้าที่เร่งรัดแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสงบสุขตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล จึงมีโครงการเมืองต้นแบบฯ และโครงการพัฒนาอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก มุ่งเป้าหมายสำคัญ คือ การให้ประชาชนมีความสุขกายสุขใจสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขในฐานะคนไทยของประเทศไทย ทุกส่วนราชการจะร่วมมือ ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจสังคมของประชาชนอย่างเต็มที่ และจะให้ภาคประชาชน ได้มีกระบวนการทำงานที่เป็นกลไกเสริมการทำงานภาครัฐโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จะส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชนเบื้องต้นจะมีการจัดตั้งกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ตามความต้องการของประชาชนในทุกหมู่บ้านตำบล รวมทั้ง สนับสนุนการบริหารจัดการเพื่อให้กลไกมีความเข้มแข็งทั้งในส่วนของการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางการบริหาร การชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างตรงไปตรงมาเพื่อที่ต้องการจะให้เกิดความเชื่อมโยงแผนงานภาคประชาชนภาครัฐและภาคเอกชนตามนัยยะของมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว และมติที่ประชุมได้เห็นชอบขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในทางธุรการ เพื่อเสนอ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงนามในประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนผู้แทนภาคประชาชนได้กล่าวขอบคุณ ส่วนราชการและรัฐบาลที่ให้โอกาสภาคประชาชนในการร่วมพัฒนากับรัฐถือเป็นโครงการแรกที่มีการชี้แจงข้อมูล ตรงไปตรงมาโดยเฉพาะการให้ภาคประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มแกนนำในระดับพื้นที่มีโอกาสเข้าร่วมการพัฒนาตั้งแต่แรกโดยมีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง เช่น การประชุมในระดับหมู่บ้านนอกจากนี้ยังมีการนำแกนนำประชาชนและการนำเยาวชนไปศึกษาดูงานในพื้นที่ ท่าเรือของปีนังและเขตอุตสาหกรรมของมะละการวมทั้งโรงไฟฟ้าในรัฐเปรัคในพื้นที่ประเทศมาเลเซีย อีกอย่างจะได้มีการวางแผนไปดูการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจริงๆในพื้นที่จังหวัดระยองและท่าเรือต่างๆตามที่เอกชนมีความต้องการการลงทุนนอกจากนี้ ภาคประชาชนอย่างเชื่อมั่นว่าหากสามารถดำเนินการไปตามกระบวนการแนวทางที่รัฐและประชาชนและเอกชนร่วมออกแบบร่วมกันจะสามารถสร้างสันติสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ รวมทั้ง การร้องเรียนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมากนักโดยประชาชนยังไม่มีโอกาสในการพัฒนาแต่สิ่งที่ประชาชนได้เห็นและรับทราบจากการไปศึกษาดูงานนั้นทำให้เห็นว่าประเทศไทยเสียโอกาสการพัฒนาไปเยอะ ยกตัวอย่างเช่น ท่าเรือที่ปีนังซึ่งขนสินค้าจากประเทศไทยผ่านทางด่านสะเดาจังหวัดสงขลาเป็นจำนวนหลายแสนตู้ทั้งที่คนในพื้นที่น่าจะมีโอกาสในการทำงานในส่วนนี้เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน จะได้ไม่ต้องทำให้ลูกหลานของตัวเองโดยเฉพาะคนในพื้นที่ซึ่งวันนี้ต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานในพื้นที่ส่วนกลางกรุงเทพฯ หรือไปทำงานขายแรงงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง หากมีการพัฒนาได้ก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงเยาวชนหลายแสนคนกลับสู่พื้นที่เพื่อให้มีงานทำได้รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซียซึ่งมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันก็จะเป็นการ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การสร้างความ มั่งคั่งทางเศรษฐกิจและส่งผลต่อความมั่นคงในพื้นที่อย่างมีนัยยะสำคัญด้วย รวมทั้ง ได้ยื่นรายชื่อคณะกรรมการและคณะทำงานในระดับพื้นที่เพื่อให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่งตั้งเพื่อเป็นกลไกการทำงานรัฐร่วมเอกชนและประชาชนอย่างเป็นทางการต่อไป เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิการตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อบ้านเกิดตนเองต่อไป