Connect with us

การศึกษา

Kahoot! เติบโตในไทยและเอเชียแปซิฟิก ชูเครื่องมือดิจิทัลยกระดับการเรียนรู้

Published

on

Kahoot! แพลตฟอร์มการเรียนรู้ระดับโลก เติบโตในไทยและเอเชียแปซิฟิก ชูเครื่องมือดิจิทัล AI และเกมมิฟายด์ ยกระดับการมีส่วนร่วมและผลลัพธ์การเรียนรู้

สำนักข่าวบริคอินโฟ – Kahoot! แพลตฟอร์มการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมระดับโลก ยังคงขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังเปิดตัวภาษาไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2567 และได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งภาคการศึกษา ธุรกิจ และผู้ใช้งานทั่วไป ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมใช้งานทั่วโลกกว่า 11,000 ล้านครั้ง (ไม่นับซ้ำ) ตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัทมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของผู้คนให้มีประสิทธิภาพและสนุกสนานยิ่งขึ้น

ความสำเร็จของ Kahoot! มาจากการพัฒนานวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง

เมย์รา โคโปเนน ผู้จัดการการออกแบบการเรียนรู้ของ Kahoot! กล่าวถึงความท้าทายในระบบการศึกษาปัจจุบัน เช่น ปัญหาการขาดแคลนครู และนักเรียนขาดความสนใจ โดยเชื่อว่าการนำเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และประสบการณ์การเรียนรู้แบบ เกมมิฟายด์ (gamified) จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

“ความกดดันในระบบการศึกษามีอยู่จริง แต่โอกาสในการเปลี่ยนแปลงก็เช่นกัน ที่ Kahoot! เรามีเครื่องมือที่ขยายผลได้และครอบคลุม เพื่อช่วยให้ครูสามารถสอนได้ดีขึ้น และดึงดูดความสนใจของผู้เรียนกลับคืนมา การวิจัยสนับสนุนว่า Kahoot! ช่วยปรับปรุงผลการเรียนรู้ เพิ่มการจดจำและแรงจูงใจ รวมถึงลดความวิตกกังวล ทำให้นักเรียนสามารถประสบความสำเร็จและสนุกไปกับการเรียนรู้” เมย์รา กล่าว

ตัวอย่างที่ชัดเจนถึงประสิทธิภาพของ Kahoot! คือกรณีศึกษาจาก มหาวิทยาลัยศิลปากร ภญ.ผศ.ดร. กรัณฑ์รัตน์ ทิวถนอม อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ ได้นำ Kahoot! มาใช้ในการสอนเป็นเวลา 9 ปี และพบว่ามีประโยชน์อย่างต่อเนื่อง งานวิจัยของเธอเรื่อง “ผลของการเรียนรู้ผ่านเว็บ Kahoot! ที่มีต่อทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษาทางเภสัชศาสตร์” แสดงให้เห็นว่า Kahoot! ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและผลการเรียนของนักศึกษาในวิชาเภสัชจลนศาสตร์คลินิก

“อาจารย์ใช้ Kahoot! เพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลายในชั้นเรียน ตั้งแต่การเช็คชื่อนักศึกษา การทบทวนบทเรียนผ่านแบบทดสอบที่โต้ตอบได้ (ควิซ) ไปจนถึงการใช้ระบบรายงานอัตโนมัติของแพลตฟอร์ม Kahoot! ได้เปลี่ยนวิธีการสอนของอาจารย์และวิธีการเรียนรู้ของนักศึกษาอย่างสิ้นเชิง”

Advertisement

อาจารย์กรัณฑ์รัตน์ กล่าวเสริมว่า “แบบทดสอบที่โต้ตอบได้และระบบให้คะแนนแบบเรียลไทม์ทำให้การเรียนรู้มีชีวิตชีวาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนที่โดดเด่นที่สุดคือ Kahoot! สามารถสร้างรายงานเชิงลึกโดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาของผู้สอนและสามารถติดตามพัฒนาการของนักศึกษาได้อย่างง่ายดาย”

อาเธอร์รัม อุดดิน รองประธานฝ่ายพาณิชย์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Kahoot! (ประจำสิงคโปร์) กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่ส่งเสริมการใช้เครื่องมือการเรียนรู้ดิจิทัล

“ด้วยนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย เรามองเห็นความต้องการเครื่องมือการเรียนรู้ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในแวดวงการศึกษาและภาคธุรกิจ Kahoot! มุ่งมั่นที่จะนำเสนอเครื่องมือที่ใช้ง่าย ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและผลลัพธ์การเรียนรู้ในทุกบริบท”

เขายังเน้นย้ำถึงการให้บริการฟรีสำหรับครูและนักเรียน เพื่อให้การเรียนรู้เข้าถึงได้สำหรับทุกคน ในขณะเดียวกันก็มีแผนการขยายตลาดในเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเปิดสำนักงานเพิ่มเติมในญี่ปุ่นและออสเตรเลียในปี 2568 นอกเหนือจากสำนักงานที่มีอยู่แล้วในสิงคโปร์ และล่าสุดยังได้ประกาศรองรับภาษาเวียดนามอีกด้วย

Advertisement