Pop Culture & Sub Culture
รู้จัก วิชาคอสเพลย์ มหาวิทยาลัยรังสิต สอนทำชุด ทำพร๊อบ และ ทำแม่แบบจากโมเดล 3 มิติ
ปฎิเสธไม่ได้ว่า “คอสเพลย์ (Cosplay)” กลายเป็นหนึ่งในงานอดิเรกยอดนิยมอย่างหนึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เด็กจนโตและตลอด 20 ปีที่ผ่านมา งานอดิเรกนี้ก็เติบโตขึ้น จนเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น บางคนสามารถไปแข่งคว้ารางวัลระดับโลก บางคนสามารถทำเป็นอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว และการเป็นที่ยอมรับนี้ นำไปสู่ วิชาคอสเพลย์ ที่ถูกบรรจุและสอนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยบริคอินโฟจะพาคุณไปทำความรู้จักกับวิชานี้ไปพร้อม ๆ กับประวัติศาสตร์ของงานคอสเพลย์ไปพร้อม ๆ กัน
คอสเพลย์ (Cosplay) คืออะไร ?
คอสเพลย์ (Cosplay) คือ การรวมกันระหว่าง 2 คำ คือ Costume ที่แปลว่า ชุด และ Play ที่แปลว่า เล่น ถ้าหากแปลตรงตัว คือ การเล่นและแต่งตัวเป็นตัวละครที่เราชื่นชอบ ซึ่งสามารถใช้ได้กับ ตัวละครที่มาจากเกม การ์ตูน และภาพยนตร์ โดยผู้ที่แต่งตัวเราจะเรียกว่า คอสเพลย์เยอร์ (Cosplayer) หรือ ที่เรียกติดปากว่า เลเยอร์
คำว่า Cosplay เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1984 โดยนักเขียนชาวญี่ปุ่น Nobuyuki Takahashi ที่ได้ไปงาน WorldCon 42 ที่ สหรัฐอเมริกา และได้เห็นการแต่งตัวเป็นตัวละครสมมติมากมาย ซึ่งในช่วงนั้นที่ญี่ปุ่นเอง ก็มีวัฒนธรรมนี้เช่นเดียวกัน เขาได้ถ่ายทอดลงในบทความชื่อ My Anime โดยนำเสนอคำว่า Cosplay อันมีที่มาจากคำว่า costume และคำว่า play หลังจากนั้นไม่นาน คำว่าคอสเพลย์ก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงการเติบโตของมังงะและอนิเมะซึ่งเป็นการ์ตูนเล่มและแอนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม การแต่งตัวเลียนแบบตัวละครสมมุติ เกิดขึ้นครั้งแรก ในปี 1939 ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในงาน World Science Fiction Convention ครั้งที่ 1 (WorldCon 1) แฟนคลับได้เลือกแต่งกายตามตัวละครโปรดในโลกสมมติมาเดินสร้างสีสันภายในงาน หลังจากนั้น การจัดกิจกรรมใส่ชุดคอสตูม (costume) เลียนแบบตัวละครก็มีเรื่อยมา
ส่วนสำหรับประเทศไทย งานแรกที่มีคอสเพลย์ในไทย คืองาน “งานมหกรรมช่อง 9 การ์ตูน ส่งท้ายปี 2525 รับปีใหม่ปี 2526” ซึ่งมีการเปิดประกวดแต่งกายตัวการ์ตูน โดยมีเด็ก ๆ เข้าประกวดเป็นจำนวนมาก
แต่ยุคนั้นประเทศไทยยังไม่ได้มีการนำคำว่า ‘คอสเพลย์’ มาใช้ โดยใช้เพียงแค่ว่า “ประกวดการแต่งกาย” เท่านั้น
- อ่าน : คอสเพลย์ไทย บินตรง ประกวด World Cosplay Summit 2024 แม้ชวดรางวัลแต่ได้ประสบการณ์กลับมาพัฒนาตนเองต่อไป!
- อ่าน : สามย่านมิตรทาวน์ เปิดบ้านต้อนรับเหล่าคอสเพลย์ในงาน MARUYA ครั้งที่ 40: Tanabata Festival
วิชาคอสเพลย์ คืออะไร ?
ย้อนกลับมาที่ช่วงเวลาปัจจุบัน ที่บริคอินโฟจะพาคุณไปทำความรู้จัก คือ วิชาคอสเพลย์ วิชาที่สอนทำชุด ทำพร๊อบ และ ทำแม่แบบจากโมเดล 3 มิติซึ่งถูกบรรจุในหลักสูตรการสอนในระดับมหาวิทยาลัย อย่าง ม.รังสิต ในชื่อและรหัสวิชา DLC 379 การออกแบบเครื่องแต่งกายและคอสเพลย์ (Costume and Cosplay Design) คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต
ลัคน์สิทธา กุลดิลกธนาสิทธิ์ อาจารย์ประจำวิชาคอสเพลย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า จุดประสงค์ของ วิชาคอสเพลย์ คือ การให้ผู้เรียนได้มีโอกาสริเริ่มผลงานฝีมือด้วยตนเอง ผสมกับการแนะนำของผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำชุด-ทำพร๊อบจริง ๆ เพื่อต่อยอดไปสู่การทำผลงานอื่น ๆ ในอนาคต จนนำไปสู่การสร้างรายได้ได้จริง โดยวันสุดท้ายของการเรียนวิชานี้ คือ การจัดงานเดินโชว์ผลงานไฟนอล เพื่อนำผลงานมาอวดโฉมให้กับเพื่อน ๆ และบุคคลภายนอกได้รับชม
“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ได้ลงมือ เพราะหลาย ๆ ครั้งที่เราทำงานไม่เสร็จเพราะจมอยู่ในความคิด จนงานไม่เสร็จสักที ซึ่งหากไปเร่งไม่กี่วันก่อนถึงเวลาส่ง งานก็จะออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่การได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้และได้ลองทำ ได้ลองผิดพลาด สิ่งเหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นประสบการณ์ให้เราทำผลงานจริงต่อไป” ลัคน์สิทธา กุลดิลกธนาสิทธิ์ เล่า
ปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการคอสเพลย์เกิดขึ้นมากมาย อาทิ ธุรกิจปล่อยเช่าชุดคอสเพลย์ , ธุรกิจรับเซตวิกคอสเพลย์เป็นตัวละครนั้น ๆ , ธุรกิจรับทำ-รับตัดชุดคอสเพลย์ และรับทำพร๊อบคอสเพลย์
เอิร์น-สุธาสินี ศรีไวย์ ผู้รับผิดชอบสอนคลาสการเซ็ตวิกคอสเพลย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการคอสเพลย์ ระบุว่า ภายในวิชา DLC 379 การออกแบบเครื่องแต่งกายและคอสเพลย์ จะสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการทำพร๊อบ การทำชุด การออกแบบ และการเลือกวัสดุต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับผลงาน ซึ่งตัวนักศึกษาเองก็สามารถนำไปปรับใช้กับผลงานอื่น ๆ ในอนาคตได้
หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทั้ง ผู้เขียน , เอิร์น และ คอสเพลย์อีกหลาย ๆ คน ล้วนต่างเคยเจอปัญหาเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำพร๊อบเอง ว่า ต้องใช้วัสดุแบบใด ที่ไหนมีขาย แล้วจะประกอบอย่างไร ซึ่ง ณ เวลานั้นไม่มีใครได้มาสอนผู้ที่สนใจแบบปัจจุบัน
“ผลงานต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นใน วิชาคอสเพลย์ ก็เปรียบเสมือนงานคราฟชิ้นหนึ่ง ที่ทำให้เจ้าของผลงานได้สร้างสรรค์ตามจินตนาการต่าง ๆ ของตนเอง ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาทำ บ้านต้นไม้ คล้าย ศาลพระภูมิ จากลังกระดาษมาส่งด้วย” เอิร์น-สุธาสินี ศรีไวย์ เล่า
สำหรับวิชาคอสเพลย์ ปี 2567 นับเป็นปีที่ 2 ที่วิชานี้เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยรังสิต และยังคงมีนักศึกษาเข้ามาลงทะเบียนเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เรียนจะได้เรียน ทั้งการลงมือทำพร๊อบ ทำชุดคอสเพลย์ด้วยตัวเอง และยังได้เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคอมพิวเตอร์และโปรแกรม 3 มิติ เพื่อนำไปสร้างเป็นแม่แบบได้อีกด้วย