ข่าว
ประกวดนวัตกรรม Ford Innovator Scholarship ปีที่ 10 ทำไมบริษัทรถต้องทำเรื่องนวัตกรรมที่ไม่เกี่ยวกับรถ ?
ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการประกวดนวัตกรรม Ford Innovator Scholarship จัดเสวนาพิเศษเพื่อบอกเล่าความสำเร็จและส่งต่อแรงบันดาลใจจากโครงการ พร้อมกิจกรรม Hackathon เพื่อช่วยฝึกฝนทักษะการสื่อสารนวัตกรรมแก่เยาวชน และการจัดแสดงผลงาน รวมถึงการตัดสินผลงานนักเรียน นักศึกษา 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในปีนี้
“ฟอร์ดภูมิใจที่ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ไม่เพียงสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ยังมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้งานจริงเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ และการสร้างนวัตกรเพื่อสังคมในประเทศไทย” นางสาวกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทย และตลาดอาเซียน กล่าว
นางสาวกมลชนก ระบุว่า แม้ว่า ฟอร์ด เป็นผู้ผลิตรถยนต์ แต่ ก็ยังมีการก่อตั้งหน่วยงานเพื่อสังคมในชื่อ Ford Philanthropy ซึ่งงบประมาณที่จัดสรรให้ประเทศไทย ก็นำไปส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ของสังคมไม่ว่าจะเป็นการขับขี่และการสร้างสรรค์นักพัฒนานวัตกรรม (นวัตกร) เพื่อส่งเสริมภาคการศึกษาให้สามารถต่อยอดผลงานได้ไปสู่ปลายทางได้จริง ปัจจุบัน Ford Innovator Scholarship จัดขึ้นเป็นปีที่ 10 แล้วและมีผู้เข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลากว่า 2,000 คน ซึ่งในช่วงเริ่มเริ่มต้น โฟกัสไปที่ระดับอาชีวศึกษา แต่เมื่อฉันไประยะหนึ่งจึงพบว่าในภาคส่วนการศึกษาอื่นๆมีการสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น อาทิตย์ในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา
”Ford Innovator Scholarship นอกจากจะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ แล้วยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษามีโอกาสได้นำเสนอผลงานจริงเพื่อเสริมทักษะสร้างความคิดและก่อให้เกิดการต่อยอดในระยะยาว ซึ่งมุมมองของบริษัทมองว่าเยาวชนนับเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ดังนั้นหากมีผู้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนก็จะกลายเป็นโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป“
ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่า ภูมิทัศน์เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมากยิ่งขึ้น จากเดิมเทคโนโลยีหนึ่งใช้เวลา 3-4 ปี จึงค่อยเปลี่ยนแปลงไป แต่ปัจจุบัน 6 เดือนเทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นการพัฒนาให้เด็กและเยาวชนของไทยสามารถเรียนรู้การหาจุดเด่นของตนเองในโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว นับว่าเป็นเรื่องสำคัญ
“ส่วนตัวมองว่านวัตกรรมถือว่าเป็นจุดสำคัญในการทำให้ประเทศไทยสามารถอยู่รอดได้ในอนาคต ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางอุตสาหกรรม ทั้งภาคการเกษตรและภาคอื่นๆ ซึ่งการที่จะทำให้บุคลากรของประเทศสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงได้ตามเทคโนโลยีที่เข้าไปอย่างรวดเร็วได้คือการสร้างรากฐานที่ดีตั้งแต่ระดับการศึกษา”
ย้อนกลับไปในอดีตโครงการ พัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล เมื่อประมาณสัก 4-5 ปีที่แล้ว แต่ช่วงถัดมาใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีรถยนต์ไฟฟ้าก็เข้ามาเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงตลาดยานยนต์อีกครั้งและทำให้บริษัทที่ผชิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยประสบปัญหาปรับตัวไม่ตามเทคโนโลยี ทำให้จากไปถึงกว่า 30%
ดังนั้นหากเราสามารถพัฒนาบุคลากรของไทยให้เตรียมพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอยู่เสมอมากกว่าแค่การ UpSkill และ ReSkill แต่ต้องใส่ความพร้อมในการรับ NewSkill อยู่เสมอ และตลอด 10 ปีที่ผ่านมาพบเห็นพัฒนาการของเด็กไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก ขอเพียงแค่มีระบบนิเวศทางนวัตกรรม (Ecosystem) ให้พร้อมต่อการพัฒนาของเขา
“จากมุมมองของนักเรียนนักศึกษาที่ตนเองได้เจอ คือ เด็กไทยเก่งเรื่องการปรับตัวหน้างานและแก้ไขปัญหาที่เจอได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับวัยเดียวกันในประเทศ เพียงแค่ความพร้อมในด้านอื่นๆของประเทศไทยมีความพร้อมที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นภาครัฐและเอกชนจึงต้องเข้ามาสนับสนุนให้ความคิดของเด็กและเยาวชนเหล่านี้สามารถก้าวไปสู่ความฝันของตนเองและสร้างให้กับประเทศชาติได้ในอนาคต”
โครงการประกวดนวัตกรรมเพื่อชิงทุนการศึกษา ‘Ford Innovator Scholarship 2024’ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘การออกแบบนวัตกรรมพลังบวก เชื่อมต่อชุมชน เพื่อโลกที่ดีกว่า’ (Connect Innovation with Communities for a Better World Challenge)’ โดยเน้นให้ผลงานนวัตกรรมสร้างประโยชน์แก่ชุมชนได้จริง ครอบคลุมแนวทางหลัก 3 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมสร้างศักยภาพเพื่ออาชีพในอนาคต นวัตกรรมเสริมอาชีพเพื่อธุรกิจยุคใหม่ และนวัตกรรมสร้างความปลอดภัยในชุมชน โครงการนี้เปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีทีมนักเรียน นักศึกษา จากระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมการแข่งขันถึง 235 ทีม จากนั้นคณะกรรมการได้คัดเลือก 10 ทีมเข้าสู่รอบสุดท้าย ประกอบด้วย ทีมมัธยมศึกษา 1 ทีม ทีมมัธยมศึกษาร่วมกับอุดมศึกษา 1 ทีม ทีมอาชีวศึกษา 4 ทีม และทีมอุดมศึกษา 4 ทีม โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบได้ร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อพัฒนาทักษะและเสริมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของฟอร์ดและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA รวมถึงการฝึกเทคนิคการนำเสนอผลงานให้มีประสิทธิภาพจากทีมงานทีวีบูรพาในกิจกรรม Hackathon อีกด้วย
ภายในงานฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการ Ford Innovator Scholarship ฟอร์ด ประเทศไทย และพันธมิตร ได้จัดเวทีเสวนาพิเศษที่มีผู้ชนะจากโครงการในปีก่อนหน้า เช่น นายธีรภัทร ล่องเลี่ยม นักเรียนผู้ชนะโครงการประกวดในปี 2021 นายชุมพล ชารีเสน อาจารย์จากโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ที่ปรึกษาโครงงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ปี 2023 นายสนิท สุวรรณศร ที่ปรึกษาสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ พีดีเอ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงนางสาวกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทยและตลาดอาเซียน ร่วมแชร์ความสำเร็จของโครงการและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคมที่น่าอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงผลงานที่ผ่านเข้ารอบ และกิจกรรม Hackathon กระตุ้นความคิดในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานก่อนการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการในช่วงบ่าย โดย 10 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบในปีนี้ ได้แก่
- นวัตกรรมช่วยอํานวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา โรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี
- นวัตกรรมการแปรรูปเธอร์โมพลาสติกจากพลาสติกเหลือใช้ ด้วยเทคนิค Injection Molding สำหรับการใช้งานเชิงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
- นวัตกรรมโรงเรือนเพาะเลี้ยงและเร่งการเจริญเติบโตของไข่ผำแบบออร์แกนิกด้วยสเปกตรัม LED เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไข่ผำเชียงงาม วิทยาลัยเทคนิคเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
- นวัตกรรมเครื่องคัดแยกขนาดพุทรานมสดโดยใช้ระบบน้ำวน เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรชุมชน วิทยาลัยเทคนิคเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
- นวัตกรรมกระตุ้นการกินอาหารของหนอนไหม เพื่อเพิ่มปริมาณ และคุณภาพเส้นไหม โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
- นวัตกรรมเครื่องนับจำนวนและแยกไซซ์ขนาดทุเรียนบนต้นด้วยเทคโนโลยีเอไอ (AI) วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- นวัตกรรมระบบตรวจจับและเก็บเกี่ยวปูนิ่มในการเลี้ยงระบบปิดแบบธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม
- นวัตกรรมตรวจโรคหัวใจด้วยตนเองเสต็ทโตสโคปวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยีเอไอ (AI) ผ่านแอปพลิเคชัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์แบบการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ตรวจสอบความถูกต้องของท่ากายภาพบำบัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น หนังเทียมจากเปลือกโกโก้ เปลือกมังคุด และใยเปลือกทุเรียน ต้านเชื้อแบคทีเรีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ฟอร์ด ประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการ Ford Innovator Scholarship อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ภายใต้การจัดสรรงบประมาณของ ฟอร์ด ฟิแลนโธรพี (Ford Philanthropy) หน่วยงานเพื่อสังคมของฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี มอบทุนสนับสนุนแก่ทีมผู้ชนะแล้วถึง 232 ทุน รวมกว่า 6,700,000 บาท นับเป็นหนึ่งในโครงการมอบทุนการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชนและสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่ได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะผู้จัดโครงการยังมุ่งเน้นการเสริมองค์ความรู้ และฝึกฝนความสามารถของนักเรียน นักศึกษา ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน ถือเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ในแนวทางที่ยั่งยืน พร้อมสร้างการเชื่อมต่อนวัตกรรมเพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมได้จริง สอดคล้องกับพันธกิจของฟอร์ด ฟิแลนโธรพี ในมิติการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนเพื่อตอบโจทย์ทักษะอาชีพในอนาคต