คิดไปเขียนไป กับสุขเล็ก
เรื่องเล่าของ “ชีวิตการทำงาน” ตอน “สถิติและวิธีคิด”

ทุกวันที่ทำงานผ่านไปเราได้เห็นการเก็บข้อมูลเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แต่ไม่ค่อยเห็นคนที่อ่านมันให้เข้าใจและพยายามเอาสิ่งที่เข้าใจไปทำให้เกิดประโยชน์ เราก็ตั้งหน้าตั้งตาเก็บสถิติและข้อมูลต่อไป และยิ่งเก็บมากขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อเรามีคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถจัดเก็บข้อมูลพวกนี้แทบจะไม่จำกัด
สำหรับผมแล้วข้อมูลพวกนี้ต่อให้ดีแค่ไหน มีประโยชน์มากเท่าไร
ถ้าไม่มีคนอ่านแล้วนำมาใช้ประโยชน์มันก็เป็นแค่
“ข้อมูลขยะที่รกโลก” เท่านั้นเอง
เราเก็บมันเพื่ออะไร เก็บไปทำไม ส่วนใหญ่ที่ได้คำตอบก็คือ “เผื่อเราอาจจะได้ใช้ประโยชน์”
หากสังเกตุให้ดีจะเห็นข้อแม้และความคาดหวังจากประโยคคำตอบนี้ มันไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าจะเอามันไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เลยถ้าไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น มันยิ่งเน้นให้เห็นว่า “ข้อมูลมันรกโลกสิ้นดี”
ที่นี้ลองมาดูว่าถ้าเราเอาสถิติไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
สถิติบอกว่า “มะเร็งเป็นโรคอันดับ 1” ที่ทำให้คนตายและมีคนตายจากโรคมะเร็งทุกชนิดปีละประมาณ 60,000 คนจากประชากรไทยกว่า 67 ล้านคน ดังนั้นอัตราส่วนของคนที่ไม่เป็นโรคนี้กับคนที่เป็นก็คือ 67,000,000 : 60,000 คน หรือประมาณ 1,116:1 คนที่จะเป็นมะเร็งในทุกปี
เมื่อมีสถิติแบบนี้นักออกแบบผลิตภัณฑ์ของประกันภัยก็เลยหยิบสิ่งนี้มาคิดเพื่อทำเงิน ตัวอย่างแบบง่ายๆ เช่น ถ้าเก็บเบี้ยปีละ 1,500 บาทต่อคนและให้ได้รับผลประโยชน์เมื่อตาย 150,000 บาท หากหาคนทำประกันได้ 100 คนก็จะมีเงินจ่ายให้ 1 คนที่ตายเสมอและหากหาได้ 1,000 คนก็จะมีกำไรไปจ่ายให้วงจรการขายประกันและบริษัทให้อยู่ได้ แล้วแต่ละบริษัทก็ไม่ได้มีแค่ผลิตภัณฑ์เดียวดังนั้นทุกผลิตภัณฑ์ถูกคิดโดยลดอัตราเสี่ยงที่จะขาดทุนให้ต่ำมากๆ และโฆษณาเพื่อให้ผู้ซื้อประกันรู้สึกว่าตัวเองคุ้มหรือมีเปรียบ นี่คือวิธีการนำสถิติมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ
ขออีกสักตัวอย่างนะครับ
1 ปีมี 365 วัน เราทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน
นั้นหมายความว่าใน 1 ปี
เราหยุดเสาร์-อาทิตย์ 104 วัน
หยุดตามกฎหมายกำหนดอีก 13 วัน (อย่างน้อย)
พักร้อนได้อีก 6 วัน
ลากิจได้อีก 7 วัน
รวมแล้วเราทำงาน 235 วันและหยุดงาน 130 วัน (ไม่รวมป่วย)
หากเอาเวลามาเรียงต่อกันใหม่ ทุกๆ 6 ปีที่เราทำงาน เราทำงานจริงๆ 4 ปีและหยุดงาน 2 ปี
ลองเอาไปคิดต่อดูนะครับว่าจะทำอะไรกับมันได้บ้าง
ในชีวิตทำงานจริงๆ เรามีข้อมูล สถิติ ตัวเลขที่เราเก็บเต็มไปหมดพอเอาเข้าจริงๆ เราอ่านข้อมูลไม่เป็นก็เลยมองไม่เห็นว่าจะต้องทำอะไรกับมัน เปรียบเทียบง่ายๆ คือ เราเดินเข้าไปในป่าแต่เราไม่รู้จักพืชเลย สิ่งที่เรามองเห็นก็คือ มีต้นไม้เต็มไปหมดจะเอามาใช้ประโยชน์ก็ใช้ไม่เป็นเพราะไม่รู้จะใช้ยังไง และที่สำคัญคือ เราก็อยู่กับต้นไม้โดยไม่คิดจะทำความรู้จักกับมันเลยพอถึงเวลาเราก็มักจะบอกว่า มันเยอะจนไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน มันเป็นข้อแก้ตัวที่น่าเศร้า แต่นับวันผมจะยิ่งเจอกับคนเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ผมอยากให้เหล่าคนทำงานลองหันมาเริ่มพยายามหัดอ่านข้อมูล ตัวเลข สถิติ แล้วทำความเข้าใจกับมัน จากนั้นค่อยมามองว่าจะใช้ประโยชน์กับมันได้อย่างไรบ้าง เพราะมันจะทำให้เราทำงานได้ง่ายและมีพัฒนาการในการทำงานที่ดีขึ้นนะครับ
เรื่องโดย : คิดไปเขียนไป กับสุขเล็ก