คิดไปเขียนไป กับสุขเล็ก
เรื่องเล่าของ “ชีวิตการทำงาน” ตอน “ลูกหมาเกิดใหม่”
หลายครั้งที่ลูกน้องมักจะหงุดหงิดกับเจ้านายที่มักจะถามจู้จี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็มักจะมีคำถามเสมอไม่เคยถูกใจสักที ทำให้ต้องกลับไปเริ่มทำใหม่อีกไม่รู้ตั้งกี่รอบกว่าจะเสร็จงาน ผมเลยอยากจะให้เข้าใจว่า ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเสมอ ๆ
มันเป็นแบบนี้ครับ
เมื่อตอนเป็นเด็กบ้านผมมีหมาหลายตัว มีอยู่ครั้งหนึ่งที่หมาของผมออกลูกใหม่ๆ ผมดีใจมากไปนั่งดูมันอยู่ตั้งนานเพราะไม่เคยเห็นแล้วก็ตื่นเต้นด้วย ผมว่ามันน่ารักดีครับ พอผมกลับไปเล่าให้พี่ผมฟังว่าตอนนี้มีลูกมาเกิดใหม่ตั้งหลายตัว
พี่ผมก็ถามว่า “มีกี่ตัวหละ ?”
ผมก็วิ่งกลับไปนับมันได้ 6 ตัว แล้วก็รีบวิ่งกลับไปบอกพี่ผม
แกก็ถามใหม่ว่า “มีตัวผู้กี่ตัว ?”
ด้วยความที่เอาแต่จะนับเลยไม่ได้ดูเรื่องนี้เลยต้องวิ่งกลับไปดูใหม่ ก็รู้ว่าเป็นตัวผู้ 2 ตัวและตัวเมีย 4 ตัวก็รีบวิ่งกลับไปบอก
ก็เจอถามมาว่า “มีสีอะไรบ้าง”
ผมวิ่งวนไปวนมาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบเพื่อตอบคำถามของพี่ผม จนผมต้องบอกว่า
“ทำไมไม่ถามทีเดียวให้หมดว่าอยากรู้อะไรจะได้ไม่ต้องวิ่งไปมาหลายรอบให้เหนื่อย”
จากที่ดีใจก็เลยกลายเป็นหงุดหงิดและก็รู้สึกโกรธว่า โดนพี่แกล้งเอา
เหตุการณ์นี้คงพอจะเปรียบเทียบให้เห็นได้สัก 2-3 เรื่องนะครับ
- เรื่องที่หนึ่ง ก็คือ ด้วยความเป็นเด็กผมใช้ความรู้สึกกับอารมณ์เป็นที่ตั้งเลยไม่ได้ใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาเรื่อง ผมตื่นเต้นที่มีลูกหมาและรู้ว่ามันมีหลายตัวแต่ไม่พยายามที่จะนับว่ามันมีกี่ตัวกันแน่ เปรียบไปก็เหมือนกับการทำงานหากเราใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการไตร่ตรองพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียดถี่ถ้วน มันจะส่งผลให้เราต้องทำงานหนักกว่าที่ควรจะเป็น
- เรื่องที่สอง ผมไม่เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาคือ ลูกหมาก็มีอยู่ 6 ตัวเท่าเดิมจะวิ่งไปกี่รอบมันก็ยังเป็นเหมือนเดิมเพียงแต่ผมไม่เรียนรู้ว่าจะมีคำถามใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา ผมก็ยังไปเพื่อตอบคำถามทีละข้อ ถ้ากลับไปที่การทำงานเรื่องที่เรากำลังทำอยู่นั้นหลายเรื่องไม่มีอะไรเปลี่ยนเพียงแต่เราไม่เรียนรู้และศึกษาให้มากพอที่จะมองในแง่มุมใหม่ๆ บ้าง ก็เหมือนลูกหมากี่ตัว เป็นตัวผู้เท่ไร ตัวเมียเท่าไร มีสีอะไรบ้าง ผมว่าในหลายๆ ครั้งในการทำงานอาจจะง่ายกว่าด้วยซ้ำเพราะถ้าเราหัดเรียนรู้เจ้านายเสียบ้างก็จะรู้ว่ามักจะถามคำถามเดิมๆ เช่น เท่าไร เมื่อไร อย่างไร ทำแบบอื่นได้อีกไหม หากเราเรียนรู้ที่จะตอบคำถามเจ้านาย เราก็จะเตรียมหาคำตอบเหล่านั้นเอาไว้และมันก็จะทำให้เรารอบคอบและมีความละเอียดในการทำงานขึ้นอีกด้วย
- เรื่องที่สาม พอผมเหนื่อยผมก็เริ่มพาลจากอารมณ์ดีใจก็เลยกลายเป็นโกรธและก็กล่าวหาว่า พี่แกล้งผมไปเลย เปรียบกับการทำงานแล้วแทนที่เราจะไตร่ตรองดูให้ดีว่าตัวเราขาดตกบกพร่องอะไรถึงเกิดคำถามได้มากมาย และเราได้โอกาสในการที่จะเรียนรู้มากแค่ไหน กลับเอาอัตตาขึ้นมาเล่นแล้วก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ หลายครั้งที่ผมเคยเห็นมักจบลงตรงที่เราเองมานั่งเสียใจว่าไม่ควรทำแบบนั้นเลย หลายคนโชคดีที่มีโอกาสได้แก้ตัวและอีกหลายคนเสียโอกาสที่จะได้ทำงานต่อ มันเป็นเรื่องน่าเศร้านะครับ
เวลาที่เราทำงานเป็นผู้น้อยเราก็มีความฝันที่อยากจะเจริญก้าวหน้าแบบผู้บังคับบัญชาของเรา แต่ทำไมเรากลับไม่เรียนรู้ว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีต้องทำอะไรบ้าง เราบอกว่าเราทำงานหนักกว่าคนอื่นตั้งเยอะ คงต้องถามว่า…
“เรารู้ได้อย่างไรว่าคนอื่นทำงานน้อยกว่าเรา!”
ถ้าเรามีเวลาว่างขนาดไปนั่งดูคนอื่นเขาทำงานก็แสดงว่า “งานเรายังไม่หนักพอถึงมีเวลาขนาดนั้น”
หรือถ้าฟังเขาเล่ามาแล้วเชื่อก็ยิ่งแย่กว่าไปนั่งดูเขาทำงานอีก เรามักจะจดจำแต่ความแย่และไม่ดีของคนอื่น เรากลับไม่มองว่าเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไรและทำอะไรบ้าง
การทำแบบนั้นคุณคิดว่า
“คุณจะทำสิ่งดีๆ ได้หรือ?”
เพราะสิ่งที่คุณจดจำล้วนเป็นสิ่งไม่ดี
ผมบอกลูกน้องเสมอว่า…
“ถ้าอยากมีเงินเดือนห้าหมื่นก็คงต้องไปเรียนรู้ว่าคนเงินเดือนห้าหมื่นเขาทำอะไรบ้างถึงได้แบบนั้น”
สิ่งที่ผมได้คำตอบกลับมาจากคนส่วนใหญ่มักจะได้คำตอบว่า “เขาสบายอย่างไร วันๆ ไม่เห็นทำอะไรมากเลย“
ผมก็บอกว่า ถ้าเห็นแค่นั้นก็อยู่อย่างนี้แหละดีแล้ว อย่าไปทำอย่างเขาเลยจะตกงานเอาได้ ไม่สามารถบอกพวกเขาเพื่อที่จะให้มองสิ่งที่ดีได้ เพราะหูของคนเหล่านี้มักจะปิดและได้ยินในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยินเท่านั้น
น้อยคนนักที่จะกลับมาเล่าว่า ส่วนดีของคนห้าหมื่นทำอะไรบ้าง ผมก็จะสอนเขาเป็นฉาก ๆ ว่าส่วนนั้นคืออะไรและทำไมถึงเป็นแบบนั้น คนพวกนี้ตอนนี้ก็ได้เกินห้าหมื่นไปทุกคนแล้วครับ
ลองย้อนคิดดูให้ดีว่า…
ลูกหมาเกิดใหม่เกิดกับเรามากี่หนแล้ว ?
เรายังคงทำซ้ำเรื่องเดิมๆ อยู่หรือไม่ ?
เราเคยเรียนรู้อะไรจากมันบ้าง ?
รอบๆ ตัวเรามีลูกหมาเกิดใหม่ทุกๆ วันแต่เราก็ยังวิ่งวนกลับไปกลับมาเหมือนเดิมใช่ไหม ?
แล้วชีวิตเราจะดีขึ้นได้อย่างไร!
ผมหวังว่า “ลูกหมาเกิดใหม่” คงจะทำให้หลายคนได้ประโยชน์จากมันนะครับ
เรื่องโดย : คิดไปเขียนไป กับสุขเล็ก