คิดไปเขียนไป กับสุขเล็ก
“อยากได้เงินเดือนเยอะๆ” ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ให้คุ้มค่ากับเงินเดือนที่จะได้รับ

เวลาที่เราทำงานเราก็หวังว่าเราจะเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานและมีค่าตอบแทนที่สูงเพราะเราคิดว่าเราทำงานหนักที่สุดในโลกแล้วแต่เจ้านายเอาเปรียบบ้าง มองไม่เห็นความสามารถบ้าง ชอบแต่คนที่ประจบบ้าง แต่เราทำไม่เป็นเลยไม่ได้ดีก็เลยเป็นเป็นแบบนี้ ก็เลยต้องทำตัวแบบนี้แหละก็จ้างเท่านี้นี่หว่าจะเอาอะไรมาก ดีครับ! ที่คิดแบบนั้น เพราะผีเน่าย่อมคู่กับโรงผุเป็นสิ่งที่ถูกต้องและคู่ควรแล้ว ไม่ต้องเจริญทั้งคู่นั่นแหละดี
แต่ถามตัวเองให้ชัดว่า
คุณค่าของคุณมีเท่านั้นเองหรือ ?
ถ้าใช่ก็อยู่ไปแบบนั้นแหละครับถูกต้องแล้ว
แต่ถ้าไม่ใช่ ทำไมคุณไม่หาทางยกระดับตัวเองให้ดีกว่าที่เป็นหละครับ
ผมว่ามันเริ่มตั้งแต่เราเรียนมาแล้ว ตอนเราเรียนเราก็ไม่ตั้งใจจะเรียนมันเท่าไร สอบก็ขอให้ผ่านได้ก็บุญแล้ว ใช้ชีวิตสนุกไปวัน ๆ ดีกว่า แล้วเราได้อะไรจากมันไปทนเรียนอยู่ได้เป็นสิบ ๆ ปี อาจารย์สอนไม่ดีบ้าง วิชาที่เรียนยากบ้าง สถานที่เรียนไม่ดีบ้าง ฐานะทางครอบครัวไม่ดีบ้าง เราคิดแบบนี้กันตั้งแต่เด็กแล้วครับ ตัวเราถูกหมดเลย
พอมาทำงานก็หวังจะได้งานสบายเงินเดือนสูง ๆ แต่ความสามารถไม่ได้เอามาด้วย พอทำงานก็ไม่ตั้งใจ ไม่พยายาม อันนั้นใช้เกินหน้าที่ ไม่ทำ! จะส่งไปอบรมความรู้เพิ่มกลับมาก็งานเพิ่ม ไม่ไปดีกว่า ครั้นโดนบังคับให้ไปก็กลับเอานิสัยตอนเรียนมาใช้ แล้วมันจะมีความรู้เพิ่มไหม ? ไม่สำคัญเพราะถ้าจะให้มีความรู้ก็จ่ายเงินมา เราชอบคิดแบบนี้
อยากได้เงินเดือน 50,000 เคยสนใจไหมครับว่าคนที่ได้แบบนั้นเขาทำงานยังไง ? เราไม่มองตอนที่เขาทำงานครับแต่เราตั้งใจมองตอนที่เขาไม่ทำงานแล้วเราก็บอกว่าเขาไม่เห็นทำอะไรเลย เราก็เลยไม่ได้อะไรเลย แล้วเราก็เลยไม่เก่ง แต่บอกตัวเองว่าเราไม่มีโอกาส ความจริงคือ เราไม่สร้างโอกาส เวลาที่มันเดินมาหาเราก็เลยไม่รู้จักมันแล้วมันก็เดินไปหาคนอื่นแทน
พักหลังนี่ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนสมัครงานเยอะพอสมควร สิ่งที่ผมเห็นก็คือ เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้รับเขาเข้าทำงาน แต่พอได้งานเขาก็พยายามทำทุกอย่างเหมือนกันแต่เพื่อให้ไล่เขาออกจากงาน ไม่ว่าจะอู้งาน มาสาย ขาดบ่อย และอีกสารพัดแล้วแต่จะคิดอะไรออก อีกสิ่งนึงที่เห็นเยอะก็คือ การยกระดับเงินเดือนตัวเองโดยการเปลี่ยนที่ทำงาน เช่น ที่เก่าได้ 15,000 พอสมัครที่ใหม่ขอ 18,000 หลายคนประสบความสำเร็จจากการทำแบบนี้ เราก็เลยนิยมทำแบบนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว เป็นเรื่องน่าเศร้าใจสำหรับผมอย่างมาก ส่วนใหญ่ผมจะคัดคนพวกนี้ออก
มีคำสอนว่า “อย่าวิจารณ์นายจ้าง ถ้าทำงานกับเขาแล้วไม่มีความสุข ก็ลาออกซะ” สิ่งที่เราทำคือ พร่ำด่านายจ้างว่าไม่ดีอย่างไรแต่เราก็ยังทำงานกับคนไม่ดีที่เราด่าต่อไป เพื่อที่จะเอาเปรียบมัน แก้แค้นมัน งั้นคุณแย่กว่าเขาเสียอีกควรหยุดทำแบบนั้นได้แล้ว นั้นหมายความว่าคุณไม่เก่งอย่างที่คุณคิดเพราะคุณไม่กล้าลาออกเพราะกลัวตกงาน เท่าที่ผมเห็นคนแบบนี้มักจะอยู่จนแก่ในที่ ๆ เขาด่านั่นแหละ
ผมอยากจะให้เราลองเปลี่ยนมุมมองใหม่โดยลองคิดแบบนี้
- อาสาทำงานไม่ต้องกลัวว่าจะหนักเพราะมันจะทำให้เรามีความรู้เพิ่มตามที่เราอาสา
- ขยันสร้างโอกาสเพราะเวลาที่มันมา เราจะรู้จักมัน
- เริ่มหัดรับผิดชอบเพราะความรับผิดชอบมากับความเจริญ
- เวลาที่เราได้ไปอบรม ความรู้จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต แต่ผู้จ้างได้แค่ความรู้ที่เราให้
- สร้างลูกน้องให้เก่งเพราะยิ่งเก่งเขายิ่งเบาแรงเรา และช่วยเราคิดทำให้เราฉลาดขึ้นจากความคิดนั้น
- ยิ่งเจอปัญหาเราจะยิ่งเก่ง
- ทำงานตามข้อแม้เพราะมันคือข้อจำกัดที่จะทำให้เราหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับมัน
- อย่าถามว่าจะให้เท่าไร แต่ให้ถามว่าจะให้ทำอะไร
- อย่าทำงานโดยไม่รู้จุดประสงค์และความต้องการ
- อย่ามองว่าเขาไม่ทำอะไร แต่ให้มองว่าเขาทำอะไรและเรียนรู้จากสิ่งนั้น
ก็ลองดูกันสักแค่นี้ดูก่อนนะครับเพราะจริง ๆ ยังมีอีกเยอะถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป
ผมอยากจะบอกว่าถ้าคุณรู้สึกแย่กับองค์กรของคุณ
“เราไม่ต้องรักองค์กรก็ได้ แต่เราต้องรักอาชีพที่เราทำและไม่ทรยศต่ออาชีพของเรา เพราะมันเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพและหลอเลี้ยงชีวิตของเราให้อยู่ต่อไปได้”
ไม่ว่าอะไรจะแย่แค่ไหนถ้าเราควรพยายามมองโลกในแง่ดีและไม่พยายามพาตัวเองให้แย่ไปตามสิ่งที่เป็นไปอยู่ พยายามขยัน ไฝ่รู้ และฝึกฝนให้เราเก่งและรู้จักความสามารถของตัวเองให้ชัดๆ ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาว่าสอนอะไรกับเราบ้าง แล้วเอาสิ่งเหล่านั้นมายกระดับตัวเองให้ดีขึ้น เวลาผิดพลาดยอมรับกับตัวเอง อย่าโกหกตัวเอง อย่าหาข้อแก้ตัวหรือเหตุผลให้ตัวเอง อย่าลงโทษตัวเอง แต่ให้พยายามเอาข้อผิดพลาด บกพร่องนั้นมาแก้ไข
ผมว่าทำแบบนี้ เงินเดือนเยอะ ๆ เป็นเรื่องไม่ยากครับ
เรื่องโดย : คิดไปเขียนไป กับสุขเล็ก