บทความ
จัดการเงินและหนี้ ยังไงให้รอดในภาวะวิกฤติ “โควิด-19” ?
“โควิด-19” ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของคนทั่วโลก แต่ยังส่องผลกระทบต่อสุขภาพการเงินของหลายๆ คน หลังหลายธุรกิจต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อรายได้ทั้งมนุษย์เงินเดือน เจ้าของกิจการรายย่อย รวมไปถึงมนุษย์ฟรีแลนซ์ทั้งหลาย

เรื่องโดย : ปณิดดา เกษมจันทโชติ
- วิกฤตโควิด-19 แบบนี้ “ผ่อนชำระหนี้” หรือ “พักหนี้” ดี ? | Brickinfo มีคำตอบ
- ถอด 3 บทเรียนการเงิน ที่ “โควิด-19” ทิ้งไว้ไปใช้ต่อวิกฤติครั้งหน้า
เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งต้องทำคือ “บริหารจัดการเงิน” และ “จัดการกับหนี้สิน” ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับมากที่สุด เพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้อย่างราบรื่นที่สุด โดยสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ 4 เรื่องมีดังนี้
จัดการหนี้เก่า
สำหรับคนที่มีหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่จำเป็นต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน แต่กลับมีรายได้ลดลง หรือขาดรายได้ในช่วงนี้ จำเป็นวางแผนการผ่อนชำระให้เรียบร้อย
ทันทีที่รู้ตัวว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย หรือมีโอกาสจ่ายไม่ไหวในอนาคต ควรวางแผนการจ่ายหนี้ให้เรียบร้อยก่อนจะกลายเป็น “หนี้เสีย”
วิธีจัดการกับหนี้สินที่มีอยู่ในช่วงวิกฤต เริ่มจากการประเมินกำลังการผ่อนของตัวเอง ณ เวลาปัจจุบัน และมองยาวออกไป 3-6 เดือนข้างหน้า ถ้าวิกฤติครั้งลากยาวไปแบบคาดการณ์ไม่ได้อีกเรายังสามารถผ่อนชำระได้ตามสัญญาเงินกู้หรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ไม่ คุณอาจต้องหาทางออกที่ไม่ใช่แค่การปฏิเสธการชำระหนี้ไปดื้อๆ
ปัจจุบันมีหลายมาตรการจากธนาคารต่างๆ ที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกหนี้ในช่วงนี้ เช่นมาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย พักหนี้ หรือแม้แต่สินเชื่อ สำหรับใครที่ลองประเมินดูแล้วไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามปกติ หรือหากผ่อนชำระหนี้แล้วจะกระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างหนัก ควรเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ของเราเพื่อหาทางออกร่วมกันว่า มีมาตรการใดบ้างที่ทำช่วยให้ลูกหนี้สามารถจัดการกับหนี้สินในช่วงวิกฤตินี้ได้โดยกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่น้อยที่สุด หรือสมดุลมากที่สุด
อย่ากลัวที่จะเจรจา และอายที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะนี่คือการบริหารจัดการหนี้ในช่วงกฤติอย่างหนึ่งที่ทำให้เราสามารถบริหารเงินในมือ และแผนการเงินระยะสั้นได้ และยังสามารถรักษาสถานะลูกหนี้ชั้นดีเอาไว้ได้ด้วย
ชะลอหนี้ใหม่
ในวิกฤติแบบนี้ การสร้างหนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งต้องห้ามก็คงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะหนี้ก้อนใหญ่ที่ต้องอาศัยการผ่อนในระยะยาวอย่างที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์ เพราะสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าการไม่มีของ คือความไม่พร้อมทางการเงินที่ตั้งอยู่ บนความไม่แน่นอนในสภาวะวิกฤติ ทำให้หนี้ก้อนนี้ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตลอดรอดฝั่ง กลายเป็นภาระที่หนักอึ้งจนเกินจะรับไหว และกระทบต่อสุขภาพการเงินเป็นลูกโซ่ในระยะยาว ฉะนั้น ในยุควิกฤติเช่นนี้ ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ของสิ่งนั้นมากๆ ให้พิจารณาชะลอการก่อหนี้ใหม่ต่างๆ ออกไปก่อน ทั้งหนี้ใหญ่ หนี้เล็ก หรือแม้แต่หนี้บัตรเครดิตยิบย่อย เพื่อลดภาระตัวเองทั้งปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ให้ได้มากที่สุด เหมือนดับไฟตั้งแต่ต้นลม ที่จัดการได้ง่ายกว่าการดับไฟที่ลุกโชน
ใช้จ่ายอย่างรัดกุม
วิธีจัดการเงินสุดเบสิกที่ยังได้ผลดี ทั้งในช่วงเวลาปกติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะวิกฤติเช่นนี้
“การใช้จ่ายอย่างรัดกุม” ช่วยให้สามารถจัดการเงินได้ดี และช่วยให้เราเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่า อะไรคือความจำเป็น (need) หรืออะไรที่เป็นแค่ความต้องการ (want)
สำหรับรายจ่ายที่จำเป็นและต้องให้ความสำคัญก่อน เช่น การค่ากินอยู่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของลูก จะต้องถูกจัดสรรไว้เป็นอันดับแรกเมื่อมีรายได้ แล้วค่อยปรับลดค่าใช่จ่ายส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นน้อยกว่าลง อย่างเช่นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เสื้อผ้า ของสะสม ฯลฯ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในแต่ละเดือนมากขึ้น เพื่อให้เพิ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุดในจำนวนเงินที่จำกัด
ตัวช่วยที่ทำให้การจัดการเงินรัดกุมและชัดเจน คือการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย ตลอดเวลา ที่ช่วยให้เห็นความสัมพันธ์กันของรายได้และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น รวมถึงเห็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ชัดเจน สามารถตัด หรือจัดสรรได้ง่ายขึ้นด้วย
ปัจจุบันการทำบัญชีรายรับรายจ่ายสามารถทำได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วคลิก ไม่ใช่แค่การทำตารางจดในกระดาษเท่านั้น การจดบันทึกผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพทืมือถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำได้ง่าย เช่น แอพพลิเคชั่น Metang, Money Lover, Spendee Budget & Money Tracker ฯลฯ เป็นอีกทางเลือกที่ทำให้การบันทึกรายรับรายจ่ายของเราง่าย และสนุกยิ่งขึ้น
ลงทุนเพื่อเปิดรับโอกาส อย่างระมัดระวัง
การลงทุนในช่วงนี้ ควรลงทุนบนความระมัดระวัง และพิจารณาให้รอบด้าน
สำหรับคนที่ลงทุนแบบทยอยลงทุนในระยะยาว DCA (Dollar Cost Average) เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน SSF รวมถึง RMF หรือการลงทุนใดๆ ก็ตามเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หลักการคือการทยอยลงทุนทีละน้อย สถานการณ์แบบนี้มีความจำเป็นที่ต้องลงทุนต่อไป หากเป็นการลงทุนในระยะยาวไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องของหุ้นมากนัก เพราะว่าระยะยาว หุ้นจะมีการปรับตัวกลับมาอยู่เสมอ ฉะนั้น คนที่ลงทุนต่อเนื่องจะได้รับหน่วยลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อทยอยลงทุนต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤติ เพราะหลายครั้งจะเห็นว่าเมื่อเศรษฐกิจกลับมา เพราะคนที่ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาแบบนี้ก็มักจะได้ผลลัพธ์ ในช่วงที่เศรษฐกิจกลับคืนมาค่อนข้างดีเสมอ
แต่ในกรณีที่มีการลงทุนแบบใช้เงินก้อน หรือซื้อหุ้นรายตัว ช่วงนี้ต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ให้มากขึ้น หากรู้สึกกลัวก็อาจปรับลดการลงทุนได้บ้าง ส่วนคนที่ไม่กลัวความเสี่ยงก็ต้องลงทุนอย่างระมัดระวังกว่าปกติ เพราะดัชนีที่ 1,200 จุด ไม่ได้หมายความว่าซื้อหุ้นได้ทุกตัว หรือหุ้นราคาถูกทุกตัวเพราะยังมีหุ้นบางตัวที่ยังถือว่ามีราคาแพงเกินไป ฉะนั้น ก่อนที่จะลงทุนเพื่อรับโอกาสในช่วงหุ้นร่วงอย่ามองแค่ผลตอบแทน แต่ต้องระมัดระวัง ศึกษาให้เข้าใจ และสอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนของตัวเองด้วย
การบริหารจัดการเงิน รวมถึงการลงทุน เป็นสิ่งต้องใส่ใจและศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน และเพื่อให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น และไม่ตระหนกจนเกินไปเมื่อต้องเผชิญวิกฤติ