การศึกษา
วิจัยชี้ “เสือปลา” ปริมาณเพิ่มขึ้นแต่ยังเสี่ยงสูญพันธุ์ ส่วนหนึ่งเพราะผสมพันธุ์กันในเครือญาติ ทีมวิจัย มจธ. เตรียมขยายผล

สำนักข่าวบริคอินโฟ – จากความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการอนุรักษ์เสือปลา สัตว์ผู้ล่าที่เคยถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย โดยมีพื้นที่เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของเสือปลาในประเทศไทย เป็นพื้นที่หลักในการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการกำหนดแนวทางการอนุรักษ์
จากการวิเคราะห์ภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ 50 จุดในเขาสามร้อยยอด พบว่าประชากรเสือปลามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของเสือปลาที่ถ่ายภาพได้ในปี 2567 เป็นเสือปลาที่ไม่เคยปรากฏในภาพถ่ายเมื่อสามปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. ให้ข้อมูลว่า อัตราการแทนที่ของเสือปลาตัวเก่าด้วยตัวใหม่อยู่ที่ 76-80 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นอัตราการรอดเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่า เสือปลาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดได้ในแต่ละปี
ผศ.ดร.นฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ช่วยลดภัยคุกคามจากมนุษย์ต่อเสือปลาในเขาสามร้อยยอดมาจากการที่คนรุ่นใหม่ในชุมชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์มากขึ้น รวมถึงความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคสังคม และภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหา เช่น การทำกรงเลี้ยงไก่เพื่อป้องกันเสือปลา การดึงอดีตนักล่ามาเป็นผู้ดูแลทรัพยากร และการตรวจตราอย่างเข้มงวดของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์พันธุกรรมจากมูลเสือปลาบ่งชี้ว่า เสือปลาในพื้นที่มีภาวะ “เลือดชิด” อันเกิดจากการผสมพันธุ์ในกลุ่มเครือญาติ ซึ่งอาจส่งผลให้รุ่นต่อไปมีภูมิต้านทานโรคต่ำลงและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หากเกิดการระบาด
นอกจากการศึกษาในเขาสามร้อยยอดแล้ว ทีมวิจัยยังได้ขยายผลการศึกษาไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่เคยมีการรายงานการพบเสือปลา ได้แก่ ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี, ตำบลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร, จังหวัดจันทบุรีและตราด และบริเวณรอบทะเลสาบสงขลา โดยในพื้นที่แหลมผักเบี้ย พบเสือปลาในพื้นที่รกร้างที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นพื้นที่เกษตร ส่วนที่พันท้ายนรสิงห์ พบเสือปลาจำนวนน้อยมากเฉพาะในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเท่านั้น ขณะที่จังหวัดจันทบุรีและตราด ไม่พบร่องรอยของเสือปลาเลย
ผศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า บริเวณ ทะเลสาบสงขลา กลับพบร่องรอยการหากินของเสือปลาถึง 19 จุด ทั้งทางฝั่งเหนือและฝั่งใต้ แม้จะเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แต่เนื่องจากเป็นการเพาะปลูกทำการเกษตร และไม่มีการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือปลา ทำให้ความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลาน้อยกว่าพื้นที่อื่น ทีมวิจัยจึงมองว่าพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลารวมถึงบริเวณทะเลน้อยเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในการศึกษาสถานภาพของเสือปลาในระยะต่อไป
ผศ.ดร.นฤมล กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลจากการวิจัยและความร่วมมือจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Zoological Park Organization of Thailand), มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (Sueb Nakhasathien Foundation), S.P.E.C.I.E.S., องค์การแพนเทอรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ (Panthera Southeast Asia and South Asia) และสถาบันการศึกษาต่างๆ ในการอนุรักษ์เสือปลาที่เขาสามร้อยยอด จะเป็นตัวอย่างและความสำเร็จของการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกพื้นที่คุ้มครอง (Other effective area-based conversation measures: OECMs) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกรมป่าไม้ และหากสามารถอนุรักษ์เสือปลาซึ่งเป็นผู้ล่าสูงสุดในระบบนิเวศชุ่มน้ำได้ จะส่งผลดีต่อการจัดการระบบนิเวศโดยรวม