ข่าว
ปลัด สธ. แจงข่าวไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ HKU5 แค่ข้อมูลวิจัยในแล็บ ยังไม่ติดเชื้อสู่คน ย้ำไทยมีระบบเฝ้าระวังเข้มแข็ง

สำนักข่าวบริคอินโฟ – จากกรณีที่มีรายงานข่าวการค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ HKU5 ในค้างคาว ที่มีการเปิดเผยข้อมูลงานวิจัยในห้องปฏิบัติการของทีมนักวิจัยชาวจีนออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2566 และมีการตั้งข้อสังเกตถึงความสามารถในการเกาะกับตัวรับในเซลล์ของคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ดีเหมือนโควิด-19 นั้น ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการรายงานการวิจัยในห้องแล็บเท่านั้น โดยในปัจจุบันยังไม่มีการแพร่ระบาดหรือติดเชื้อในคนแต่อย่างใด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงเกี่ยวกับข่าวการค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวจากทีมนักวิจัยชาวจีน ซึ่งมีความสามารถในการติดต่อยังมนุษย์ได้คล้ายกับไวรัสโควิด-19 ว่า ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการวิจัยในห้องแล็บที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยเป็นการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สายพันธุ์ HKU5-CoV-2 ที่ค้นพบนี้ เป็นความหลากหลายทางพันธุกรรมในไวรัสสกุล Merbecovirus ซึ่งไม่ถือว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือไวรัสกลายพันธุ์ แต่นักวิจัยค้นพบว่ามีลักษณะการจับคู่ระหว่าง HKU5-CoV-2 กับ ACE2 ของมนุษย์ที่แตกต่างจากมาร์เบโควีโรสอื่น ๆ
“แม้จะยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์ HKU5-CoV-2 แต่มาตรการป้องกันจะไม่แตกต่างจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งไข้หวัดใหญ่ โควิด 19 หรือ RSV คือ หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด หากจำเป็นต้องไปให้สวมหน้ากากอนามัย หรือสวมเมื่อป่วยมีอาการระบบทางเดินหายใจเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ล้างมือเป็นประจำ โดยบุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงสามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคได้ ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนโควิด 19” นพ.โอภาสกล่าว
สำหรับการค้นหาเชื้อไวรัสใหม่ในค้างคาวนั้น ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เป็นการวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อม เนื่องจากไวรัสโคโรนามีหลายสายพันธุ์และมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ เมื่อค้นพบไวรัสแล้วจะมีการศึกษาคุณสมบัติต่าง ๆ เพื่อต่อยอดไปถึงการพัฒนาวัคซีน ซึ่งความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสจากค้างคาวมาสู่คนโดยตรงยังอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง