Connect with us

ข่าว

เสาไฟล้มทับรถ ใครรับผิดชอบ? ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด เป็นกรณีตัวอย่างแล้ว

Published

on

4 กันยายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 8 (ชลบุรี) ร่วมกับ กิจการสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือดำเนินโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้จากสายสื่อสารลัดวงจรใน 4 พื้นที่

สำนักข่าวบริคอินโฟ (Brickinfo) – กรณีศึกษาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่น่าสนใจ เมื่อการรื้อถอนสายไฟฟ้าและสายสื่อสารในเขตเทศบาล เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าโค่นล้มทับรถยนต์ที่จอดอยู่ได้รับความเสียหาย คำถามคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างผู้รับจ้าง เทศบาลผู้ว่าจ้าง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้เป็นเจ้าของเสาและสายไฟฟ้า

ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินในคดีหมายเลขดำที่ อ. 182/2565 ว่า เทศบาลต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้ว่าการรื้อถอนจะเป็นการกระทำของผู้รับจ้างที่เทศบาลว่าจ้างมาก็ตาม เนื่องจากเทศบาลมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างในพื้นที่ การกระทำของผู้รับจ้างจึงถือเป็นการกระทำในนามของเทศบาล

การที่สัญญาจ้างเหมาบริการและรายละเอียดขอบเขตงานจ้าง (TOR) กำหนดให้ผู้รับจ้างปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งช่างไฟฟ้า และเทศบาลเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่นภายในเขตพื้นที่ จึงถือว่าผู้รับจ้างเป็นผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

เมื่อผู้รับจ้างได้รับมอบหมายจากเทศบาลให้รื้อถอนสายไฟฟ้าและสายสื่อสารจนเป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าล้มทับรถยนต์ของผู้ที่จอดไว้ในบริเวณนั้น (ผู้ฟ้องคดี) ได้รับความเสียหาย เทศบาลจึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

Advertisement

เมื่อเทศบาลมิได้แจ้งประสานไปยังการไฟฟ้าฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการติดตั้งและรื้อถอนระบบไฟฟ้าสาธารณะและเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวให้เข้าตรวจสอบก่อนทำการรื้อถอน แต่กลับดำเนินการไปโดยพลการ กรณีถือว่าเจ้าหน้าที่ของเทศบาลไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและเป็นการกระทำละเมิดที่เทศบาลต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์ ค่าขาดประโยชน์ และค่าเสื่อมสภาพรถยนต์ให้แก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

คำพิพากษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เทศบาลในฐานะผู้ว่าจ้าง มีหน้าที่ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างอย่างใกล้ชิด และต้องประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นเจ้าของเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้า ก่อนที่จะมีการรื้อถอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่เทศบาลไม่ได้แจ้งไปยัง กฟภ. ให้เข้าตรวจสอบก่อนทำการรื้อถอน ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย

ที่มา : สำนักงานศาลปกครอง

Advertisement