บทความ
หรือความจริงแล้ว “สงครามเสียกรุงศรีครั้งแรก” เป็นเพียงสงครามปราบกบฏของหงสาวดีเท่านั้น ?
เป็นที่รู้กันในตำราเรียนว่ากรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชครั้งแรกให้กับหงสาวดีปี พ.ศ. 2112 จากเหตุการณ์ที่พระยาจักรีลักลอบเข้ามาเป็นไส้ศึกให้หงสาวดี ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหินทราธิราช ตามที่สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ จากนั้นในตำราเรียนจึงสอนกันให้ท่องจำเรื่อยมาว่าเราเสียกรุงฯครั้งแรกในปีดังกล่าว
เรื่องโดย : จิรายุส์ ขุนนางประเสริฐ
อ้างอิงตาม : สุเนตร ชุตินธรานนท์
ทว่า หลักฐานฝั่งอยุธยาที่เก่ากว่าของสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ระบุว่าในปี พ.ศ.2106 ครั้งสงครามช้างเผือก กรุงศรีอยุธยา ได้เสียช้างเผือกพลาย(ตัวผู้) 4 เชือก (ช้างเผือกถือเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าเอกราช และพระมหากษัตริย์ผู้เกรียงไกร) และเมื่อเสียช้างเผือกไปให้หงสาวดี เท่ากับว่ากรุงศรีอยุธยาได้สูญเสียเอกราชให้หงสาวดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน หลักฐานยังระบุต่อไปว่านอกจากจะเสียช้างเผือกพลายแล้ว กรุงศรีอยุธยายังเสียพระราเมศวร รัชทายาทลำดับที่หนึ่งที่จะสืบราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ถัดจากพระมหาจักรพรรดิ ไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี พร้อมกับขุนนางคนสำคัญด้วย
“ถ้าดูตามประเพณีเท่ากับว่ากรุงศรีอยุธยาได้เสียเอกราชตั้งแต่ปี พ.ศ.2106 แล้ว”
อย่างไรก็ตาม พงศาวดารพม่า ฉบับมหายาสะวินจี พูดถึงสงครามปี พ.ศ.2106 ไว้ว่า พระเจ้าบุเรงนองได้สร้างพลับพลาไว้ แล้วโปรดให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จออกจากพระนครไปเฝ้า โดยให้ขึ้นพระราชยานคานหามที่นอกประตูวังหลวง และมีทหารหงสาวดีคุมตัวไป ส่วนพระราชโอรสทุกพระองค์ ให้เดินด้วยพระบาทไปเฝ้า
เมื่อถึงพลับพลา พระเจ้าบุเรงนองได้ประกาศว่าพระองค์คือเจ้าผู้ครองแว่นแคว้นในชมพูทวีป เป็นเอกราชาพร้อมด้วยเบญจพละ มีบารมียิ่งใหญ่ที่หาผู้ใดต่อรบด้วยได้ไม่ โดยให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมรับในความยิ่งใหญ่ดังกล่าว พร้อมขอช้างเผือกพลาย 4 เชือก, พระราเมศวร, ออกญาจักรี ไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดี และให้กรุงศรีอยุธยาส่งบรรณาการช้าง 302 เชือกต่อปี เงิน 300 ชั่งที่เก็บได้จากเมืองตะนาวศรี
ขณะที่ วรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าบุเรงนองที่มีชื่อว่า“ฮางตาวดี เซงพยูมยาเชง บเยดอโปง” ระบุไว้ว่า จากเหตุการณ์ที่พระมหาจักรพรรดิ และพระราชโอรสทุกพระองค์ เข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนอง ในปี พ.ศ.2106 พระเจ้าบุเรงนองได้ให้พระมหาจักรพรรดิ และเจ้านายทุกพระองค์ของกรุงศรีอยุธยาสาบานต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าจะสละซึ่งชีวิตถวายงานรับใช้ โดยไม่คิดคดทรยศตราบชั่วลูกสืบหลาน
จากหลักฐานทั้ง 2 ฉบับของพม่า ให้การไปในทางเดียวกันกับหลักฐานของกรุงศรีอยุธยา จึงระบุได้ว่ากรุงศรีอยุธยา แท้จริงแล้วอาจเสียเอกราชให้หงสาวดีตั้งแต่ปี พ.ศ.2106
อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าบุเรงนอง ยังระบุเหตุการณ์สงคราม พ.ศ.2112 ที่เราเข้าใจกันว่าเป็นสงครามเสียกรุงฯครั้งแรก ไว้ดังนี้
“ศักราช 930 (พ.ศ.2111) เจ้าแผ่นดินอยุธยาประเทศ 1 , ละไวประเทศ 1 , ล้านช้างประเทศ 1 ต่างสมคบคิดมิชอบเป็นมิจฉาทิฏฐิ อุปมาดั่งเทวทัต แล อชาตศัตรู ซ่องสุมกำลัง คิดการประทุษร้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้นานาประเทศเหล่านั้น ต่างสมคบแข็งข้อเป็นกบฎ ไม่ส่งบรรณาการ แม้จะได้ตกเป็นประเทศราชแห่งองค์มหาธรรมราชาช้างเผือก(พระเจ้าบุเรงนอง)แล้วสิ้น”
ออกญาราม(สมเด็จพระมหาธรรมราช พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช), เจ้าเมืองกำแพงเพชร และเจ้าเมืองกาญจนบุรี ต่างรีบเร่งมายังหงสาวดีภายในเดือน 12 แล้วเร่งนำความกราบทูลแทบพระยุคลบาทพระเจ้าบุเรงนอง
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองได้สดับฟังคำกราบทูลจึงมีกระแสรับสั่งว่า ทั่วปฐพีทั้งพื้นสมุทร ฤา จะมีอริราชศัตรูใดหาญกล้าต่อรบด้วยเรา เราผู้เป็นเอกราชาธิราชเจ้า ทวยผู้คิดประทุษร้ายต่อเราเห็นจะไม่อาลัยแก่ชีวิตเป็นแน่แล้ว ทั้งพระเกียรติยศแห่งเราจะมามีอันต้องเสื่อมเสีย
“จากบันทึกของวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าบุเรงนอง ยิ่งเป็นข้อมูลส่งเสริมว่า กรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๐๖ ไปแล้ว โดยสงครามปี พ.ศ.๒๑๑๒ ที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นการเสียกรุงครั้งแรก แท้จริงเป็นเพียงการยกทัพมาปราบกบฏกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น”
และเมื่อหงสาวดีรบชนะกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2112 พงศาวดารพม่าฉบับมหายาสะวินจี ระบุว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงเสด็จสวรรณคตกลางสงคราม และสมเด็จพระมหินทราธิราช ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อ โดยมีออกญาจักรีเข้าเป็นไส้ศึก ทำให้กรุงศรีอยุธยาแพ้สงคราม (ให้การตรงกันทั้งพงศาวดารไทยและพม่า)
ส่วนวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าบุเรงนอง แปลความตอนหนึ่งในช่วงสงคราม พ.ศ.2112 ไว้ว่า ครั้นเมื่อตีได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว ให้พระมหินทราธิราชกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยพระราชโอรสทุกพระองค์ เข้าถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาทพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าช้างเผือก(พระเจ้าบุเรงนอง)
พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าช้างเผือก จึงมีพระราชดำรัสว่า แต่การก่อน เมื่อแรกตีได้กรุงศรีอยุธยานั้น พระเฑียรราชา(สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)กษัตริย์อยุธยา โปรดให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์หลายองค์ในกรุงมาประชุมพร้อมกัน เพื่อเป็นสักขีพยานเบื้องหน้าพระมหาเจดีย์ องค์ที่บรรจุไว้ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุ แลให้สัตย์ปฏิญญากับเราว่าจะจงรักภักดี แต่กลับไม่รู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มาบัดนี้สัตย์ปฏิญญาที่ให้ไว้แต่ปางก่อน ได้เวียนมาส่งผล จึงพระเฑียรราชามิอาจจบชีวิตเยี่ยงขัตติยราช
จากการนำพงศาวดารสามฉบับของไทย-พม่า มาเปรียบเทียบ สรุปได้ว่าพงศาวดารไทยระบุว่า พ.ศ.2106 กรุงศรีอยุธยาได้เสียช้างเผือกพลาย, พระราเมศวร และขุนนางคนสำคัญ ไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดี แต่ไม่ได้ยอมรับอย่างเต็มปากว่าได้เสียเอกราชแล้ว ซึ่งตามประเพณีโบราณ การสูญเสียช้างเผือก รวมถึงเชื้อพระวงศ์ และทหารคนสำคัญไปไว้ให้กับเมืองใดเมืองหนึ่งเท่ากับว่า เมืองที่ควบคุมบุคคลสำคัญเหล่านั้นย่อมมีอิทธิพลเหนือเมืองที่สูญเสีย หรือพูดง่าย ๆ ว่า มีสถานะเป็นเมืองขึ้นนั่นเอง
ส่วน พงศาวดารพม่าทั้ง 2 ฉบับ ต่างระบุตรงกันว่ากรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2106 และปี พ.ศ.2112 หงสาวดีแค่ยกทัพมาปราบกบฏเท่านั้น