Pop Culture & Sub Culture
Stalker พฤติกรรมคุกคาม ที่มากกว่าแค่สะกดรอย
เรื่องนี้เพิ่งเกิดกันแบบสด ๆ ร้อน ๆ ที่งาน Comic Market 104 ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ “Keekihime” นักคอสเพลย์และสตรีมเมอร์สาวชื่อดังที่เคยมาเยือนประเทศไทยแล้วในงาน AniEx ถูก “Stalker” เข้ามาคุกคามด้วยการเข้ามาสวมกอดนานถึง 10 วินาที ก่อนจะทำการหลบหนีไป หลังมีผู้ร่วมงานใกล้เคียงเข้ามาช่วย
นับว่าโชคดีที่ตัวของ Keekihime ไม่ได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่มันก็ทำให้เจ้าตัวเกิดอาการ Panic อยู่ไม่น้อย ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก สำหรับการคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ จากบุคคลที่ถูกเรียกว่า “สตอล์กเกอร์” หนึ่งในปัญหาสังคม ที่แม้ไม่ใช่คนดังก็สามารถพบเจอได้ ครั้งนี้ The Trivial Space จะพามาขยายความเรื่องนี้กัน
Stalker คืออะไร?
“สตอล์กเกอร์” (Stalker) ในภาษาอังกฤษหมายถึง “ผู้ที่ย่องตาม” ใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมชอบสะกดรอยตาม หรือมีพฤติกรรมตามติดเป้าหมายในทุกย่างก้าวในระดับข้ามเส้นความเป็นส่วนตัว คนที่ถูกระบุว่ามีพฤติกรรมแบบ “สตอล์คเกอร์” จะทำทุกอย่างเพื่อเข้าใกล้ หรือมีส่วนร่วมในชีวิตของคน ๆ นั้นให้มากที่สุดทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นอาจพยายามเข้ามาคุยด้วยบ่อย ๆ, ส่งของขวัญให้, ตีสนิทกับคนรอบตัวเหยื่อ บางทีก็อาจมีการใส่ความว่าร้าย หรือใช้จุดอ่อนของเหยื่อเพื่อข่มขู่แบล็คเมล์
ศาสตราจารย์พอล มัลเลน (Paul Mullen) จากสาขาวิชาจิตวิทยา ประจำมหาวิทยาลัย Monash ณ กรุงเมลเบิร์น ได้แบ่งประเภทของสตอล์กเกอร์ตามแรงจูงใจไว้ทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่
- พวกที่ถูกปฏิเสธ – คอยตามติดเพื่อชดเชยความสัมพันธ์ที่หายไปจากการถูกปฏิเสธ และรู้สึกพอใจที่ได้ใกล้ชิดเป้าหมาย หรือเพื่อแก้แค้นการถูกปฏิเสธด้วยการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว
- พวกที่โกรธแค้น – ใช้การสะกดรอยเพื่อเอาคืนในสิ่งที่เหยื่อทำกับตน ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีแรงจูงใจจากการถูกปฏิเสธเหมือนข้อแรก และมักใช้ความบาดหมางส่วนตัวเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุคุกคาม
- พวกที่อยากใกล้ชิด – พวกนี้ใช้ความโดดเดี่ยวเป็นที่ตั้ง ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อ เพราะเชื่อว่าจะทำให้สนิทสนมได้ พฤติกรรมนี้เป็นแนวที่เจอได้บ่อย คนทำส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น บางกลุ่มอาจมีอาการคิดไปเองว่าเขามีใจให้
- พวกขาดทักษะ – เป็นกลุ่มที่ไร้ทักษะในการเข้าสังคม ขี้อาย หรืออาจมีปัญหาจำพวกออทิสติก หรือแอสเพอร์เกอร์ ที่มีความหมกมุ่นและสนใจสิ่งซ้ำ ๆ กลุ่มนี้จะไม่มีพฤติกรรมรุนแรง แต่สร้างความรำคาญไม่น้อย เพราะสนใจแต่ว่าจะเข้าใกล้อีกฝ่ายเท่านั้น
- พวกผู้ล่า – เป็นจำพวกที่อันตรายที่สุด มักเป็นพวกพฤติกรรมซาดิสต์ หรืออาจมีความผิดปกติทางจิตรุนแรง สะกดรอยตามเพื่อสนองความต้องการทางเพศ และต้องการมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่าย ชอบใช้ความรุนแรง และมักวางแผนในการลงมือเสมอ
สิ่งที่เจอ อาจร้ายแรงกว่าแค่การเดินตาม
ความน่ากลัวของการถูกคุกคามโดย Stalker นั้น คือไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพศอะไร ก็มีสิทธิ์ถูกคุกคามด้วยการสะกดรอยได้หมด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
และมันก็ไม่ได้หยุดแค่การถูกตามติดชีวิตเท่านั้น เพราะเมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่ง การคุกคามก็จะถูกยกระดับไปสู่การก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้อีกด้วย
จากผลสำรวจจาก Stalking Resource Center ของสหรัฐฯ ในปี 2015 พบว่า ใน 1 ปี มีคนจำนวน 7.5 ล้านคน ถูกตามสะกดรอย และสตอล์กเกอร์เหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนรู้จัก และอาจเป็นคนใกล้ชิดของพวกเขาด้วย
ไม่ใช่แค่ในชีวิตประจำวันเท่านั้น โลกออนไลน์เองก็สามารถเกิดขึ้นได้ มันถูกเรียกว่า “Cyberstalking” โดยสตอล์กเกอร์จะคอยสอดส่องข้อมูลต่าง ๆ บนโลกโซเชียล ทั้งข้อมูลส่วนตัว, โพสต์ที่แชร์ ไปจนถึงการ Check in ซึ่งสามารถตามไปถึงตัวเหยื่อในโลกแห่งความจริงได้ บางครั้งก็อาจมีการแฮคเข้าไปในบัญชี เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่, แบล็คเมล์ หรือนำออกไปเผยแพร่เพื่อใช้ทำลายชื่อเสียง
สิ่งที่ตัวของผู้ถูกตามติดจะได้เจอนั้น ก็คือรู้สึกไม่ปลอดภัย, การถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว และความหวาดระแวง ส่งผลให้ถูกตัดขาดสังคมทางอ้อมเพราะความหวาดระแวงว่าจะถูกประชิดตัวหรือถูกทำร้าย และสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เหยื่อได้รับความเดือดร้อนก็ตาม แต่เอาเข้าจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่รวมถึงในไทย กลับมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น เพราะตัว Stalker ยังไม่สร้างความเสียหายอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน บางทีอาจโดนบอกกลับมาว่าแค่ระแวงหรือคิดไปเองเท่านั้น
แต่อันที่จริงแล้ว… การสะกดรอยสามารถนำไปสู่การฆาตกรรมได้จริง เพราะตามสถิติแล้วเหยื่อที่เป็นผู้หญิง 3 จาก 4 คน จะถูกฆาตกรรมโดยสตอล์กเกอร์และมีเหยื่อถึง 89% ถูกคนร้ายตามมาก่อนแล้วราว ๆ 1 ปี ก่อนที่จะถูกฆาตกรรม
ยกตัวอย่างคดีในปี 2017 ที่มีสตอล์กเกอร์วัย 44 ปี คอยวนเวียนอยู่แถวที่พักของไอดอลวง HKT48 และตามติดในทุกที่ที่เธอไป หรือจะเป็นกรณีของดาราสาว “มายุ โทมิตะ” ในปี 2016 ที่ถูกแฟนคลับใช้มีดกระหน่ำแทงกว่า 60 ครั้ง เพราะไม่พอใจที่ถูกปฏิเสธของขวัญ
แต่คดีที่ทำให้สังคมหันมาสนใจปัญหานี้อย่างจริงจัง ก็คือคดีในปี 1999 ที่ “ชิโอริ อิโน” นักศึกษาสาวชาวญี่ปุ่นวัย 21 ปี เธอถูกสตอล์กเกอร์วัย 26 ตามจีบอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะจ้างวานคนรู้จักฆ่าเธอขณะเดินไปทางไปมหาวิทยาลัย
การตายของเธอ ได้ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงตำรวจญี่ปุ่น ฐานละเลยต่อหน้าที่ จากเหตุการณ์นี้เลยกลายเป็นที่มาของกฎหมายต่อต้าน Stalker ในปี 2000
ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น ในวงการศิลปินเกาหลีใต้เองเจอปัญหาการคุกคามด้วยการติดตามเหมือนกัน ซึ่งแฟนคลับกลุ่มนี้จะค่อนข้างรุกหนักเป็นพิเศษ มักจะรู้จักกันในชื่อของ “ซาแซง”
แม้กระทั่งในไทยเราก็มี เช่นในวงการคอสเพลย์ที่ผมคลุกคลีบ่อยที่สุด บางครั้งก็จะมีกรณีที่นักคอสเพลย์ถูกสตอล์คเกอร์ตามติดในงานต่าง ๆ
ซึ่งอันที่ค่อนข้างดังในบ้านเรา คือกรณีที่ “มินตัน ดิ๊งด่อง” เน็ตไอดอลสาวชื่อดัง ถูก รปภ. (ปัจจุบันเป็นอดีต รปภ.) คอยตามติดเวลาออก Event ต่าง ๆ และบนโลกออนไลน์นานถึง 2 ปี พร้อมทั้งยังพยายามข่มขู่ต่าง ๆ เพื่อให้ยอมเป็นแฟนด้วย ที่ถึงแม้จะถูกจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว แต่ก็ยังกลับมาก่อพฤติกรรมเดิมอยู่ดี จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรการการคุมประพฤติของผู้พ้นโทษ และความหละหลวมของกฎหมายไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีกฎหมายป้องกันการสตอล์คเกอร์อย่างเป็นรูปธรรม และเอาผิดได้เพียงฐาน “ก่อความเดือดร้อนรำคาญ” แต่ปัจจุบัน กำลังมีการเสนอแก้กฎหมายให้ป้องกันการสตอล์คเกอร์ ซึ่งมีชื่อของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อยู่ในรายชื่อผู้เสนอด้วย โดยจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม คำว่า “กระทำชำเรา” (การข่มขืน) เพื่อให้ครอบคลุมถึงการกระทำความผิดจากพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่มีโอกาสจะเป็นการ “คุกคามทางเพศ” เนื่องจากในปัจจุบัน การสตอล์คเกอร์ เป็นส่วนหนึ่งของ ปัญหาการคุกคามทางเพศ ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
จนมาถึงกรณีล่าสุดในงาน Comic Market 104 ของ Keekihime ทำทีเป็นขอถ่ายรูป ก่อนจะวิ่งเข้ามาสวมกอดนานถึง 10 วินาที ก่อนที่เธอจะตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง และได้ผู้ร่วมงานในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนตัวคนร้ายก็ได้หลบหนีไป ขณะที่ผมกำลังเขียนตอนนี้ ผู้ก่อเหตุยังคงลอยนวลอยู่ โดยจากรายงานที่ได้มา คนร้ายเคยก่อเหตุทำนองนี้มาหลายครั้งแล้ว
ถึงแม้ปัจจุบันจะมีกรณีการคุกคามจาก “Stalker” อยู่ทั่วโลก มีบทเรียนและความสูญเสียให้เห็นอยู่มากมาย แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้ทำให้คนตระหนักถึงความน่ากลัวจากภัยสังคมกลุ่มนี้เท่าที่ควร และยังถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย ทั้งที่ Stalker นั้น ก็ถือเป็นการคุกคามร้ายแรงอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำไปสู่การสูญเสียได้ก็ตาม
ติดตามบทความและ Content ต่าง ๆ เกี่ยวกับ Pop Culture ได้ที่ https://www.facebook.com/GrizzlyTrivialSpace