บทความ
เพราะไทย ไม่มี กฎหมายสตอล์คเกอร์ เดินตามไปถึงหน้าบ้านก็เอาผิดได้ยาก
กฎหมายสตอล์คเกอร์ สิ่งที่ไทยยังไม่มีโดยเฉพาะ กับปัญหาทางสังคม การคุกคามทางเพศ ที่เพิ่มขึ้นและเส้นกั้นด้านจริยธรรมที่เป็นเส้นที่เลือนลางขึ้นเรื่อย ๆ (แต่กำลังมีการเสนอแก้นะ โดย อนุทิน…)
ไม่กี่วันก่อนได้มีฟังก์ชั่นใหม่ของInstagramที่สามารถแชร์ตำแหน่งในแผ่นที่ได้อย่าง Real Time เมื่อใช้งาน Instagram และจะหายไปเองหากไม่เปิดแอปฯ ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ อาจมีผู้ใช้บางคนเปิดแชร์ตำแหน่งตัวเองแบบ Real Time ทิ้งไว้ซึ่งอาจนำภัยมาสู่ผู้ใช้งาน เช่น การโดนสตอล์คเกอร์จากมิจฉาชีพ เป็นต้น
สตอล์คเกอร์ คืออะไร?
สตอล์คเกอร์ (Stalker) หมายถึง บุคคลที่มีพฤติกรรมการตามติดหรือติดตามคนอื่นโดยไม่เหมาะสม ทำให้ผู้ที่ถูกติดตามรู้สึกไม่ปลอดภัยหรืออึดอัดเสมือนถูกคุกคาม รู้สึกโดนละเมิดพื้นที่ส่วนตัว ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกหวาดกลัว ไม่ปลอดภัย และเกิดความเครียด พฤติกรรมนี้อาจรวมถึงการตามติดทางกายภาพ การโทรศัพท์ , ส่งข้อความรบกวน หรือการสืบข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์
ต่างประเทศมีกฎหมายป้องกันการสตอล์คเกอร์
หลายประเทศมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสตอล์คเกอร์เพื่อปกป้องบุคคลจากการถูกคุกคาม มีหลากหลายประเทศ อาทิ
- สหราชอาณาจักร มีกฎหมาย Protection from Harassment Act 1997 ที่ครอบคลุมถึงการคุกคามและการสตอล์คเกอร์ โดยมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี
- ญี่ปุ่น มีกฎหมาย Anti-Stalking Act ตั้งแต่ปี 2000 ที่ได้ปรับปรุงหลายครั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครอง
- เยอรมนี มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุกคาม (Stalking) ตั้งแต่ปี 2007 ที่กำหนดบทลงโทษสำหรับการกระทำดังกล่าว
สำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่มี กฎหมายสตอล์คเกอร์ อย่างจริงจัง มีเพียงแต่กฎหมายที่ใกล้เคียง คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งหากเป็นการกระทำในที่สาธารณะ หรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งนับเป็นเพียง “ความผิดลหุโทษ” หรือ “โทษสถานเบา”
นั่นหมายความว่า หากเราสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีชายคนหนึ่งเดินตามหญิงสาวสวยคนหนึ่งตั้งแต่รถไฟฟ้าไปถึงหน้าบ้าน การเอาผิดสูงสุดหากพิสูจน์ได้ว่าเขาเดินตามเราจริง เช่น เลี้ยวซ้าย 3 ครั้ง ที่จะทำให้เดินวนเป็นวงกลม ก็จะเป็นเพียงความผิด “โทษสถานเบา” จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อถึงชั้นศาลก็จะมีคำสั่งห้ามเข้าใกล้ในระยะที่กำหนดไว้ด้วย
ไทยไม่มี กฎหมายป้องกันการสตอล์คเกอร์ แต่กำลังแก้ให้โทษหนักเท่า “การข่มขืน”
ไม่ว่าคุณจะชอบชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือไม่ แต่เขา กับ คณะ คือคนที่ปรากฎชื่อในการเสนอแก้กฎหมายให้ป้องกันการสตอล์คเกอร์
ปัจจุบันมีการเสนอกฎหมายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเพศในรัฐสภา โดยมีหลักการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม คำว่า “กระทำชำเรา” (การข่มขืน) เพื่อให้ครอบคลุมถึงการกระทำความผิดจากพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่มีโอกาสจะเป็นการคุกคามทางเพศ
เนื่องจากในปัจจุบัน การสตอล์คเกอร์ เป็นส่วนหนึ่งของ ปัญหาการคุกคามทางเพศ ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งกฎหมายเดิม การกระทำในลักษณะสตอล์คเกอร์ ความผิดที่สามารถเอาผิดได้ มีเพียงความผิดฐาน “ก่อความเดือดร้อนรำคาญ” ซึ่งเป็นความผิดฐานลหุโทษ และ ยังไม่ตรงกับลักษณะของการกระทำที่เป็นการคุกคามทางเพศโดยตรง
ในหลักการที่ นายอนุทิน ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อสภา ระบุว่า “สมควรกำหนดให้การคุกคามทางเพศเป็นความผิดทางอาญา เพื่อเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดและปรามมิให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น”
นับเป็นการพัฒนาด้านกฎหมายของไทยเพื่อลงโทษเหล่าสตอล์คเกอร์และคุ้มครองเหยื่อจากการกระทำดังกล่าวเหล่านี้มากขึ้น แต่ต้องรอดูต่อไปว่าจะโหวตผ่านในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่อย่างไร
เรื่องโดย : MOCHITSu (ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย)
อ้างอิง
- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เว็บไซต์รัฐสภา
- Protection from Harassment Act 1997 เว็บไซต์ legislation.gov.uk