Connect with us

ข่าว

สผ.-สวทช. ลงนาม MOU เชื่อมโยง-พัฒนาคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของไทย

Published

on

TH-BIF

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยมีนายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการ สผ. และ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานการลงนามความร่วมมือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการรวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ สผ. และ สวทช. เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม จำนวน 70 คน ณ ห้องประชุม 1001 ชั้น 10 อาคารทิปโก้ 2 ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ

นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการ สผ. ได้แสดงความมุ่งมั่นในการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานผ่านความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เพื่อขับเคลื่อนให้ระบบคลังข้อมูลความหลากหลาย
ทางชีวภาพของประเทศไทยทำหน้าที่ “ศูนย์ข้อมูลกลางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย” ร่วมกันกับหน่วยงานเครือข่าย และยกระดับการให้บริการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการให้บริการข้อมูลสถานภาพสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคาม ข้อมูลทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน และข้อมูลภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ และข้อมูลที่สำคัญอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากหลายภาคส่วน
ช่วยประกอบการตัดสินใจ วางแผนการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์คุ้มครองชนิดพันธุ์และพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัย

เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการต่อยอดการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนคลังข้อมูลของความหลากหลายทางชีวภาพให้รอบคลุมกับการนำไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการด้านข้อมูลกับภาครัฐและเอกชน ซึ่ง กระทรวงทรัพย์ฯ เองก็มีแพลตฟอร์ม TH-BIF ที่รวบรวมข้อมูลและให้บริการประชาชนอยู่แล้ว โดยข้อมูลที่เชื่อมโยงวันนี้ จะเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในภาคประชาสังคมและส่งเสริมการพัฒนาด้านชีวภาพในประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. มีเป้าหมายยกระดับศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ให้สามารถสนับสนุนการเติบโตของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มีฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของประเทศ อาทิ ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย Thailand Bioresource Research Center หรือ TBRC เป็นศูนย์จุลินทรีย์และชีววัสดุชั้นนำในระดับนานาชาติ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน มุ่งเน้นการรับฝากและให้บริการจุลินทรีย์และชีววัสดุ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand หรือ NBT) เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สนับสนุนการอนุรักษ์และจัดเก็บตัวอย่างชีวภาพระยะยาว ช่วยลดความเสี่ยงจากการสูญเสียทรัพยากร และทำหน้าที่เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ

ดร.ชูกิจ ระบุว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย สังเกตุได้จากคำกล่าวของคนไทยตั้งแต่ยุคก่อน คือ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับที่ 16 ของโลก กว่า 100,000 ชนิด และนับเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งที่ สวทช. มีจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตทางชีวภาพถูกจัดเก็บไว้จำนวนมาก ดังนั้นการเชื่อมโยงคลังข้อมูลในครั้งนี้ จะทำให้ศูนย์ข้อมูล TH-BIF มีข้อมูลในคลังมากขึ้นและส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากขึ้น

“หากพูดคำว่าข้อมูลทางชีวภาพอาจดูจับต้องยาก แต่ถ้าหากพูดว่า เราได้ทำการเก็บข้าวพันธุ์ที่ดีที่สุดในประเทศไทยและอนุรักษ์ไว้ ก็จะทำให้เห็นภาพได้ทันที ว่าการเชื่อมโยงครั้งนี้จะส่งประโยชน์ที่ดีให้กับประชาชนนักวิจัยและสามารถนำไปส่งเสริมประเทศชาติได้อย่างไร“

“เดิมทีถ้าเป็นในอดีตนักวิจัยอาจจะหวงข้อมูล แต่พันธกิจใหม่ของ สวทช. คื อการสนับสนุนให้เกิดการใช้ข้อมูลต่าง ๆ ของนักวิจัยไปใช้งานให้ได้มากที่สุด ซึ่งการแบ่งกันข้อมูลนี้ก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภาครัฐ แต่เอกชนก็สามารถขอใช้งานได้เช่นกัน”

การลงนามในครั้งนี้ เป็นก้าวแรกที่ทั้งสองหน่วยงานได้ผนึกกำลังต่อยอดฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางที่หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

Advertisement
Continue Reading
Advertisement