ข่าว
Whoscall เดินสายพบภาครัฐ ส่งรายงานประจำปี 2567 เตือนภัย SMS มิจฉาชีพพุ่ง 130 ล้านครั้ง

สำนักข่าวบริคอินโฟ – บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall มอบรายงานประจำปี 2567 แก่หน่วยงานภาครัฐ เผยสถานการณ์มิจฉาชีพออนไลน์ในไทย โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่าน SMS ที่พุ่งสูงถึง 130 ล้านครั้ง จากทั้งหมด 168 ล้านครั้งในการหลอกลวงผ่านสายโทรศัพท์ และ ข้อความ SMS แสดงให้เห็นว่ากลุ่มมิจฉาชีพยังคงใช้ช่องทางนี้เป็นหลัก
รายงานประจำปี 2567 ยังชี้ให้เห็นถึงกลโกงที่พบบ่อย เช่น การหลอกขายสินค้าปลอม, การแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชนเพื่อหลอกให้กู้เงิน, การหลอกทวงหนี้, และการหลอกว่ามีหนี้สิน ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่พบว่าคดีหลอกซื้อขายสินค้า/บริการ, หลอกโอนเงิน และหลอกให้กู้เงินมีจำนวนมากที่สุด รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 27,000 ล้านบาท
นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการมอบความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นในการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพให้แก่ประชาชนและองค์กรต่างๆ การพบปะกับหน่วยงานภาครัฐในครั้งนี้ เราได้ถือโอกาสเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญรณรงค์ที่กำลังจะเปิดตัวในไตรมาสที่ 2 นี้ เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนสังคมไทยให้ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ ผ่านการสร้างความตระหนักรู้และเทคโนโลยี ที่ทางแอปพลิเคชัน Whoscall ตั้งใจคิดขึ้นมาเพื่อให้บริการผู้ใช้ในไทยโดยเฉพาะ”
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า “สกมช. มุ่งเน้นการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างกลไกเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดย สกมช. พร้อมเดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับ Whoscall เพื่อขยายเครือข่ายการเฝ้าระวังภัยและยกระดับการแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชนผ่านกลไกของภาครัฐและแอปพลิเคชัน Whoscall ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงการแจ้งเตือนเบอร์โทรศัพท์หรือข้อความ SMS เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงลิงก์อันตรายและภัยคุกคามทางดิจิทัลในทุกรูปแบบ ซึ่งเรามุ่งมั่นที่จะพัฒนากลไกการป้องกันภัยไซเบอร์ให้รัดกุมและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งในด้านข้อมูลส่วนบุคคล ทรัพย์สิน และความปลอดภัยทางไซเบอร์”
พลตำรวจโท ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า “ภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ถือเป็นวาระแห่งชาติของประเทศ ที่ทั้งรัฐและเอกชนต้องผนึกความร่วมมือในการลดอัตราการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ และสร้างภูมิคุ้มกันภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสถิติการแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีแนวโน้มลดลงเหลือเฉลี่ยที่วันละ 900 คดี โดยเราพร้อมให้ความร่วมมือกับ Whoscall ในการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน ผ่านแคมเปญรณรงค์ของทั้งสององค์กร รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อนำมาช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ทาง บช.สอท. จะรับเรื่องและข้อมูลลิงก์อันตรายที่ Whoscall ตรวจพบ เพื่อนำไปสู่การเร่งปราบปรามปัญหาการหลอกลวงผ่านลิงก์ออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการโจรกรรมข้อมูล หลอกติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่อง หรือสร้างความเสียหายต่อผู้ใช้ เพื่อยกระดับการป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
Whoscall ได้จัดทำรายงานประจำปีเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพมาตั้งแต่ปี 2563 โดยรายงานล่าสุดได้รวมข้อมูลจากสายโทรศัพท์, ข้อความ SMS, ลิงก์ต่างๆ, และข้อมูลจากการตรวจสอบข้อมูลรั่วไหล ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามา สามารถดูรายงานเพิ่มเติมได้ที่ https://whoscall.com/th/blog