ข่าว
ส่องฟ้าดูดาวกับ “ดาราศาสตร์อิสลามฉบับชาวบ้าน” ที่เมืองเก่าสงขลา เมื่อวิถีดวงดาราบอกเล่าวิถีชีวิต

สำนักข่าวบริคอินโฟ – ท่ามกลางบรรยากาศตลาดบ้านบนและมัสยิดอุสาสนอิสลามในเมืองเก่าสงขลา ผู้คนต่างแหงนมองท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่เรียงรายอย่างตื่นเต้น กิจกรรม “ดาราศาสตร์อิสลามฉบับชาวบ้าน” นี้ไม่เพียงสร้างความประทับใจ แต่ยังจุดประกายความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับดาราศาสตร์อิสลาม หรือ “อัลฟาลัก” วิทยาศาสตร์ที่หลอมรวมวิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนาของชาวมุสลิมไว้อย่างลึกซึ้ง
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในย่านเมืองเก่าสงขลา โดยหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา และกลุ่มเครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณ ผ่านการสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (Chevron Thailand Exploration and Production Ltd.) เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ ตลาดบ้านบน มัสยิดอุสาสนอิสลาม อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผสานศาสตร์และศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมือง พร้อมเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้ค้นหาความหมายของดาราศาสตร์ที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิต
นายธีรยุทธ์ ลอยลิบ หัวหน้าหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา กล่าวว่า “ในทุก ๆ วัน วิถีชีวิตของชาวมุสลิมไม่อาจแยกออกจากดาราศาสตร์ได้ เพราะอัลฟาลัก คือรากฐานของศาสนาอิสลามที่บรรพบุรุษใช้กำหนดการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสร้างระเบียบในวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งการกำหนดเวลาละหมาด การกำหนดทิศกิบลัต ไปจนถึงการกำหนดวันสำคัญทางศาสนา”
ดร.จเร สุวรรณชาต ประธานกลุ่มเครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณ กล่าวถึงบทบาทของดาราศาสตร์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ว่า “สงขลาเป็นเมืองที่มีรากลึกของพหุวัฒนธรรม และเชื่อมโยงกับดวงดาวมาตั้งแต่สมัยก่อน โดยดาราศาสตร์อิสลามถือเป็นส่วนหนึ่งที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของคนพื้นที่ หากสังเกตเราจะเห็นว่าสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามมีดวงดาวเป็นองค์ประกอบ”
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (Chevron Thailand Exploration and Production Ltd.) กล่าวว่า “สิ่งที่เชฟรอนให้ความสำคัญไม่แพ้กับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานคือสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม โดยสงขลาถือเป็นพื้นที่สำคัญที่เราสนับสนุนมรดกทางวัฒนธรรมและการศึกษาผ่านหลากหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าสงขลา หรือการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์”
กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ แต่ยังสร้างความเพลิดเพลินแก่ผู้ร่วมงานกว่า 300 คน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย ที่ได้สัมผัสเรื่องราวดาราศาสตร์ใน “ฉบับชาวบ้าน” ที่เข้าใจง่าย พร้อมกิจกรรมโซนงานฝีมือ ทั้งการสร้างพวงกุญแจและระบายสีปูนปลาสเตอร์จักรราศี