ข่าว
เช็กก่อนสาย! กระดูกทับเส้นสะโพก อาการเบื้องต้นเป็นแบบนี้

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่ากระดูกทับเส้น อาการที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงหลายประการ หากปล่อยเอาไว้ จากกระดูกทับเส้นที่มีโอกาสรักษาให้หายขาด ก็อาจกลายเป็นอัมพาตจนถึงขั้นเดินไม่ได้เลยทีเดียว และวันนี้ เราจะมาบอกวิธีการสังเกตเบื้องต้นว่าหากคุณเป็นกระดูกทับเส้นสะโพก อาการเบื้องต้นจะเป็นอย่างไร เพื่อใช้ตรวจอาการตัวเองและจะได้เข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันเวลา
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ก่อนจะไปรู้จักกันว่ากระดูกทับเส้นสะโพกมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง เรามาทำความรู้จักกับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคนี้กันก่อนดีกว่า โดยกระดูกทับเส้นมีสาเหตุหลักมาจากหมอนรองกระดูกเสื่อมเพราะการใช้งานเป็นเวลานาน รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงหลากหลายประการ เช่น การก้ม ๆ เงย ๆ เป็นประจำ การยกของหนัก การใช้งานผิดท่า การมีน้ำหนักตัวเยอะ รวมทั้งการมีอายุที่มากขึ้นด้วย
พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังโดยตรง ทำให้เส้นใยของหมอนรองกระดูกสันหลังฉีกขาด และค่อย ๆ ดันตัวจนปลิ้นออกมา ทำให้ไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุและพนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานท่าเดิมเป็นเวลานาน
กระดูกทับเส้นสามารถรักษาได้ทั้งวิธีผ่าตัดและไม่ผ่าตัด โดยหากไม่ผ่าตัด จะใช้วิธีรักษาแบบประคับประคอง การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง และการใช้คลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งหากมีอาการรุนแรงขึ้นแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยทรมานจากความเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ยังอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและรุนแรงจนกลายเป็นโรคอัมพาตได้
อ่านก่อนเป็นหนัก! กระดูกทับเส้นสะโพก อาการเบื้องต้นเป็นแบบนี้
สำหรับใครที่เริ่มมีอาการปวดหลัง ปวดคอ หรือปวดสะโพก แล้วกังวลว่าตัวเองจะเป็นโรคกระดูกทับเส้นสะโพกจากอาการปวดเหล่านี้หรือไม่ สามารถสังเกตอาการตัวเองได้ง่าย ๆ ด้วยแนวทางเหล่านี้
· ปวดสะโพกหรือปวดเอวร่วมกับอาการร้าวลงขา ทั้งเกิดกับขาข้างเดียวหรือ 2 ข้าง โดยเฉพาะตอนที่นั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
· อาการชาที่ขา ไม่ได้เป็นตลอด แต่มักเกิดขึ้นหลังนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน หากไม่แน่ใจ ลองใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มบริเวณขาแล้วเทียบความแตกต่างทั้ง 2 ข้างก็ได้
· รู้สึกขาอ่อนแรงผิดปกติ ไม่สามารถกระดกนิ้วเท้าหรือข้อเท้าขึ้นค้างไว้ได้
· นอนหงายแล้วให้เพื่อนใช้มือรองข้อเท้า ยกขาขึ้นมาจนเหยียดตรง ไม่เกร็งขาหรือออกแรง หากมีอาการปวดสะโพก แสดงว่าอาจมีความผิดปกติได้
· รู้สึกปวดหลังหรือสะโพก เวลาไอ จาม หรือเบ่ง
อย่ารอจนโรคกระดูกทับเส้นสะโพกลุกลาม สังเกตอาการตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และหากพบความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีก่อนอาการจะแย่ลงนั่นเอง