บทความ
เปิดเทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่อาจได้ใช้ในปี 2030
ฉากการพูดคุยผ่านโฮโลแกรม การปลอมตัวล้ำๆ ที่ปรากฏให้เห็นบ่อย ๆ ในหนังวิทยาศาสตร์ อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาในปี 2030 เมื่อ Ericsson ConsumerLab ได้ทำแบบสำรวจ “10 Hot Consumer Trends 2030 December 2019” พบในทศวรรษหน้า ดิจิทัลจะทรงพลังมากกว่าที่เป็นอยู่ และเป็นปีที่จะต้องต้อนรับ “อินเตอร์เน็ตของความรู้สึก (Internet of the senses)” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และคาดว่าจะเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย

โดย : ปณิดดา เกษมจันทโชติ
ข้อมูลการรายงานครั้งนี้ มาจากข้อมูลเชิงลึกจากผู้บริโภคที่ยาวนานของ Ericsson และการสำรวจออนไลน์ของผู้อยู่อาศัยใน กรุงเทพฯ เดลีจาการ์ตา โยฮันเนสเบิร์ก ลอนดอน เม็กซิโกซิตี้ มอสโก นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก เซาเปาโล เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ สตอกโฮล์ม ซิดนีย์และโตเกียว รวบรวมผู้ตอบแบบสอบถาม 500 คนจากแต่ละเมือง โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามอายุระหว่าง 15–69 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ใช้ทั่วไปของความเป็นจริง (AR), ความเป็นจริงเสมือน (VR) หรือผู้ช่วยเสมือนจริงหรือผู้ที่ตั้งใจจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในอนาคต รวมผู้ตอบแบบสอบถามที่มีคุณสมบัติครบทั้งสิ้น 7,608 คน
โดยผลวิจัยส่วนหนึ่ง ระบุว่าเทรนด์ดิจิทัลที่จะเกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้านของมนุษย์ ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นจริงในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 คือ
1. เทคโนโลยีที่สั่งการจากสมองได้โดยตรง
ในอีก 10 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่า เส้นแบ่งระหว่าง “ความคิด” และ “การกระทำ” จะค่อยๆ ถูกกลืนกันจนแยกไม่ออก เนื่องจากเทคโนโลยีจะสามารถเข้าถึงความคิดของมนุษย์ได้ตั้งแต่ก่อนที่จะกระทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อแสดงความต้องการซึ่งเทคโนโลยีที่คิดว่าเป็นไปได้มากที่สุดคือการใช้แว่นตา AR (Augmented Reality) เป็นเทคโนโลยีที่นำภาพเสมือน ที่เป็นรูปแบบ 3 มิติในปัจจุบัน ที่ถูกคาดการณ์ว่าราวปี2030 อุปกรณ์นี้สามารถรับรู้ความต้องการของมนุษย์ หรือช่วยค้นหาข้อมูลที่เคยเก็บไว้ เช่น กรณีที่สมองไม่สามารถจำชื่อของคนที่เคยรู้จักได้ เมื่อเจอหน้าแบบจังๆ แว่นตา AR จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับคนที่พบ เช่น ชื่อหรือสถานที่เคยพบกันมาก่อนได้ ซึ่งมากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นเรื่องธรรมดาในปี 2030 โดยเทคโนโลยีนี้อาจนำไปสู่การให้บริการ โฆษณาที่ตรงจุดมากกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่าตัว อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงความคิดส่วนตัวมากเกินไปอาจไม่ใช่ผลดี ทั้งในมิติของการนำข้อมูลไปใช้อย่างซื่อสัตย์และความเป็นส่วนตัว ที่จะต้องนำไปสู่การนิยามความหมายใหม่ และต้องขบคิดอย่างจริงจังเมื่อสิ่งเหล่านี้กำลังจะมาถึง
2. เทคโนโลยีสร้างเสียงตามต้องการ
การพัฒนาระบบดิจิตอลครั้งใหญ่ ทำให้การฟัง การได้ยิน และการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยภายในปี 2030 ผู้บริโภคคาดว่าจะสามารถควบคุมเสียงได้อย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่เสียงที่ได้ยิน แต่ยังสามารถควบคุมสิ่งที่คนอื่นได้ยินจากพวกเขาได้ด้วย โดยผู้บริโภคจะสร้างโลกที่ตัวเองพอใจและไม่จำเป็นต้องฟังเสียงรอบข้างที่ไม่ต้องการอีกต่อไป โดยมากกว่า 7 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่าในอนาคตจะมีหูฟังที่แปลภาษาอัตโนมัติแบบไร้ที่ติ แถมอุปกรณ์นี้ยังสามารถโทรหาใครก็ได้ในโลก ด้วยภาษาใดก็ได้ และมีเสียงเหมือนตัวเองอีกด้วย โดย 67% เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถรับฟังเสียงของใครก็ได้ที่เหมือนเสียงจริง และอาจเหมือนจนถึงขั้นที่สมาชิกในครอบครัวไม่สามารถแยกแยะเสียงจริงและเสียงปลอมได้เลยทีเดียว
3. เทคโนโลยีสร้างรสชาติตามสั่ง
รสชาติจะถูกแปลงเป็นดิจิทัล และต่อมรับรสของเราในอีก 10 ปีข้างหน้าจะสามารถสร้างประสบการณ์ส่วนตัวที่ทรงพลัง เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะนำไปสู่อุปกรณ์ที่สามารถใส่เข้าไปในการเพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถลิ้มรสใดๆ ก็ได้อย่างที่ตัวเองต้องการ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 44% คาดว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้จริงในปี 2030 ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ เนื่องจากนวัตกรรมเหล่านี้จะทำให้มนุษย์สามารถกินอาหารเพื่อสุขภาพที่มีรสชาติเหมือนร้านอาหารระดับห้าดาวได้แบบสบายๆ
ในมิติของธุรกิจอาหาร ผู้คนจะสามารถลองชิมก่อนซื้อ ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าจะมีการปฏิวัติการชอปปิงออนไลน์เกิดขึ้น เพราะสามารถลิ้มลองอาหารตัวอย่างแบบดิจิทัลจากความสะดวกสบายได้ทุกที่ผ่านของอุปกรณ์ส่วนตัวของแต่ละคน นอกจากนี้เกือบทุกคนเชื่อว่าจะมีรายการทำอาหารทีวีที่ให้คุณได้สัมผัสกับรสชาติอาหารบนหน้าจอ ที่สำคัญยังมีการคาดการณ์ว่าข้อมูลทางประสาทสัมผัสดิจิทัลประเภทนี้จะได้รับการสนับสนุนการเงินจากบรรดาโฆษณาต่าง ๆ อีกด้วย
4. เทคโนโลยีส่งกลิ่นดิจิทัล
ปัจจุบันประสาทสัมผัสเรื่องกลิ่นแทบจะเป็นไปไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะดิจิทัลเหมือนประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ แต่ 10 ปีข้างหน้า กลิ่นจะมีบาทมากขึ้น แต่มาในรูปแบบใหม่ โดยภายในปี 2030 ประชากรโลกจะอยู่ห่างจากธรรมชาติมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้มนุษย์ต้องการประสบการณ์จากธรรมชาติเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ 6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามจึงคาดว่าพวกเขาจะสามารถเยี่ยมชมป่าหรือชนบท และสัมผัสกับกลิ่นธรรมชาติตามสถานที่เหล่านั้นเสมือนไปในสถานที่จริงในอนาคต
แม้ว่าที่ผ่านมา จะเคยมีความพยายามรวมกลิ่นในภาพยนตร์ย้อนหลังไปจนถึงช่วงต้นทศวรรษ 1960 แต่ความล้มเหลวในการได้รับความนิยมนั้นมีสาเหตุมาจากการขาดเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะได้รับความนิยม ซึ่งในปี 2030 ผู้ตอบแบบสอบถาม 56% คาดหวังว่าจะสามารถรับกลิ่นทั้งหมดในภาพยนตร์ที่พวกเขารับชมแบบดิจิทัลได้แล้ว เพราะประสิทธิภาพของเทคโนโลยีถูกพัฒนาจนเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
5. เทคโนโลยีสร้างการสัมผัสแบบดิจิทัล
ผู้บริโภคคาดหวังว่าเราจะสามารถสั่งงานผ่านการสัมผัสได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยระบบดิจิตอลอย่างสมบูรณ์ เมื่อในอนาคตความสามารถในการสัมผัสพื้นผิวแบบดิจิทัลอาจไปไกลกว่าขอบเขตของหน้าจอสมาร์ทโฟน โดย 6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าจะมีโอกาสใช้งานมีสายรัดข้อมือที่กระตุ้นประสาทเพื่อให้รู้สึกว่ามีวัตถุดิจิทัลเกิดขึ้นตรงหน้า ในปี 2030 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้มนุษย์สามารถสัมผัสได้ทุกอย่างจากดิจิทัลอย่างง่ายๆ อาทิ ลูกบอล พื้นผิวต่างๆ ไปจนถึงผิวหนังของบุคคลอื่น โดยแอปพลิเคชันของเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสัมผัสอาจไร้ข้อจำกัดกว่าที่คิด เช่น เราอาจจะรู้สึกถึงสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากประสาทสัมผัสของมนุษย์ หรือรู้สึกถึงสภาพอากาศที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะพายุฝน หรือคลื่นความร้อน ได้เลยทีเดียว
อ้างอิง 1