Connect with us

ข่าว

Kyndryl พบ ธุรกิจไทยใช้ AI แต่ยังไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริงจัง หลังศึกาษร่วมกับ Microsoft

Published

on

คินดริล (Kyndryl)

สำนักข่าวบริคอินโฟ – ผลการศึกษา Global Sustainability Barometer ครั้งที่สอง ซึ่งจัดทำโดย Ecosystm และได้รับการสนับสนุนจาก ไมโครซอฟท์ (Microsoft) โดย คินดริล (Kyndryl) ผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทยกว่า 82% ยังไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้โซลูชัน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างจริงจัง

แม้ว่า 32% ของบริษัทในประเทศไทยจะเพิ่มเป้าหมายและการดำเนินการด้านความยั่งยืนในแต่ละปี แต่มีเพียง 18% เท่านั้นที่ใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เพื่อลด คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในองค์กรและบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คินดริล ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยอยู่ ณ จุดเปลี่ยนสำคัญบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน ผลการศึกษา Global Sustainability Barometer ทำให้เราได้เห็นข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณประโยชน์ว่า ประเทศไทยจะเร่งเดินสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้นได้อย่างไร การศึกษาครั้งนี้เน้นให้เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่ธุรกิจไทยต้องไม่เพียงใช้เทคโนโลยี และใช้ข้อมูลเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน และกระตุ้นให้พนักงานขององค์กรมีส่วนร่วมในโครงการด้านความยั่งยืนอย่างแข็งขัน”

นายกิตติพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “องค์กรหลายแห่งพยายามที่จะแปลงความตั้งใจและแนวคิดที่ดีต่าง ๆ ให้เป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรม การใช้พลังของข้อมูล, AI และ การทำงานร่วมกัน จะช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมช่องว่างนี้ สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

Advertisement

โอกาสสำหรับธุรกิจไทยในการขับเคลื่อนความยั่งยืน

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า แม้ผู้นำธุรกิจไทยจะตระหนักถึงคุณค่าของ ความยั่งยืน แต่ยังจำเป็นต้องใช้ เทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยมีหลักการสำคัญดังนี้:

  • กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นลำดับความสำคัญของธุรกิจ: หน่วยงานที่กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนในประเทศไทยคือทีมกฎหมายและความเสี่ยง รองลงมาคือทีมจัดซื้อจัดจ้าง และทีมปฏิบัติการ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการสร้าง ห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืน การทำงานร่วมกันของทุกทีม รวมถึงทีมการเงินและไอที เป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนและลงมือทำด้านความยั่งยืน
  • ใช้เทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนในวงกว้าง: แม้ 32% ขององค์กรไทยได้เพิ่มความพยายามด้านความยั่งยืนอย่างมากในปีที่ผ่านมา แต่บริษัทควรใช้ประโยชน์จาก เทคโนโลยี ให้มากขึ้น เพื่อเป้าหมายที่กว้างกว่าการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ไอทีเพียงอย่างเดียว เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและ ซัพพลายเชน (52% ดำเนินการแล้ว) หรือการใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ (47%)
  • ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม: แม้ AI เป็นเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในการกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน องค์กรต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ AI ด้วยเช่นกัน ธุรกิจไทยเกือบครึ่ง (48%) ใช้ AI ในการติดตามเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีความเข้าใจที่จำกัดเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ AI องค์กรในประเทศไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้ AI อย่างรับผิดชอบ โดยการวัดผลและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโซลูชัน AI ของตนเอง
  • ให้ความสำคัญกับการบูรณาการและใช้ข้อมูลร่วมกัน: 40% ขององค์กรไทยพบว่าความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในการใช้มาตรการด้านความยั่งยืนคือการเข้าถึงข้อมูลข้ามระบบที่แยกส่วนกัน องค์กรไทยควรลงทุนในการทำให้ข้อมูลไหลเวียนระหว่างแผนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความเร็วในการตัดสินใจ และทำให้มั่นใจว่าโครงการด้านความยั่งยืนมีข้อมูลที่ถูกต้องแบบเรียลไทม์

นายแมทธิว เซคอล ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนระดับโลก ไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านความยั่งยืนและสร้างความยืดหยุ่นได้โดยบูรณาการข้อมูลความยั่งยืนเข้ากับข้อมูลการดำเนินงานและการเงิน และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบดั้งเดิมร่วมกับเครื่องมือ AI ที่มีประสิทธิภาพเพื่อปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพการดำเนินงานและส่งเสริมนวัตกรรมที่ยั่งยืน”