Connect with us

การศึกษา

สจล. เปิดตัว “ศูนย์วิเคราะห์โครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว” ยกระดับความปลอดภัยอาคารทั่วประเทศ

Published

on

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, KMITL, ศูนย์วิเคราะห์โครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว, K-EQSAN,

สำนักข่าวบริคอินโฟ – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้เปิดตัว “ศูนย์วิเคราะห์โครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว” (KMITL Earthquake Structural Analysis Nexus หรือ K-EQSAN) อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและวิเคราะห์โครงสร้างอาคารทั่วประเทศให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น การเปิดตัวศูนย์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความกังวลของประชาชนภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อปี พ.ศ. 2568 ที่ส่งผลกระทบถึงกรุงเทพฯ ทำให้หลายอาคารสั่นไหวและเกิดรอยร้าว

รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. กล่าวว่า การจัดตั้ง ศูนย์ K-EQSAN แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ สจล. ในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของอาคารเมื่อเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ซึ่งจะช่วยลดความกังวลของผู้ใช้งานอาคารและส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ศูนย์ฯ จะเป็นแหล่งให้คำปรึกษาด้านการวิเคราะห์โครงสร้าง การป้องกัน และการเสริมกำลังอาคาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมในวงกว้าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐ์ดนัย สินสมุทรผดุง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สจล. อธิบายว่า หลักการออกแบบโครงสร้างให้รับแรงแผ่นดินไหวได้นั้น โครงสร้างอาจเกิดความเสียหายได้ แต่ต้องไม่พังทลาย การมี ความเหนียว (Ductility) ของโครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานอาคารมีเวลาเพียงพอในการหลบหนีอย่างปลอดภัย การสร้างความมั่นใจในเรื่องนี้สามารถทำได้ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น การเพิ่มความเหนียวของอาคารด้วยเหล็กปลอก, การติดตั้ง ชิ้นส่วนสลายพลังงาน (Damper) และ ระบบแยกฐานอาคาร (Isolator) ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาสูงและต้องมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ K-EQSAN จึงมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์อาคารภายใต้แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว โดยผู้ที่สนใจสามารถนำแบบก่อสร้างอาคารมาให้ศูนย์ฯ วิเคราะห์เพื่อประเมินความสามารถในการรับแรงแผ่นดินไหวในอนาคต และหากพบว่าอาคารมีความเสี่ยงที่จะเสียหาย ศูนย์ฯ จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการเสริมกำลังที่เหมาะสม สำหรับอาคารเก่าที่ไม่มีแบบก่อสร้าง ศูนย์ฯ ยังมีทีมงานสำรวจโครงสร้างเพื่อสร้างแบบจำลองสำหรับการวิเคราะห์ได้อีกด้วย

Advertisement

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุมาศ ไทรงาม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนวัตกรรมป้องกันแผ่นดินไหวยังมีราคาสูง สจล. จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีจากวัสดุภายในประเทศ รวมถึงวัสดุจากธรรมชาติ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนสลายพลังงานจากแรงเสียดทาน (Friction Damper) ที่ผลิตจากวัสดุในประเทศ และการเสริมกำลังเสาด้วยเส้นใยธรรมชาติ นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังมีการแสดงผลการวิเคราะห์โครงสร้างด้วยคลื่นแผ่นดินไหวที่สามารถระบุตำแหน่งความเสียหาย และมีการทดลองเสริมกำลังด้วยชิ้นส่วนสลายพลังงานในแบบจำลองอาคารเพื่อยืนยันประสิทธิภาพ

โดยสรุป แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาคารจากแรงสั่นสะเทือนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

  1. การออกแบบก่อสร้างอาคารให้รองรับแรงสั่นสะเทือน โดยมีผลงานวิจัยเรื่อง ตัวสลายพลังงาน (แดมเปอร์) ชนิดแรงเสียดทานด้วยวัสดุทางธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน (Friction Dampers using Natural Sustainable Material) ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มค่าความหน่วงและมีความคงทน
  2. การออกแบบเสริมกำลังอาคาร โดยมีผลงานวิจัยเรื่อง “การเสริมกําลังโครงสร้างคอนกรีตด้วยเส้นใยธรรมชาติ (Strengthening concrete structure with fiber jacketing) ซึ่งช่วยเปลี่ยนรูปแบบการวิบัติของอาคารและเพิ่มกำลังการรับแรงอัด รวมถึงความเหนียวของโครงสร้าง
  3. การซ่อมแซมแก้ไขอาคารหลังเกิดแผ่นดินไหวหรือแรงสั่นสะเทือน โดยต้องดำเนินการตามหลักวิศวกรรมและผู้เชี่ยวชาญ

การเปิด ศูนย์วิเคราะห์โครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว (K-EQSAN) ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ สจล. ในการส่งเสริมความปลอดภัยของอาคารทั่วประเทศ ศูนย์ฯ พร้อมให้คำปรึกษาด้านการเสริมกำลังโครงสร้างทุกประเภท และมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมป้องกันแผ่นดินไหวราคาประหยัดจากวัสดุในประเทศ เพื่อให้เจ้าของอาคารสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ได้จริง

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังให้บริการวิเคราะห์อาคารสำหรับภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น พายุ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 080 995 9727, 084 150 0801 หรือที่ https://www.facebook.com/profile.php?id=61575076592916

Advertisement