Connect with us

ข่าว

สูงวัยเสี่ยง “โรคงูสวัด” โรงพยาบาลวิมุต (Vimut Hospital) แนะฉีดวัคซีนป้องกัน

Published

on

โรคงูสวัดภัยร้ายผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิมุตเตือน ฉีดวัคซีนป้องกัน ลดความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อน พร้อมเผยอาการและวิธีรักษา

สำนักข่าวบริคอินโฟ – เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายและภูมิคุ้มกันของคนเราย่อมเสื่อมถอยลง เปิดโอกาสให้โรคต่างๆ เข้ามาคุกคามได้ง่าย หนึ่งในนั้นคือ “โรคงูสวัด” ที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส ซึ่งแฝงตัวอยู่ในร่างกายและรอวันปะทุเมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง โรคนี้ไม่ได้มีแค่ผื่นและตุ่มน้ำ แต่ยังมาพร้อมอาการปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท

นพ.บารมี พงษ์ลิขิตมงคล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลวิมุต (Vimut Hospital) กล่าวว่า โรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus – VZV) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อหายป่วย เชื้อนี้จะซ่อนตัวอยู่ตามปมประสาท และจะปะทุเป็นงูสวัดเมื่อร่างกายอ่อนแอ โดยอาการเริ่มแรกคือปวดแสบปวดร้อน คัน มีไข้ และมีผื่นเป็นตุ่มนูนแดงเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวตามเส้นประสาท ก่อนจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสคล้ายอีสุกอีใส มักพบบริเวณลำตัวและใบหน้า ตุ่มน้ำจะแตกและแห้งภายใน 7-10 วัน และหายดีใน 2-4 สัปดาห์

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคงูสวัด นพ.บารมีอธิบายว่า ผู้ที่มีเชื้ออีสุกอีใสอยู่ในร่างกายสามารถเป็นงูสวัดได้เมื่อร่างกายอ่อนแอลง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง เอชไอวี (HIV) โรคเรื้อรัง เบาหวาน ไตเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องกินยากดภูมิ รวมถึงโรคแพ้ภูมิตัวเอง

หลายคนอาจเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า งูสวัดพันรอบตัวแล้วจะเสียชีวิตได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง นพ.บารมียืนยันว่า ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดตามแนวเส้นประสาท ติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือ งูสวัดขึ้นตา ที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติกับดวงตาและการมองเห็นได้ งูสวัดมักจะขึ้นเพียงด้านใดด้านหนึ่งของลำตัวเท่านั้น แต่ในคนที่มีภูมิต่ำมากๆ ก็อาจเกิดขึ้นพร้อมกันสองฝั่ง ทำให้มีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป

Advertisement

สำหรับการรักษาโรคงูสวัด นพ.บารมีแนะนำว่า ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาตามอาการ โดยหากอยู่ในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการ อาจได้รับยาต้านไวรัสเพื่อช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของโรค หากพ้นช่วงนี้ไปแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดหรือยาแก้คัน ที่สำคัญคือ ไม่ควรซื้อยามากินเองหรือใช้ยาสมุนไพรทาแผล เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้

การป้องกันโรคงูสวัดที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิต่ำ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Shingrix) จำนวน 2 เข็ม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน วัคซีน Shingrix สามารถป้องกันการเกิดโรคและภาวะปวดปลายประสาทหลังเป็นงูสวัดได้มากกว่า 90% โดยฉีดเข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 2-6 เดือน อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ปวดบวมแดงตรงที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว แต่จะเป็นไม่เกิน 2 วัน

นพ.บารมีกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าโรคงูสวัดอาจหายได้เองในคนที่มีร่างกายแข็งแรง แต่ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีควรดูแลสุขภาพให้ดี และฉีดวัคซีนป้องกันเพื่อลดความรุนแรงของโรค หากมีอาการที่น่าสงสัย ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาทันที

Advertisement