ข่าว
คนรุ่นใหม่ไทยมองอนาคตสดใส แม้กังวลปัญหาการศึกษาและการจ้างงาน
คนรุ่นใหม่ไทยกว่า 89% มองอนาคตประเทศในแง่ดี แต่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาและการจ้างงาน ผลสำรวจจาก Vero Advocacy และ Kadence International เผยคนรุ่นใหม่ Gen Z และ Millennials กว่า 2,700 คนใน 5 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความหวังในอนาคต แต่ก็สะท้อนความท้าทายสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนโอกาสในการทำงาน และคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่ตอบโจทย์ รวมถึงความกังวลเรื่องการเข้าถึงที่อยู่อาศัย
ผลสำรวจระบุว่า 42% ของกลุ่ม Gen Z คาดหวังว่าชีวิตในอนาคตจะ “ดีขึ้นมาก” และอีก 47% คาดว่าชีวิตจะ “ดีขึ้น” ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่ม Millennials ที่ 85% มองอนาคตในแง่ดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ในไทยยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับโอกาสในการทำงาน โดย 63% ของกลุ่ม Gen Z และ 69% ของกลุ่ม Millennials มองว่าการจ้างงานเป็นความท้าทายอันดับหนึ่ง และต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน รวมถึงพัฒนาบริการด้านการจ้างงาน เช่น การให้คำปรึกษาด้านอาชีพ การจัดหาและย้ายสายงาน และการสนับสนุนการประกอบธุรกิจ
นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังกังวลเรื่องคุณภาพการศึกษา แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายเรียนฟรี แต่ 69% ของกลุ่ม Gen Z และ 66% ของกลุ่ม Millennials ยังคงมีความกังวล โดยเฉพาะการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และความต้องการให้ปรับปรุงหลักสูตร เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีทางการศึกษา
ปัญหาการเข้าถึงที่อยู่อาศัยก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย โดย 45% ของคนรุ่นใหม่มองว่าเป็นปัญหาสำคัญ แม้ 53% จะพึงพอใจกับนโยบายที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน แต่ความกังวลเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในทำเลที่เข้าถึงได้ และราคาที่เหมาะสม ยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยคนรุ่นใหม่เสนอให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อเพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น ลดต้นทุน และยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่รอบนอกเมือง
“การจ้างงาน การศึกษา และที่อยู่อาศัยคือความท้าทายเร่งด่วนของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน…คนรุ่นใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของภูมิภาค การแก้ไขความท้าทายเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปลดล็อกศักยภาพของพวกเขาและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั้งยั่งยืนและครอบคลุม” พงศ์ศิริ ภูรินธนโชติ หุ้นส่วนผู้จัดการ Vero Advocacy กล่าว
การศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญ และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงบริการต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคนรุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ และวางรากฐานอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับคนทุกช่วงวัย
ข้อเสนอแนะ
- ออกแบบนโยบายที่มุ่งเน้นคนรุ่นใหม่เป็นศูนย์กลาง
ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการผลักดันโครงการที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างโอกาสในการจ้างงาน และพัฒนาระบบที่อยู่อาศัยให้มีราคาที่เข้าถึงได้ การให้ความสำคัญกับประเด็นพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศทางสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพและความก้าวหน้าในชีวิตของคนรุ่นใหม่
- สร้างการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
การเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการเสวนาเชิงนโยบายและกระบวนการตัดสินใจถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแสวงหาและให้ความสำคัญกับมุมมองและความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ในการกำหนดนโยบายที่จะส่งผลต่ออนาคตของพวกเขาโดยตรง
- สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่
การจัดให้มีเวทีหรือพื้นที่เฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเป็นสิ่งจำเป็น พื้นที่เหล่านี้ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และเปิดกว้าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
- ส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ภาคเอกชนควรพัฒนาโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่พวกเขามีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและองค์ความรู้จะช่วยบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางธุรกิจ อันจะนำไปสู่การสร้างผู้นำและนวัตกรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ
- ผนวกการพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้ากับพันธกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
องค์กรภาคเอกชนควรบูรณาการแนวคิดการพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยมุ่งเน้นการริเริ่มโครงการที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและแก้ไขประเด็นทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่โดยตรง แนวทางนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาสังคมที่ครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้อย่างตรงจุด
“การศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญที่กลุ่ม Gen Z และ Millennials กำลังเผชิญ และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของคนรุ่นใหม่ การแก้ไขความท้าทายเหล่านี้อย่างทั่วถึงจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคนรุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งวางรากฐานอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับคนทุกช่วงวัย” Ashutosh Awasthi, ผู้อำนวยการ Kadence International กล่าว
ด้าน ณัฐพร บัวมหะกุล หนึ่งในหุ้นส่วนผู้จัดการของ Vero Advocacy กล่าวเสริมว่า “กลุ่มคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาค จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องเข้าใจและตอบสนองต่อความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้พวกเขาอย่างเต็มที่ เพราะอนาคตของพวกเราทุกคนล้วนขึ้นอยู่กับการเสริมสร้างศักยภาพของคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น