การเมือง
รู้จัก “นากก้า”(NaCGA) สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ คืออะไร ?
ตามที่ ครม. เห็นชอบตั้ง “นากก้า”(NaCGA) สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ ยกเครื่องใหญ่ระบบค้ำประกันไทย ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการจัดตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” หรือ นากก้า (NaCGA) โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรดังกล่าวร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย
“นากก้า”(NaCGA) คืออะไร ?
“นากก้า” หรือ สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) คือ นิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) โดยเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียม การค้ำประกันอิงตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) การอนุมัติและออกหนังสือค้ำประกัน
รายได้ของ “นากก้า”(NaCGA) มาจากไหน ?
โดยรายได้ของนากก้ามาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินสมทบจากรัฐบาล เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมจากผู้ขอสินเชื่อ
“นากก้า” เสมือนสถาบันประกัน แต่เป็นการ “ประกันความเสี่ยงทางการเงิน” ให้ประชาชน โดยมีขั้นตอน ดังนี้
- ประชาชนผู้ต้องการสินเชื่อ ติดต่อ นากก้า
- นากก้า ประเมินความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อเป็นรายบุคคล
- นากก้า คิดค่าธรรมเนียมในอัตราต่ำในการค้ำประกันสินเชื่อตามความเสี่ยง (รัฐบาลและสถาบันการเงินช่วยสมทบ)
- นากก้า ออกหนังสือค้ำประกันให้บุคคลนั้น โดยเป็นการประกันความเสี่ยง หากผิดนัดชำระหนี้
- ผู้ขอสินเชื่อ นำหนังสือค้ำประกัน ไปใช้ในการไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
- สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อ เพราะผู้ขอสินเชื่อได้รับการค้ำประกันความเสี่ยงจาก นากก้า เรียบร้อยแล้ว
“ขั้นตอนต่อไป กระทรวงการคลังจะร่างกฎหมายจัดตั้งร่วมกับ ธปท. ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน” ดร.เผ่าภูมิ กล่าว