ธุรกิจ
เปิดความคิด “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ในวันที่บริษัท AI เกิดขึ้นทุก 5 นาที
ในวันที่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เกิดขึ้นและมีเครื่องมือให้ใช้งานมากมาย บริษัทใหญ่ ๆ ต่างลงทุนในเทคโนโลยีนี้มากมายจนกลายเป็นสงครามที่ทุกคนต่างต้างการทุ่มเงินมหาศาลเพื่ออนาคตของตนเอง แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโลกของธุรกิจ ยังไงก็ต้องหมุนเวียนด้วยรายได้และกำไร วันนี้ บริคอินโฟ จะพาไปมองโลก AI ของ กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร (Executive Chairman) และผู้ก่อตั้ง (Founder) ของ อะมิตี้ โซลูชั่นส์ (Amity Solutions: ASOL)
กรวัฒน์ เล่าถึง Amity Solutions ธุรกิจของตนเอง ในวันที่ ทุก ๆ 5 นาทีจะมีบริษัท AI ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ว่า วันนี้ Amity Solutions ไม่ได้ทำธุรกิจพัฒนา AI หรือพัฒนา LLM (Large language model) เป็นของตนเองเหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ แต่เราคือผู้นำ AI รูปแบบต่าง ๆ มาปรับให้เข้ากับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เช่น การบริการลูกค้า การตอบคำถามผ่านแชตบอท ที่ถูกต้องและแม่นยำ
“ธุรกิจการนำ AI มาปรับใช้กับบริการของลูกค้า อาจไม่ใช่ธุรกิจที่ “เซ็กซี่” (หวือหวา น่าตื่นเต้น) มากนักเมื่อเทียบกับธุรกิจที่สร้าง AI ตัวใหม่ ๆ ใน ซิลิคอนแวลลีย์ เราไม่ใช่ธุรกิจ Deep AI แต่เราคือคนที่หาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้าและทำให้มีรายได้ ได้จริง”
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ทุกคนในปัจจุบันคิดว่า “ใช้ AI แล้วชีวิตจะง่ายขึ้น” แต่กลับลืมไปว่า AI มันก็คือเครื่องมือหนึ่ง ถ้าเราไม่เข้าใจมันจริง ๆ ก็มีโอกาสที่จะโดนเทคโนโลยีหลอกให้หลงทางได้เช่นกัน กรวัฒน์ การคุยกับลูกค้าให้สำเร็จ คือ ผู้บริหารต้องทดลองใช้งานเองก่อน ถึงจะเข้าใจว่า ไอทีกำลังทำอะไร ถ้าเขาทำเองจะได้รู้ว่าขั้นตอนและเวลาในการพัฒนาไม่ได้ง่าย เพราะทุกอย่างมันก้าวไปไวมาก แทบจะเปลี่ยนแปลงทุกๆ 5-6 เดือน และมีความเสี่ยงทางธุรกิจพอสมควร
ประธานกรรมการบริหาร Amity Solutions มองว่า เราต้องเข้าใจว่า ChatGPT ไม่ได้เข้าใจจริง ๆ ว่าเราพูดอะไร แต่คาดเดาการถามและตอบของแต่ละคนก่อนหน้านี้แล้วพิจารณาออกมาตอบคำถามให้ดีที่สุด ดังนั้นโอกาสที่จะผิดพลาดยังมี ซึ่งทีมวิจัยและพัฒนาของ Amity Solutions สามารถแก้ปัญหาความแม่นยำเหล่านี้ด้วยวิธีให้คนตรวจสอบคำตอบก่อนในช่วงแรก แล้วเมื่อคำถามเดิมแต่เป็นผู้ใช้บริการคนใหม่ AI ก็จะสามารถตอบได้อย่างแม่นยำ
“เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (Generative Artificial Intelligence: GenAI) หากใช้งานมันตรง ๆ ความแม่นยำและเที่ยงตรงจะอยู่ที่ 30-50% และหากปรับใช้ให้ถูกวิธี (เขียน Prompt) ความแม่นยำมีโอกาสขึ้นไปถึง 60-70% แต่ในโลกความเป็นจริงลูกค้าต้องการความแม่นยำ 100% ห้ามผิดเลย เช่น กลุ่มธุรกิจการเงิน ดังนั้นเราจึงยังมีโอกาสทางธุรกิจอยู่ในส่วนนี้”
สภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง AI ยังบูมอยู่ไหม ?
อีกสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ในปัจจุบันคือสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ซึ่งการลงทุนใน AI แต่ละครั้งนับว่าใช้เงินมหาศาล กำลังจ่ายขององค์กรต่าง ๆ ยังมีแวว โดย กรวัฒน์ มองว่า ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้บรืษัทต่าง ๆ ยิ่งต้องลงทุนเรื่อง AI เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและจำกัดต้นทุนให้องค์กรอยู่ได้ในวันที่กำลังซื้อลดลง
แล้วคนจะอยู่ตรงไหน ?
เมื่อ AI จะเข้ามาทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดลง กรวัฒน์ มองว่า ทรัพยากรบุคคลที่เคยทำงานแบบเดิมก็จะถูกบังคับให้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับช่วงที่เครื่องจักรเข้ามาใหม่ ๆ เมื่อหลายร้อยปีก่อน คนก็เปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปให้ดีขึ้น หรือ คอมพิวเตอร์ , ซอฟต์แวร์ ก็เข้ามาช่วยเสริมการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งคนก็เปลี่ยนไปทำงานอื่นแทน
“AI ไม่ได้เข้ามาทำให้คนตกงาน เทคโนโลยีจะค่อย ๆ พัฒนาให้ดีขึ้นและคนจะย้ายไปทำในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ จริงๆ ก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่จะมาแทนเรื่องงานรูทีนแบบเก่า ๆ”
Amity Solutions ปิดดีลระดมทุนรอบซีรีส์ C ไปต่อ IPO
สำหรับการปิดดีลระดมทุนรอบซีรีส์ C ที่ผ่านมา กรวัฒน์ ระบุว่า เรามีเป้าหมายในเรื่องที่จะเข้าตลาดอยู่แล้ว ซึ่งเรารู้สึกว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งเรามีแผนเรื่องการเจาะตลาดและผลักดันในเรื่องของ R&D รวมทั้งในเรื่องของการพัฒนา AI ที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมาย
ส่วนเรื่องของตลาดหุ้น ตอนนี้ กรวัฒน์ มองว่า ยังมีความผันผวน แต่ก็ยังมองว่ามีโอกาสเพราะ AI ยังเป็นเทคโนโลยีที่คนอยากลงทุน เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญในอนาคตและเราเป็นธุรกิจที่ทำงานกับระดับโลก กำไรเกือบทั้งหมดมาจากต่างประเทศ จึงคิดว่าเรามีโอกาสที่จะเข้าตลาดได้
“เราอยู่ใน Sector และหมวดหมู่ที่คนเข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยี และแผนการเติบโตก็เป็นกลยุทธ์ที่เราจะมุ่งไปอย่างชัดเจนด้วย” กรวัฒน์ เจียรวนนท์ กล่าว
“ผมไม่เคยทำบล็อกเชน เมตาเวิร์สหรือ web3 เพราะมองว่ามันเป็นเรื่องที่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่จะ Sustainable หรือ be the future ซึ่งการลงทุนด้านเทคโนโลยีมันต้องชัดเจนเรื่องมูลค่า (Value) ว่ามาตรงไหนและดีกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ แค่ไหน แต่ผมเห็นว่า GenAI มีโอกาสเติบโตตรงไหน นั่นก็สำคัญเพราะเราเลือกและลงทุนในเทคโนโลยีที่มีความสามารถ (protential) สร้างรายได้ในวันนี้ เพื่อโอกาสในอนาคต”