Connect with us

ขอคิด ขอเขียน

“ความสำเร็จ” และ “การแบ่งปัน” ของ “เจ.เค.โรว์ลิ่ง” จากแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่กลับคืนสู่สังคม

Published

on

ความสำเร็จของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้ง 7 ภาคที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ได้ส่งผลให้ชื่อของผู้แต่งนิยายเรื่องนี้ คือ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ติดอันดับกลายเป็นมหาเศรษฐีของโลก แต่แล้วเมื่อปี ค.ศ. 2012 นิตยสารฟอร์บส์ก็ได้ออกมาประกาศว่านักเขียนชื่อดังผู้นี้ไม่ได้อยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีของโลกอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเหตุผลก็คือ เธอได้นำเงินปีละกว่า 160 ล้านปอนด์ (คิดเป็นสัดส่วนถึง 16 % ของทรัพย์สินที่เธอมีทั้งหมด)ไปบริจาคให้กับการกุศล ทำให้ตัวเลขยอดเงินในบัญชีของเธอลดน้อยลงจนชื่อของเธอหลุดออกไปจากรายชื่อของมหาเศรษฐีที่จัดโดยนิตยสารดังกล่าว

เมื่อนักข่าวได้ถามเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอตอบว่า

“มันเป็นเรื่องของจิตสำนึกและความรับผิดชอบ ที่เมื่อเรามีเงินมากจนล้นเหลือก็ควรจะใช้มันไปในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์”เจ.เค.โรว์ลิ่ง กล่าวกับ สำนักข่าว Telegraph

สำหรับผม เมื่อเทียบกับมหาเศรษฐีที่มีเงินมากกว่าเธอ แต่ไม่เคยแบ่งปันช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า ผมก็คิดว่าเธอรวยกว่าคนพวกนั้นอย่างไม่มีข้อสงสัย เนื่องจากมีเหลือเฟือจนสามารถนำไปแบ่งปันให้คนอื่นได้ต่อ ต่างจากเศรษฐีเหล่านั้นที่ยังขาดแคลนและมีความต้องการอยู่ตลอดเวลา จึงไม่อาจนับว่าเป็นคนรวยได้

Advertisement

จากการสังเกต ผมรู้สึกว่าคนที่มีจิตใจเป็นผู้ให้นั้นมักจะไม่ค่อยจน แต่กลับจะร่ำรวยยิ่ง ๆ ขึ้น หรือถึงแม้จะไม่รวยขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ถึงกับยากจนข้นแค้น ผมเคยพยายามหาเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็คิดว่าน่าจะพอหาคำอธิบายได้ สมมุติฐานของผมก็คือ คนที่มีจิตใจเป็นผู้ให้นั้น เขาไม่มีความคิดที่จะไปพึ่งพาคนอื่น เขาวางบทบาทตัวเองเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ เมื่อความคิดนี้ถูกฝังเข้าไปอยู่ภายในจิตใต้สำนึก เขาจึงเป็นคนพึ่งตัวเอง ไม่หวังความช่วยเหลือจากใคร ดังนั้น การพัฒนาฝึกฝนทักษะในด้านต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นตลอดเวลาทำให้เขากลายเป็นคนที่มีความสามารถ

ซึ่งในกรณีของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ก็เช่นกัน เนื่องจากในปลายปี ค.ศ. 2516 ฟอร์บส์ก็ประกาศชื่อ เจ.เค.โรว์ลิ่ง กลับมาติดอันดับมหาเศรษฐีของโลกอีกครั้ง ด้วยรายได้จากงานเขียนเรื่องใหม่ ละครเวที และสวนสนุกแฮร์รี่ พอตเตอร์

“การให้” เป็นคำสอนที่มีอยู่ในทุกสังคมและทุกศาสนา นอกจากจะนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นให้กับสังคมโดยรวมแล้ว การให้ก็ยังเป็นขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนาชีวิตในแบบวิถีพุทธ อันได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา เป็นการฝึกจิตใจให้ตัวเองลดความยึดมั่นถือมั่นลง ลดการพึ่งพาวัตถุสิ่งเสพ ซึ่งเมื่อปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ความสุขสงบทางจิตใจก็จะตามมา 

Advertisement

แม้ว่าโดยทั่วไปการให้จะนำมาซึ่งความสุข แต่สำหรับบางคน มันอาจนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาสู่ตัวเองและครอบครัวก็ได้ หากให้โดยไม่ถูกหลักคำสอน โดยตามหลักธรรมของพุทธศาสนานั้น การ “ทำบุญ” หมายถึง การกระทำความดี มาจากภาษาบาลีว่า “ปุญญะ” แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้น บุญจึงเป็นเสมือนเครื่องกำจัดสิ่งเศร้าหมองที่เราเรียกกันว่า “กิเลส” ให้ออกไปจากใจ บุญจะช่วยให้เราลด ละ เลิกความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีจิตใจคับแคบ อันเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ และช่วยให้ใจเป็นอิสระ พร้อมจะก้าวไปสู่การทำคุณงามความดีในขั้นต่อๆไป เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ทำให้เกิดความอิ่มเอิบใจ มีความสุข และเป็นความสุขที่สงบและยั่งยืน

ส่วนการทำบุญที่หวังผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนชาตินี้หรือชาติอื่น ๆ นั้น เป็นการทำบุญที่ผิดหลักคำสอน และไม่ทำให้ได้พบกับความสุขอย่างแท้จริง  เนื่องจากไม่ได้เป็นไปเพื่อการลดละความอยาก

นอกจากนี้ การทำบุญก็ไม่ใช่เรื่องของการต้องเอามาประกวดประขันกัน เมื่อทำแล้วใจสูงขึ้น มีความสุข จิตใจอิ่มเอิบ เกิดความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ แค่นั้นก็ถือว่าได้บุญแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอามาเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือป่าวประกาศให้ทุกคนทราบ

Advertisement

สิ่งที่ควรพิจารณา เมื่อเราจะแบ่งปันหรือให้ความช่วยเหลือใด ๆ ต่อผู้อื่น คือต้องเป็นการให้ที่ถูกทำนองคลองธรรมและช่วยส่งเสริมความดีงาม ไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือในทางที่ผิด เช่น ช่วยให้เพื่อนได้ลอกข้อสอบ หรือช่วยเหลือญาติพี่น้องโดยการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นต้น

ในการให้นั้น นอกจากผู้ให้จะให้ด้วยจิตที่มีความเมตตา กรุณา และ มุทิตาแล้ว ในบางครั้ง ยังต้องมี อุเบกขาด้วย เนื่องจากไม่มีใครที่จะสามารถช่วยเหลือคนทุกคนบนโลกนี้ได้ หากมีคนมาขอความช่วยเหลือจากเราแต่เราไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยเขาได้ ก็คงต้องปล่อยวาง อย่าเอาเรื่องดังกล่าวมาทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ การเป็นคนใจบุญนั้น ควรจะนำความสุขมาให้เรา ไม่ใช่ความทุกข์ ถ้าเป็นคนดีแล้วมีทุกข์ก็แสดงว่าเรายังปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ความรู้สึกผิดของคนที่เขาต้องการเอาเปรียบเป็นเครื่องมือสำหรับการได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการ ดังนั้น อย่ายอมตกเป็นเหยื่อคนเหล่านี้เพราะคำว่า “ความรู้สึกผิด”

การให้ไม่ใช่การเสียสละ แต่เป็นการแบ่งปันสิ่งที่เรามีเหลือไปให้กับผู้อื่น ถ้าหากตัวเรายังขาดแคลนอยู่ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปช่วยเหลือใคร เอาตัวเองให้รอดก่อน   เปรียบเสมือนกับต้นไม้ การที่มันจะให้ร่มเงากับผู้คนได้นั้น มันต้องยืนต้นและเติบโตขึ้นให้ได้เสียก่อนด้วยการดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์และดึงอาหารขึ้นมาจากพื้นดินเพื่อหล่อเลี้ยงตนเอง เพราะหากมันยังแคระแกร็นเหมือนต้นบอนไซ ก็คงไม่สามารถบังแดดให้ใครได้ ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้นั้น ต้องทำให้ตัวเองแข็งแรงให้ได้เสียก่อนเป็นลำดับแรก

Advertisement

การให้นั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการให้ตัวเราเองด้วย
เพราะเราก็เป็นคนอีกหนึ่งคนที่ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ซึ่งก็สมควรได้รับมันด้วยเช่นกัน !

เรื่องโดย : ขอคิด ขอเขียน

Advertisement
Continue Reading
Advertisement