บทความ
ถึงเวลารถไฟขบวนสุดท้ายที่ป้าย… “หัวลำโพง” บันทึกความทรงจำ 105 ปี ก่อนย้าย “สถานีกรุงเทพ”
พูดถึงหัวลำโพง เชื่อว่าคงเป็นสถานที่ในความทรงจำของใครหลายคนอย่างแน่นอน เพราะระยะเวลากว่า 105 ปี ที่ถูกใช้งานเป็นสถานีรถไฟหลักสำคัญของประเทศ พาผู้คนเดินทางขึ้นเหนือ ล่องใต้มาแล้วนับไม่ถ้วน
โดยสถานีรถไฟหัวลำโพงที่หลายคนเรียกกันติดปาก แท้จริงแล้วมีชื่อว่า “สถานีกรุงเทพ” แต่ด้วยความคุ้มชินของผู้คนที่เรียกกัน น้าๆ ไปหัวลำโพง พี่ลงหัวลำโพงนะ คนเราก็เลยเข้าใจกันไปว่าเป็นสถานีหัวลำโพงโดยปริยาย ซึ่งตัวสถานีหัวลำโพงเองนั้น เป็นสถานีรถไฟของเอกชนสายปากน้ำ ที่เกิดขึ้นก่อนสถานีกรุงเทพ แต่ถูกยกเลิกการใช้งานไปตั้งแต่ปี 2503 แล้ว
- อ่าน : ศักดิ์สยาม ยืนยันรถไฟจะหยุดวิ่งเข้าหัวลำโพง หวังให้บางซื่อเป็นฮับระบบราง
- อ่าน : ปิดตำนาน “สถานีรถไฟหัวลำโพง” เดินทางครั้งสุดท้าย 23 ธ.ค.นี้
นั่งไทม์แมชชี้ย้อนกลับไปในอดีต
สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่กำลังจะย้ายไปสู่แผนศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งแห่งอนาคต อย่างสถานีกลางบางซื่อนั้น ถูกสร้างขึ้นในสมัย ร.5 ปี 2543 ซึ่งมีรถไฟขบวนแรกวิ่งเข้าสถานีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459
รูปแบบการก่อสร้างนั้น ถูกวางไว้เป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสามกับศิลปะคลาสสิคยุคเรอเนสซองส์ ทำให้เวลาเราดูภายนอกจะละม้ายคล้ายคลึงกับรถไฟที่เมืองในยุโรป โดยเฉพาะเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างก็นำมาจากเยอรมันเช่นกัน ด้วยลวดลายประดับประดา ทั้งบันได เสาอาคาร
โดยจุดเด่นสำคัญที่แต่ก่อนต้องบอกว่าเฟี้ยวมาก นั่นคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ด้านหน้าและหลังของอาคารที่ติดตั้งให้สอดประสานไปกับนาฬิกาคลาสสิคที่สั่งทำพิเศษ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 ซม. จากนั้นก็พัฒนาปรับปรุงที่ละเล็กละน้อยจนมาถึงปัจจุบัน จนวันนี้กลายเป็นหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพไปแล้ว
โดยเราสามารถชมความสวยงามของสถานีประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้จาก โรงแรม เดอะควอเตอร์ หัวลำโพง บาย ยูเอชจี พร้อมมาตรฐานความปลอดภัย การันตีด้วยเครื่องหมายมาตรฐาน SHA+
แล้วอนาคต “หัวลำโพง” ต่อจากนี้
กระทรวงคมนาคมได้ประกาศนโยบายมาชัดเจนแล้ว ว่าต่อจากนี้ “สถานีกลางบางซื่อ” ต้องเป็นศูนย์กลางระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทย ดังนั้นสิ่งที่หนีไม่พ้นแน่ คือ การถูกลดบทบาทลงของหัวลำโพง แต่ก็มิใช้การทิ้งร้าง โดย บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟฯ ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่นี้ไว้อย่างยิ่งใหญ่ นิยามว่า “ศูนย์คมนาคมกลางเมือง”
ทำการจัดสรรพื้นที่บางส่วนไปใช้เชิงพาณิชย์แบบทันสมัย แต่ยังมีติ่งไว้ว่า ยังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิม ส่วนพื้นที่ริมทางรถไฟ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ – สถานีหัวลำโพง ตอนนี้กำลังทบทวนกันอยู่ถึงแบบโครงการ Missing Link โดยเฉพาะช่วงสถานีราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อไม่ให้การเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาลเกิดปัญหาได้
ผลสรุปของแผนก็แบ่งออกมาเป็นระยะๆ คร่าวๆ พื้นที่ 120 ไร่ มูลค่ากว่า 14,400 ล้านบาท จะถูกแบ่งเป็น 5 โซนด้วยกัน ทำให้เราจะได้เห็นทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่อนุรักษ์ เมื่อพื้นที่ใจกลางเมืองอันงดงามขนาดนี้ เอกชนจะปล่อยให้หลุดมือได้อย่างไร ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้ามาแน่!
ปัจจุบันนี้พื้นที่หัวลำโพงยังเป็นเขตผังเมืองสีน้ำเงิน นั่นคือ เขตราชการไม่สามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ และอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำเรื่องขออนุมัติเปลี่ยนผังเมืองให้กลายเป็นพื้นที่ผังเมืองสีแดง ให้สามารถนำไปพัฒนาสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องดูแผนของ รฟท.กันต่อไปว่าจะเอาอย่างไร
ประวัติศาสตร์ หรือ อนาคต ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นพ้อง
แม้แผนการในอนาคตที่จะย้ายไป สถานีกลางบางซื่อ ที่มีความทันสมัยและจะเป็นฮับระบบรางของอาเซียน ด้วยงบประมาณกว่า 34,142 ล้านบาท จะสร้างความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นพ้องว่าจะให้หยุดเดินรถเข้าหัวลำโพง ดูได้จากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงขั้นแถลงการณ์คัดค้านนโยบายนี้ เพราะจะเป็นการทำลายประวัติของการรถไฟฯ
พร้อมให้เหตุผลว่า จะทำให้ประชาชนที่ใช้บริการไป-กลับ ทำงานทุกวันรับความเดือดร้อน ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรที่ดีขึ้น เพราะรถไฟสร้างมาก่อนถนน รวมถึงการนำที่ดินหัวลำโพงไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แล้วคุณละครับคิดอย่างไร กับรถไฟขบวนสุดท้ายที่หัวลำโพง…
เรื่องโดย : กมลธร โกมารทัต
ภาพ : นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ Via Brickinfo Media