ข่าว
โลกต้องจารึก! ยานสหรัฐฯ “ครูว์ ดรากอน” เชื่อมต่อ “สถานีอวกาศนานาชาติ” สำเร็จ
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า สเปซเอกซ์ (SpaceX) ได้ประกาศดำเนินภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ขั้นแรกสำเร็จ ในการส่งลูกเรือขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ (31 พ.ค. 63) หลังจากที่ยานอวกาศครูว์ ดรากอน (Crew Dragon) ประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกับห้องปฏิบัติการในวงโคจร
นับเป็นครั้งแรกสำหรับ ครูว์ ดรากอน ยานอวกาศเชิงพาณิชย์ลำนี้ที่เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อเวลา 10.16 น. ของวันอาทิตย์ ตามเขตเวลาตะวันออกของสหรัฐฯ ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่วางแผนไว้ไม่กี่นาที โดยยานได้พาสองนักบินอวกาศ บ๊อบ เบห์นเกน และ ดัก เฮอร์ลีย์ เข้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติเมื่อเวลา 13.22 น. ตามเขตเวลาตะวันออก
การเชื่อมต่อถือเป็นขั้นตอนที่อันตราย และต้องใช้ความระแวดระวังอย่างยิ่ง ยานอวกาศลำนี้จึงได้ปรับเปลี่ยนองศาอยู่หลายครั้ง เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะเจาะในการเชื่อมต่อเข้ากับสถานี
นักบินอวกาศทั้งสองทำงานร่วมกับสเปซเอกซ์ เพื่อดำเนินภารกิจตรวจสอบว่ายานอวกาศทำงานได้ตามที่ต้องการหรือไม่ โดยได้ทดสอบระบบควบคุมสิ่งแวดล้อม การแสดงผล การควบคุม และการฝึกใช้ตัวขับแรงดัน เป็นต้น
“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ของความมุ่งมั่นบากบั่นยาวนานถึง 9 ปี หลังจากครั้งล่าสุดที่กระสวยอวกาศสหรัฐฯ เชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ” เฮอร์ลีย์ กล่าว หลังการเชื่อมต่อประสบความสำเร็จ
“เราต้องขอแสดงความยินดีกับเจ้าหน้าที่ทั้งชาย และหญิงของสเปซเอกซ์ ที่ฮอธอร์น แมคเกรเกอร์ (Hawthorne McGregor) และที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy) ด้วยความพยายามอันน่าทึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาของพวกเขา ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้นี้กลายเป็นจริง” นักบินอวกาศกล่าว
ด้านเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินระบุว่า ภารกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น
ก่อนจะเปิดประตูและเข้าสู่สถานี เบห์นเกน และ เฮอร์ลีย์ ได้ทำการตรวจสอบแรงดัน และการรั่วไหลหลายครั้งเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย จากนั้นประตูก็ได้เปิดออกเมื่อเวลา 13.02 น. ตามเขตเวลาตะวันออก
นาซา ทวีตว่า “พวกเขาทำสำเร็จ หลังออกจากศูนย์อวกาศเคนเนดี ด้วยแคปซูลดรากอน เอนดีฟเวอร์ (Dragon Endeaver) ของสเปซเอกซ์เมื่อวาน เบห์นเกน และ เฮอร์ลีย์ ก็ร่วมเป็นสมาชิกลูกเรือสถานีอวกาศนานาชาติแล้ววันนี้ เมื่อ 13.02 น. ตามเขตเวลาตะวันออก”
นักบินอวกาศทั้งสองเข้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติเมื่อเวลา 13.22 น. ตามเวลาตะวันออก พวกเขาร่วมทีมกับ คริส แคสซิดี (Chris Cassidy) นักบินอวกาศของนาซา และนักบินอวกาศรัสเซีย 2 คนที่อยู่บนสถานี และกลายเป็นสมาชิกทีมนักบินอวกาศชุดเอกซ์พีดิชัน 63 (Expedition 63) โดยพวกเขาจะทำการทดสอบต่าง ๆ บนยานครูว์ ดรากอน นอกเหนือจากการทำวิจัย และงานอื่น ๆ กับลูกเรือที่สถานีอวกาศด้วย
การเชื่อมต่อประสบความสำเร็จ หลังจากนักบินอวกาศทั้งสองใช้เวลาประมาณ 19 ชั่วโมงอยู่ในครูว์ ดรากอน ซึ่งทะยานจากผืนดินเมื่อวันเสาร์ขึ้นมาโคจรอยู่รอบโลก
จรวดสเปซเอกซ์ฟัลคอน 9 (Falcon 9) ได้บรรทุกยานอวกาศครูว์ ดรากอน ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยจรวด 39เอ ในศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
ถือเป็นการกลับมาดำเนินภารกิจเช่นนี้ครั้งแรก หลังจากครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2011 (2554) ที่นักบินอวกาศชาวอเมริกันพร้อมจรวดอเมริกันได้ทะยานขึ้นจากผืนดินสหรัฐฯ สู่สถานีอวกาศนานาชาติ ทั้งยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นักบินอวกาศนาซาโดยสารยานอวกาศเชิงพาณิชย์ และพายานอวกาศบรรทุกลูกเรือสัญชาติอเมริกันลำนี้ขึ้นสู่วงโคจร
หลังเข้าสู่วงโคจรแล้ว เบห์นเกน และ เฮอร์ลีย์ ประกาศว่าพวกเขาได้ตั้งชื่อแคปซูลว่า ‘เอนดีฟเวอร์’
นี่เป็นเที่ยวบินทดสอบขั้นสุดท้ายสำหรับโปรแกรมลูกเรือพาณิชย์นาซาของสเปซเอกซ์ ที่จะให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประสิทธิภาพของจรวดฟัลคอน 9 ยานอวกาศครูว์ ดรากอน และระบบภาคพื้นดิน รวมถึงปฏิบัติการต่าง ๆ ในวงโคจร การเชื่อมต่อ และการลงจอด
ยังไม่มีการประกาศระยะเวลาของภารกิจดังกล่าว ซึ่งนาซาระบุว่าเรื่องนี้จะได้รับการตัดสินจากความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจส่งลูกเรือเชิงพาณิชย์ต่อไป
พิสูจน์อักษร : อาภากร เปี่ยมเชาว์