Connect with us

ข่าว

อมตะ เตรียมรับคลื่นลงทุนใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ตอบโจทย์ไฮเทคใน EEC

Published

on

โอซามู ซูโด, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), AMATA, BOI, IEAT, ชลบุรี, ระยอง, เวียดนาม, สปป.ลาว, นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ระยอง, นิคมไทย-จีน

อมตะ คอร์ปอเรชัน เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งอนาคต ขานรับการย้ายฐานการผลิตจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นที่หวังใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) พร้อมก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พัฒนาพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีล้ำสมัย สนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชน รองรับความเปลี่ยนแปลงในตลาดการลงทุนระหว่างประเทศ

นักลงทุนจีน-ญี่ปุ่นแห่ลงทุนในไทย

นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนจากหลายประเทศเข้ามาให้ความสนใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่น ซึ่งต่างมองว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่มีความสำคัญระดับภูมิภาค โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มียอดโอนที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มียอดรอการรับรู้รายได้จากการโอน (Backlog) อยู่ที่ 16,939 ล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะสามารถทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 50% และอีก 50% ในปี 2568

ย้ำจุดแข็งนิคมฯ อมตะใน EEC

ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมของอมตะอยู่ในจังหวัดชลบุรีและระยอง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ระยอง และนิคมไทย-จีน จังหวัดระยอง โดยนิคมอุตสาหกรรมอมตะตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากแรงจูงใจที่สำคัญจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IEAT) แล้ว พื้นที่ EEC ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครบถ้วน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาค

ขยายการลงทุนในเวียดนามและลาว

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ทางอมตะได้เข้าไปลงทุนใน 2 ประเทศหลัก คือ เวียดนาม และ สปป.ลาว โดยในเวียดนามประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง และโครงการนิคมฯ ร่วมทุนกับพันธมิตรนานาชาติอีก 1 แห่ง ได้แก่ 1. นิคมฯ อมตะซิตี้ เบียนหัว 2. นิคมฯ อมตะซิตี้ ลองถั่น 3. นิคมฯ อมตะซิตี้ ฮาลอง และ 4. นิคมฯ กว่างจิ (Joint Venture) คิดเป็นมูลค่าลงทุนทั้งสิ้นกว่า 860 ล้านเหรียญสหรัฐ บนพื้นที่ดินที่ได้รับใบอนุญาต 3,000 เฮกตาร์ (18,750 ไร่) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาเตย แขวงหลวงน้ำทา และนิคมอุตสาหกรรมอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาหม้อ แขวงอุดมไซ

Advertisement

มุ่งสู่เมืองอัจฉริยะ

ทั้งนี้ในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการจากทั่วโลก โดยอมตะได้วางแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น ระบบพลังงานสะอาด การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งช่วยส่งเสริมให้อมตะเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ สำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาทำเลที่ดีและเชื่อมโยงการผลิตสู่การส่งออกในภูมิภาคอาเซียน

สร้างมูลค่าเพิ่มและบริการครบวงจร

โดยอมตะได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกพื้นที่พัฒนาเป็นมากกว่าแค่สถานที่ประกอบธุรกิจ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การจัดหาแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผสมผสานสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอุตสาหกรรมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ผู้เช่าและนักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจ สามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อมตะยังให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ ผ่านโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

รับกระแส China Plus One

สำหรับทิศทางในปี 2568 ของอมตะ ยังมองว่ากระแส “China Plus One” จะยังดำเนินต่อไป ซึ่งเป็นกระแสที่เด่นชัดมาตั้งแต่ช่วงหลังความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ทำให้การย้ายฐานการผลิตนอกประเทศจีนไปมาสู่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอมตะจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก

Advertisement