Connect with us

ข่าว

NIA ชี้หลังวิกฤติโควิด – 19 เทรนด์ใหม่ “เวิร์คฟอร์มโฮมทาวน์” มีแนวโน้มขยายตัว

Published

on

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยหลังวิกฤตการระบาดโรคโควิด – 19คลี่คลาย ทิศทางการทำงานที่บ้าน : Work from Home จะยังมีต่อเนื่องสักระยะ โดยเฉพาะในธุรกิจนวัตกรรมบริการ ธุรกิจนวัตกรรมการสื่อสาร ธุรกิจนวัตกรรมการเงิน รวมถึงหน่วยงานในกำกับราชการบางหน่วยงาน พร้อมชี้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ บางส่วนอาจกลับไปทำงานอยู่ในภูมิลำเนาหรือเมืองรองมากขึ้นโดยอาศัยสื่อสารผ่านดิจิทัล นอกจากนี้ ยังเผยอีกว่า ช่วงไตรมาสที่ 2 จนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ธุรกิจสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีอาจมีการหยุดชะงักบ้างยกเว้นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด -19 ทั้งนี้ คาดว่าในระยะหลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไป จะเริ่มเกิดปัญหาสภาพคล่อง NIA จึงได้เร่งหามาตรการด้านการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) กล่าวว่า มาตรการการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home ได้กลายเป็นปรากฏการณ์การทำงานรูปแบบใหม่ของหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน ซึ่งหลังจากที่สถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลายลง อาจจะได้เห็นการเริ่มต้นทำงานที่บ้านของหลายๆบริษัทอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจนวัตกรรมบริการ ธุรกิจนวัตกรรมการสื่อสาร ซึ่งรวมถึงสื่อและผู้พัฒนาระบบ ธุรกิจนวัตกรรมการเงินและการตลาด (Fintech)  หรือแม้แต่หน่วยงานในกำกับราชการ ที่จะขยายโอกาสให้บุคลากรได้มีการทำงานจากนอกสำนักงานมากขึ้น ทังยังมีการปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่น รวมทั้งยังจะได้เห็นสตาร์ทอัพและนักพัฒนาเทคโนโลยีออกมานำเสนอแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อใช้ในการอำนวยความสะดวกกับการทำงานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการ Work From Home จะเป็นกระแสที่มาแรงและมีความน่าสนใจ แต่กระแสดังกล่าวอาจยังไม่ใช่ความปกติในรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า New Normal สำหรับสังคมการทำงานของประเทศไทย เนื่องจากในบางธุรกิจก็ยังไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพราะต้องใช้แรงงานคนขับเคลื่อน และบางอุตสาหกรรมยังจำเป็นต้องพึ่งพาฝีมือแรงงานเกือบ 100 % นอกจากนี้ แม้ว่าบางบริษัทจะเริ่มให้ความกับการทำงานที่บ้านมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติอาจยังไม่สามารถทำได้ในระยะยาว เนื่องจากยังมีกลุ่มคนที่คุ้นชินกับการทำงานในระบบออฟฟิศแบบดั้งเดิม การติดต่อธุรกิจที่ไม่สามารถกระทำผ่านอินเทอร์เน็ตได้ อีกทั้งยังคงต้องการพบปะเพื่อพูดคุยในทางสังคม รวมไปถึงการระดมสมองในระหว่างการทำงาน อย่างไรก็ดี NIA คาดการณ์ว่าประมาณช่วงหลังวันที่ 13-15 เมษายนเป็นต้นไป หากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะเริ่มลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ หลายบริษัทอาจจะเลือกเวิร์คฟอร์มโฮมถึงแค่ช่วงสิ้นเดือนเมษายน แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นและไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 3 เดือน คาดว่าจะต้องเวิร์คฟอร์มโฮมไปจนถึงสิ้นปี 2563 และภาครัฐรวมถึงประชาชนจะต้องเริ่มวางแผนการใช้ชีวิตแบบใหม่หลังจบเดือนมิถุนายนนี้

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะเป็นปรากฏการณ์ใหม่หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด -19 จบลงอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำงานจากบ้านเกิดกันมากขึ้น หรือเรียกว่า การอพยพทางเศรษฐกิจกลับบ้าน “Home-coming economic migration” คนจะเลือกทำงานในถิ่นฐานเมืองรองมากขึ้น และใช้การสื่อสารผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น เพราะการเกิดโรคระบาดสะท้อนให้เห็นว่าความแออัด และระบบความปลอดภัยในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกยังไม่มีมาตรการที่แน่ชัด โดยเฉพาะเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในภาวะวิกฤตินี้ทำให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านสาธารณสุขขึ้นมากมาย รวมถึงนวัตกรรมอื่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในช่วงนี้ เช่น นวัตกรรมการเว้นระยะทางสังคม นวัตกรรมด้านการศึกษา นวัตกรรมการใช้ความช่วยเหลือ ฯลฯ

“เรื่องที่น่าเป็นห่วงนอกเหนือจากการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนคือ ช่วงไตรมาสที่ 2 จนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ธุรกิจสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีอาจมีการหยุดชะงัก แต่ยังไม่ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ยกเว้นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด -19 ระบบโลจิสติกส์ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค การบริการด้านการเงิน และอาหาร ที่สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในช่วงนี้ได้ ซึ่งนอกจาก NIA จะมีทุนสนับสนุนในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด -19 แล้ว ยังได้ริเริ่มสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงกลุ่มบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ตรงตามความต้องการของโรงพยาบาลและประชาชน เพื่อให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ คาดว่าในระยะหลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไป จะเริ่มเกิดปัญหาสภาพคล่อง NIA จึงได้เร่งหามาตรการด้านการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงินหลายแห่ง รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กรผ่านหลักสูตร และโปรแกรมต่างๆ มากมาย”  ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ และ facebook.com/NIAThailand

Advertisement
Continue Reading
Advertisement