ข่าว
ส่องภาพรวมคอนเทนต์ไทย ปี 67 โกอินเตอร์! หนัง-ซีรีส์-แอนิเมชัน กวาดรางวัล-ยอดวิวทะลุโลก

สำนักข่าวบริคอินโฟ – ปี 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีทองของ คอนเทนต์ไทย ที่สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จในระดับโลก ทั้ง ภาพยนตร์, ซีรีส์ และแอนิเมชัน ต่างได้รับความนิยมและการยอมรับจากผู้ชมทั้งในและต่างประเทศ ไม่เพียงแต่ หนังสยองขวัญ (Horror Film) ที่ครองใจผู้ชมชาวไทยมาอย่างยาวนาน แต่ คอนเทนต์ไทย แนว คอมเมดี้, ดราม่า และแอ็คชั่น ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน
แอนิเมชันไทย อย่าง องครักษ์พิทักษ์เจี๊ยบ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 12 ภาพยนตร์แอนิเมชัน ในหมวด Annecy Presents จากงาน Annecy International Animation Film Festival ปี 2024 ขณะที่ ซีรีส์ไทย เรื่อง DELETE คว้า 2 รางวัลจากงาน Asian Television Awards (ATA) ส่วน สืบสันดาน สร้างประวัติศาสตร์เป็น ซีรีส์ไทยเรื่องแรก ที่ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ต Netflix Global Top 10 หมวดซีรีส์ภาษาต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) และครองอันดับ 1 ใน 10 ประเทศ
ทางด้าน ภาพยนตร์ไทย ทำรายได้รวมในประเทศกว่า 2,438 ล้านบาท โดยมี ภาพยนตร์ ที่ได้รับความนิยมมากมาย เช่น ธี่หยด 2, วิมานหนาม, อนงค์, วัยหนุ่ม 2544 และที่สร้างปรากฎการณ์ หลานม่า กวาดรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก อาทิ รางวัลจาก The 61st Asia Pacific Film Festival, New York Asian Film Festival 2024, Gold List Film 2025, 2025 Palm Springs International Film Festival และติดอันดับบน Letterboxd’s 2024 Year in Review
ความสำเร็จของ คอนเทนต์ไทย เป็นผลมาจากความคิดสร้างสรรค์, เอกลักษณ์ และความหลากหลาย ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้หลากหลายกลุ่ม ส่งผลให้ คอนเทนต์ไทย เป็นที่รู้จักในระดับสากล กระตุ้นการบริโภคสินค้าทางอ้อม และส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว อาหาร และแฟชั่น
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรม คอนเทนต์ไทย ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในปี 2568 ทั้งด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาทักษะ, เงินทุน และการแข่งขัน รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ เช่น การเติบโตของ สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม และ โซเชียลมีเดีย แต่สิ่งสำคัญคือการสร้าง คอนเทนต์ ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ และสร้างคุณค่าให้กับผู้ชม
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า “การเติบโตของ อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ส่งผลดีต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจของประเทศ CEA มุ่งมั่นผลักดันอุตสาหกรรมนี้ โดยเน้นการสร้างเครือข่าย สนับสนุนการเรียนรู้ และพัฒนาบุคลากร ผ่านโครงการ ‘Content Lab 2025’ เพื่อผลักดัน คอนเทนต์ไทย สู่ระดับโลก”