ข่าว
ทรู เดินหน้าโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยอัจฉริยะ ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ WWF-ประเทศไทย เดินหน้าโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า True Smart Early Warning System (TSEWS) ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ระบบเตือนภัยอัจฉริยะนี้ ได้นำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G, 4G และ IOT มาเป็นโซลูชันช่วยจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง หรือ Human-Elephant Conflict (HEC) ผ่านโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า หรือ True Smart Early Warning System (TSEWS) โดยมีการนำเครือข่ายอัจฉริยะ 4G, 5G ผสานกับเทคโนโลยี AI และอุปกรณ์ IoT พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า ติดตั้งกล้อง Camera Trap พร้อมซิม เชื่อต่อเครือข่าย เพื่อระบุพิกัด และแจ้งเหตุแบบเรียลไทม์
นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) เป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน”
ตลอดระยะเวลา 7 ปีของการดำเนินงาน ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะ True Smart Early Warning System (TSEWS) ได้พิสูจน์ประสิทธิภาพในการสนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่หน่วยผลักดันช้างป่าอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติล่าสุดในปี 2566 แม้พบเหตุการณ์ช้างป่าบุกรุกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีถึง 1,104 ครั้ง แต่เกิดความเสียหายต่อพืชผลเพียง 4 ครั้ง หรือคิดเป็น 0.36% เท่านั้น นับเป็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2560
ก่อนการติดตั้งโซลูชันที่มีความเสียหายสูงถึง 74.5% สะท้อนให้เห็นว่าระบบแจ้งเตือน TSEWS นี้ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถผลักดันช้างกลับคืนสู่ป่าและป้องกันความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพเกือบ 100%
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีในประเทศไทย ทรูไม่เพียงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย บนเครือข่าย 5G, 4G และบรอดแบนด์ความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืน สำหรับโซลูชัน ‘True Smart Early Warning System (TSEWS)’ คือตัวอย่างความสำเร็จของแนวคิด Tech for Good ที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่หลายพื้นที่ในโลก”
“ปัญหาสำคัญของความเสียหายในพื้นที่ที่ถูกช้างป่าบุกรุก คือ การไม่สามารถระบุตำแหน่งและคาดการณ์การเคลื่อนที่ของช้างได้ทันท่วงที ส่งผลให้ช้างป่าบุกรุกเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน เราจึงพัฒนาโซลูชัน ‘True Smart Early Warning System (TSEWS)’ เฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ โดยผสานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า (Camera Trap) พร้อมระบบวิเคราะห์ภาพอัจฉริยะเพื่อระบุตำแหน่งช้างได้แม่นยำ สู่การลงมือแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และไม่ใช่การปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเป็นต้นแบบการจัดการและแบ่งปันความรู้ไปยังพื้นที่ประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกันได้ด้วย” นายมนัสส์ กล่าวในที่สุด
โครงการนี้เป็นตัวอย่างความสำเร็จของแนวคิด Tech for Good ที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่หลายพื้นที่ในโลก