ข่าว
SMC เผยผลสำเร็จยกระดับโรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หนุนอุตสาหกรรม 4.0 สู่ความยั่งยืน
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) รายงานผลความก้าวหน้าปี 2567 ยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,636 ล้านบาท พร้อมเผยผลสำรวจความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย และแผนงานปี 2568 มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
SMC ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) หน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรม SMC Open House 2024 รายงานผลการดำเนินงานปี 2567 โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า เนคเทค สวทช. มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี AI ระบบอัตโนมัติ และ IoT เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMC ช่วยเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไทย
SMC ยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี ARI
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) กล่าวว่า SMC มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยในปี 2567 SMC สนับสนุนการยกระดับด้วยเทคโนโลยี ARI (Automation Robotic and Intelligent System) รวม 131 โรงงาน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3,636 ล้านบาท ผ่านบริการต่าง ๆ ของ SMC เช่น การให้คำปรึกษา BOI การประเมินความพร้อมอุตสาหกรรมตามแนวทาง Thailand i4.0 Index และการพัฒนาบุคลากรในภาคการผลิตผ่านโครงการ SMC Academy
ผลักดัน Digital Transformation ขับเคลื่อนโรงงานอย่างยั่งยืน
SMC สนับสนุนการประยุกต์ใช้ AI ในโรงงาน โดยเปิดให้บริการเครื่องมือช่วยพัฒนา Edge IoT และ Machine Learning ผ่าน 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ “Daysie” และ “NoMadML” พร้อมให้บริการศูนย์ทดสอบมอเตอร์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศ ที่สามารถทดสอบมอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดสูงสุด 380 kW ได้ตามมาตรฐานนานาชาติ
เผยผลสำรวจความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย ปี 2567
ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 สวทช. เผยผลสำรวจ ระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยประจำปี 2567 ด้วยดัชนีชี้วัด Thailand i4.0 Index โดยสำรวจบริษัทในภาคการผลิตจำนวน 350 บริษัท ใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ผลการสำรวจพบว่า ค่าเฉลี่ยความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย อยู่ในช่วง 1 ถึง 6 ซึ่งเทียบเคียงได้กับระดับอุตสาหกรรม 1.0 ถึง อุตสาหกรรม 4.0 โดยกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน มีค่าเฉลี่ยความพร้อม อยู่ที่ 1.81 ในด้านเทคโนโลยีในสายการผลิต 2.62 ในด้านระบบสารสนเทศ และ 3.0 ในด้านความพร้อมขององค์กรและบุคลากร
กลุ่มอุตสาหกรรม เทคโนโลยีในสายการผลิต ระบบสารสนเทศ ความพร้อมองค์กร กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน 1.81 2.62 3 กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 1.92 2.53 3.19 กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 1.92 2.62 3.06 กลุ่มเหล็กและอลูมิเนียม 1.56 1.99 1.99 กลุ่มการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ 1.68 2.37 1.92 กลุ่มพลาสติกและเคมีภัณฑ์ 1.44 2.57 2.22 กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 1.69 2.24 2.68 กลุ่มยาและเครื่องสำอาง 1.86 2.23 2.46 กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 1.48 2.47 2.04
ก้าวต่อไปของ SMC ในปี 2568
ในปี 2568 SMC มีเป้าหมายสำคัญในการต่อยอดผลการประเมินความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนีชี้วัด Thailand i4.0 Index เพื่อการพัฒนา แผนการและการดำเนินงานด้าน Digital Transformation อย่างเป็นระบบ ได้แก่ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (DX Roadmap) การนำแผนไปปฏิบัติจริง (Implementation) การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการสนับสนุนแนวคิดการผลิตที่ยั่งยืน โดย SMC พัฒนา ACAMP ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการคาร์บอนแบบอัตโนมัติ สามารถติดตามข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรแบบเรียลไทม์