Connect with us

ข่าว

True 5G ใช้ AI พัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม ผ่านแนวคิด “3Zero” ยกระดับประสบการณ์ลูกค้าหลังควบรวม dtac

Published

on

    ทรู คอร์ปอเรชั่น เดินหน้าโครงการยกระดับเครือข่ายสู่ความทันสมัย (Network Modernization) โดยอัปเกรดสถานีฐานไปแล้วกว่า 10,800 แห่ง คิดเป็น 64% ของแผนงานทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ส่งผลให้ความเร็ว 5G เพิ่มขึ้น 48% ความเร็ว 4G เพิ่มขึ้น 13% และแบนด์วิธเพิ่มขึ้น 35% พร้อมรองรับผู้ใช้บริการ 5G จำนวน 12.4 ล้านราย

    นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เร่งพัฒนาประสิทธิภาพเครือข่ายด้วยการอัปเกรดอุปกรณ์ส่งสัญญาณรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการขยายคลื่น 700 MHz และ 2600 MHz พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพคลื่น 700 MHz และ 2100 MHz เพื่อให้ลูกค้าทรูและดีแทคใช้งานเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่และมีความเร็วมากยิ่งขึ้น

    “เสาสัญญาณก่อนการควบรวมมีการแบ่งเสากันตามแบรนด์ True-dtac แต่ปัจจุบันเมื่อมีการควบรวม เสาหนึ่งต้นก็ถูกอัปเกรดให้สามารถรองรับคลื่นความถี่ที่ทั้งสองแบรนด์มีและรองรับการให้บริการได้ทั้ง 2 แบรนด์ต่อหนึ่งเสา ซึ่งนอกจากจะสามารถขยายแบนด์วิธและความครอบคลุมที่สูงขึ้น เพราะในอดีตเสาสัญญาณ True-dtac ต่างมีตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทำให้บางครั้งบางพื้นที่ผู้ใช้บริการบางแบรนด์อาจมีสัญญาณที่ไม่ทั่วถึง แต่เมื่อควบรวมกันแล้วจะทำให้เสาที่เดิมมีจุดยุทธศาสตร์ที่ดีของค่ายหนึ่งจะมีการปล่อยสัญญาณของอีกค่ายหนึ่งด้วย ทำให้พื้นที่บริการเดิมที่เสาสัญญาณไม่ครอบคลุมก็จะสามารถใช้งานได้ และตัวเสาเดิมก็จะได้รับการอัปเกรด ให้ครอบคลุมทุกคลื่นความที่ได้ด้วย”

    ล่าสุด True นำเทคโนโลยี AI มาสร้างเครือข่ายอัจฉริยะภายใต้กลยุทธ์ “3Zero” ประกอบด้วย

    • Zero Touch: ระบบบริหารจัดการแบบอัตโนมัติ ตรวจจับ วิเคราะห์ แก้ไขปัญหาด้วย AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโครงข่าย 80% เช่น จุดที่ไม่มีการใช้บริการแล้วอย่างในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หลัง 18.00 น. จะปิดทำการให้นักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ การปิดเสาสัญญาณไม่ให้ทำงานเต็มระบบด้วยคนจะลดลง และจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงาน 30% จากการบริหารจัดการการใช้พลังงานของเสาสัญญาณได้
    • Zero Wait: ระบบ AI ปรับแต่งเครือข่ายแบบเรียลไทม์ตามพฤติกรรมผู้ใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายทันทีในทุกสถานการณ์ เช่น พื้นที่จัดคอนเสิร์ต พื้นที่จัดงานปีใหม่ แบบไม่ต้องรอวิศวกรมาแก้ไขระบบเป็นระยะเวลานาน
    • Zero Trouble: ระบบ AI วิเคราะห์ข้อมูลเครือข่ายแบบเรียลไทม์ คาดการณ์และป้องกันปัญหา ลดเวลาเครือข่ายขัดข้อง 40% ลดข้อร้องเรียน 40% ภายใน 3 ปี

    นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังนำโครงข่ายไปประยุกต์ใช้เพื่อสังคม เช่น โครงการ True Smart Early Warning System (TSEWS) ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ใช้โครงข่ายสมรรถนะสูงในการเฝ้าระวังช้างป่าและลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง

    “นี่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้บริการผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์ปัญหาเชิงองค์กร วิเคราะห์ปัญหาในการให้บริการ และการลดใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”