Connect with us

ความเชื่อ

เจาะตลาดสายมู เบอร์มงคล AIS เปิดตัว เบอร์ตระกูลกวนอู 639 ส่วน True จัดโปร “เบอร์มงคลยกบริษัท”

Published

on

เบอร์มงคล

AIS เปิดตัว เบอร์มงคลตระกูลกวนอู 639 พบ 10 ปีที่ผ่านมาที่ร่วมงานกับบริษัทผู้คนเริ่มหันมาสนใจเบอร์มงคลมากขึ้น ผู้บริหารบอก รายได้ปีหนึ่งกว่า 1,300 ล้านบาท ด้าน True เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ เจาะกลุ่มองค์กรด้วย “เบอร์มงคลยกบริษัท” สะท้อนภาพรวมความเชื่อของคนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

ด้านความเชื่อ เบอร์มงคล เป็นอย่างไร ?

ขณะที่ อ.ช้าง-ทศพร ศรีตุลา กล่าวว่า ศาสตร์ความเชื่อเรื่องตัวเลขเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยเชื่อว่าจะเสริมชีวิตให้เจริญ รุ่งเรือง และราบรื่นได้ เพราะตัวเลขแต่ละตัว มีความหมายสื่อถึงพลังพิเศษในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน 

ซึ่งนอกจากความเชื่อเรื่องตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของตัวเองแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเจ้าของกิจการ หรือ SME ห้างร้านต่างๆ ก็อยากเสริมมงคล สร้างกำลังใจ ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

แมน การิน ผู้เชี่ยวชาญด้านความเชื่อเกี่ยวกับตัวเลข ระบุว่า ตลาดความเชื่อด้านตัวเลข อย่าง เบอร์มงคล มีการเติบโตมากยิ่งขึ้นโดยตลอด 10 ปีที่ทำงานกับ AIS พบเห็นพฤติกรรมลูกค้าที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน

Advertisement

สำหรับหมวดของเบอร์มงคลยอดนิยม อาทิ เงิน-งาน งาน-ความรัก เรียน-สุขภาพ สุขภาพ-ความรัก ซึ่งในความต้องการมีในรายละเอียดลงไปอีก อาทิ เบอร์สวย เบอร์สวยและมงคลมงคล หรือเบอร์ที่รวมกันแล้วผลรวมดีเป็นไปตามความเชื่อของผู้คน ซึ่งหมายเลขส่วนหนึ่งเป็นหมายเลขที่เป็นหมายเลขใหม่และหมายเลขที่ไม่มีผู้ใช้แล้วนำมาให้บริการใหม่ ซึ่งเป็นไปตามกฎของ กสทช.

มีเบอร์มงคลเยอะไม่ตีกัน แต่ระวังเสียของ

แมน การิน มองว่า หากผู้ใช้มีเบอร์มงคลมากกว่าหนึ่งเบอร์ในทางทฤษฎีจะไม่มีเบอร์มงคลตีกัน แต่อาจจะทำให้เบอร์มงคลที่มีในหมวดหมู่เดียวกันอาจดีไม่เท่ากันหรือหากพูดโดยทั่วไปคือเสียของ ดังนั้นหากผู้ใช้จะมีเบอร์มงคลควรเป็นเบอร์ที่ทำหน้าที่ต่างกัน

ด้านธุรกิจ เบอร์มงคล สร้างรายได้มากแค่ไหน ?

คณาธิป ธีรทีป หัวหน้าแผนกงานการตลาดด้านผลิตภัณฑ์และลูกค้าโพสต์เพด AIS ระบุว่า ศาสตร์ความเชื่อด้านตัวเลขของ แมน การิน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาบริษัทเห็นพฤติกรรมของคนไทยที่มีความเชื่อด้านโชคลาภโดยเฉพาะเรื่องของตัวเลข ส่วนตัวยอมรับว่าเมื่อ 10 ปีก่อน ก็ยังมีความไม่มั่นใจอยู่บ้าง ในวันที่ แมน การิน เข้ามาเสนอแผน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มตลาดเบอร์มงคลสร้างรายได้จนมีมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากแพคเกจการโทรและอินเทอร์เน็ต

“ในตลาดนี้มีมูลค่ามหาศาล ส่วนกลุ่มมพ่อค้าและแม่ค้าที่ซื้อเบอร์มงคลมาขายต่อ พวกเขาเชื่อว่า ตลาดของตนมูลค่ารวมอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท ซึ่ง AIS ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม ไม่สามารถขายเบอร์โทรอย่างเดียวในราคาหลักแสนได้เหมือนกับพ่อค้า-แม่ค้า แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้คือ การสร้างมูลค่าผ่านสินค้าและบริการของตัวเองอย่างอินเทอร์เน็ตและค่าโทรที่ผูกเป็นสัญญาแทน”

Advertisement

“ส่วนตัวมองว่าการสร้างมูลค่าผ่านสินค้าและบริการใน เบอร์มงคล เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเบอร์ของลูกค้าเพราะหากไปซื้อเบอร์มงคลผ่านพ่อค้า ลูกค้าก็จะไม่สามารถได้รับแพคเกจอินเทอร์เน็ตและระยะเวลาการโทรได้เลย”

ปัจจุบัน AIS มีกลุ่มเบอร์มงคลราว 1.2 ล้านเบอร์ โดยมี 2 แสนเบอร์เป็นการย้ายค่ายมาจากผู้ให้บริการเดิม ส่วนผู้ใช้ใหม่ที่เป็นกลุ่มเบอร์สวยและเบอร์มงคล ราว 30,000 หมายเลขต่อเดือน

หัวหน้าแผนกงานการตลาดด้านผลิตภัณฑ์และลูกค้าโพสต์เพด AIS มองว่า AIS ไม่ได้ทำให้เกิดการส่งเสริมความงมงาย เพราะบริษัทไม่ได้ทำการตลาดด้วยการการันตีว่าจะรวยขึ้น หรือ ใช้แล้วจะหายมะเร็ง แต่เป็นการสนับสนุนการใช้ชีวิตผ่านความเชื่อของแต่ละคน ซึ่งพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบันเบอร์มงคลเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันมากกว่าแค่การติดต่อสื่อสาร เช่น อุปกรณ์ไอโอที หรือแม้กระทั่งแท็บเล็ตของบุตรหลานที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตเซลลูลาร์

สำหรับในกลุ่มเบอร์มงคลที่เป็นหมายเลขมงคลตามความเชื่อบางเบอร์มูลค่าสูงถึงหลักล้านบาท โดย AIS มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจและเสริมสร้างความเชื่อของลูกค้าการส่งเสริมเบอร์มงคลในลำดับรองลงมาซึ่ง เบอร์ตระกูลกวนอู 639 นับเป็นเบอร์มงคลยอดนิยมในลำดับที่สาม ซึ่งในตระกูลนี้ AIS นับรวมทั้ง 936 , 369 และ 963 ที่สลับตำแหน่งด้วย ซึ่งถูกปล่อยลงในตลาดไปแล้วเรา 20,000 เบอร์เพื่อวัดผลตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

คณาธิป ธีรทีป ระบุว่า กลุ่มเป้าหมาย (Target) วันนี้ไม่ใช่กลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงานแต่กลับกลายเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่อายุเฉลี่ยน้อยกว่า 30 ปี โดยการทำการตลาดในครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักศึกษามากยิ่งขึ้น ซึ่งในทางการตลาดเมื่อผูกเรื่องของความเชื่อเข้าไปจะทำให้ลูกค้าใช้งานได้ยืนยาวมากยิ่งขึ้นเพราะเขารู้สึกผูกพันและทำให้ส่งเสริมความเชื่อส่วนตัวของเขา

True มองภาพใหญ่ เจาะกลุ่มองค์กร ใช้แคมเปญ “เบอร์มงคลยกบริษัท

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา True Business เปิดให้นิติบุคคล ซื้อกว่าแสนเลขหมาย เลือกเลขตามอาชีพ-ธุรกิจ ภายใต้แคมเปญ “เบอร์มงคลยกบริษัท” โดย นายริเรน ฮาว หัวหน้าสายงานการพาณิชย์ พันธมิตรเชิงกลยุทธ์และเทเลคอม-เทค บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น บอกว่า กลุ่มเป้าหมายในการทำโครงการเบอร์มงคลเสริมธุรกิจและสายงานด้วยศาสตร์แห่งตัวเลข คือกลุ่มองค์กรธุรกิจ-โรงแรม-โรงพยาบาล , ธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs , เจ้าของกิจการ และ พ่อค้า-แม่ค้า e-commerce นับเป็นครั้งแรกของลูกค้าองค์กรที่จะได้มีสิทธิ์สิทธิ์เบอร์มงคลในระดับองค์กร โดยไม่มีค่าซื้อเบอร์มงคล

“จากข้อมูล เราพบว่ามีความต้องการ เบอร์มงคล จำนวนมากจากลูกค้ากลุ่มธุรกิจ ซึ่งในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องการสร้างการเข้าถึงและบริการที่มากกว่าแค่การสื่อสาร ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่อใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้ลูกค้าของบริษัทสามารถสร้างรายได้และต่อยอดบนความเชื่อของตนเองได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจาก feedback ที่ได้ออกไปหาลูกค้าโดยตรงและเราเองก็ได้ข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาเพื่อที่จะพัฒนาธุรกิจของเราและบริการให้ดีมากยิ่งขึ้น”

Advertisement