Connect with us

ข่าว

สรุปภาพรวม สื่อไทย ปี 2567: ปีแห่งความยากลำบาก พิษเศรษฐกิจซบเซา-พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป

Published

on

วิกฤตสื่อไทย 2567

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2567 ระบุว่า ปีนี้ นับเป็นปีที่สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายรอบด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อรายได้และเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันไปหาแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น สื่อหลายสำนักต้องปรับตัวขนานใหญ่ ทั้งลดต้นทุน ปรับโครงสร้างองค์กร ไปจนถึงการเลิกจ้างพนักงาน

ปัญหาสิทธิเสรีภาพสื่อ

ตลอดปี 2567 มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น กรณีตำรวจจับกุมผู้สื่อข่าวประชาไทจากการรายงานข่าวกลุ่มทะลุวัง , กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (Prawit Wongsuwan) มีท่าทีฉุนเฉียวและใช้มือผลักศีรษะผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รวมถึงกรณี ส.ส. พรรคเพื่อไทยกดดันให้ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ถอดรายการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นการคุกคามสื่อและส่งผลต่อการทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา

จากทั้ง 3 เหตุการณ์ข้างต้น ย่อมมีผลต่อการลดทอนคุณภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนลงได้ เป็นที่มาของการที่สื่อมวลชนต้องเซ็นเชอร์ตนเอง จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมบางกรณี โดยผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อมวลชนจึงมีความจำเป็นต้องการรายงานข้อมูลข่าวสารไปตามสถานการณ์เบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ และเพื่อเป็นการป้องกันการเผชิญหน้ากับการโจมตีจากกลุ่มผลประโยชน์หรือผลกระทบทางกฎหมาย หรือเพื่อป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามมา

ปัญหาเศรษฐกิจสื่อ

สื่อสิ่งพิมพ์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะที่สื่อโทรทัศน์ประสบปัญหาขาดทุนจากรายได้โฆษณาที่ลดลง สื่อหลายสำนักต้องพึ่งพารายได้จากภาครัฐและกลุ่มทุน ส่งผลให้สื่อมวลชนเกิดความเกรงใจอันเนื่องมาจากความจำเป็นในการพึ่งพางบประมาณค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน จนไม่สามารถตรวจสอบ  วิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะหรือกลุ่มทุนภาคธุรกิจที่ให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่

ตลอดปี 2567 มีสื่อหลายแห่งที่ต้องปรับโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะสื่อทีวีที่มีปัญหาการขาดทุนสะสม เช่น กรณีสถานีโทรทัศน์ออนไลน์ Voice TV  ปิดตัวลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 หลังจากดำเนินกิจการมากว่า 15 ปี  พนักงานกว่า 200 คนต้องถูกเลิกจ้าง , สถานีโทรทัศน์ Mono29 ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 100 คน , เครือเนชั่น ออกมาตรการพักการจ่ายเงินเดือน 10% ให้แก่พนักงานที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปเป็นเวลา 6 เดือน และในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ช่อง 3 ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เลิกจ้างพนักงานเกือบ 300 คน  

Advertisement

ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเปิดโครงการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ นอกจากนี้ ยังมีสื่อทีวีหลายช่องและองค์กรสื่อมวลชนหลายสำนักที่มีการปรับโครงสร้างด้วยการเลิกจ้างพนักงาน หรือพักการจ่ายเงินเดือนบางส่วน 

สื่อออนไลน์กับการแข่งขันที่สูงขึ้น

การแข่งขันในโลกออนไลน์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้สื่อมุ่งเน้นการนำเสนอเนื้อหาที่ดึงดูดความนิยม เพื่อสร้างเรตติ้งและยอดวิว มากกว่าการให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูลข่าวสาร

ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ได้ฟรี ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิมมียอดขายลดลง และสื่อออนไลน์เองก็ประสบปัญหาในการหารายได้ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่นิยมสมัครสมาชิก

Advertisement

ขณะที่ภาคธุรกิจหันไปลงโฆษณาบนแพลตฟอร์มอย่าง Google และ Facebook มากกว่า ส่งผลกระทบต่อรายได้ของสื่อและความสามารถในการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ

สื่อไทยในอนาคต

ปี 2567 จึงเป็นปีที่สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความไม่แน่นอน และความท้าทายมากมาย สื่อจำเป็นต้องปรับตัว พัฒนาโมเดลธุรกิจ และสร้างความแตกต่าง เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว และเพื่อทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของสังคมต่อไป