ข่าว
อย. เผยความคืบหน้าการขออนุญาต วัคซีนโควิด-19 พบ Pfizer ยังไม่ได้เข้ามาขออนุญาต

เผยความคืบหน้าพิจารณาอนุญาตวัคซีนโควิด-19 โดยอนุมัติไปแล้ว 3 ราย อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน 1 ราย และอยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารประเมินคำขออีก 2 ราย
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาอนุญาตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 3 ราย ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด , วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้า โดยองค์การเภสัชกรรม รวมถึงวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด และอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน 1 ราย คือ วัคซีนโมเดิร์นนา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ราย อยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารพร้อมประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง ได้แก่ วัคซีนโควัคซีน โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และ วัคซีนสปุตนิค V โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด
ทั้งนี้ อย. มีความพร้อมในการพิจารณาอนุมัติวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้มีวัคซีนใช้โดยเร็วและเพียงพอ ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ทุกรายการที่มายื่นขอขึ้นทะเบียน อย. จะพิจารณาทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล โดยจัดให้มีช่องทางพิเศษเพื่อรองรับการพิจารณาโดยเร็ว แต่ยังคงมาตรฐานสากล โดยใช้เวลาพิจารณาประมาณ 30 วัน หลังจากยื่นเอกสารครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเปิดเผยดังกล่าว ไม่มีการพูดถึง วัคซีนของไฟเซอร์(Pfizer) แต่อย่างใด ทั้งนี้ ไฟเซอร์มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย โดยใช้ชื่อ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งวัคซีนต่าง ๆ ที่จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย จำเป็นต้องผ่านการรับรองจาก อย. และมีตัวแทนในประเทศที่จะเข้ามายื่นเอกสารและคำขอประเมินขิ้นทะเบียน
โดยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 64 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ภาคเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เข้ามาในประเทศ ต้องมายื่นเป็นผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรก่อน และยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของตน เนื่องจากผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่ตนนำเข้ามา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดประชุมชี้แจงขั้นตอนการนำเข้า การขึ้นทะเบียน การกระจาย และการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 โดยมีผู้แทนจากภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกลุ่มตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน เข้าร่วมประชุม
สำหรับระยะเวลาในการพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ไม่ล่าช้าแต่อย่างใด ซึ่ง อย. ได้เปิดช่องทางพิเศษพร้อมอำนวยสะดวกในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในทุกเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม หากผู้รับอนุญาตส่งเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนดจะใช้เวลาในการประเมินและพิจารณาอนุญาตประมาณ 30 วัน ซึ่งวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดของโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) จึงต้องมีระบบการกำกับติดตามความปลอดภัยจากการใช้วัคซีน และจะต้องดำเนินการฉีดในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่กรมควบคุมโรคกำหนด